คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
หลังจากได้ฟังการตอบคำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีรัฐบาลจะให้กระทรวงพลังงานเดินหน้าสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ทั้งๆ ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติได้ลงมติไม่เห็นด้วยต่อผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการพลังงาน (เสียงข้างมาก) ที่ต้องการเสนอให้กระทรวงพลังงาน เปิดสัมปทานรอบใหม่ ทำให้ผมนึกถึงบทสนทนาระหว่างขงจื๊อ นักคิดคนสำคัญของโลก กับนักปกครองคนหนึ่ง
ก่อนจะพูดถึงเรื่องสัมปทานปิโตรเลียม เรามาฟังการสนทนาที่มีคุณค่ายิ่งในเชิงรัฐศาสตร์กันก่อนนะครับ (ถ่ายทอดโดย “เสลา” ในเว็บไซต์ arunsawat.com อ้างถึงหนังสือ “นิทานปรัชญาเต๋า” ของเสฐียรพงษ์ วรรณปก)
“จะปกครองรัฐอย่างไรจึงจะดี” นักปกครอง (จื๊อกุง) ถาม
“จงปกครองให้ประชาชนมีอาหารบริโภคอุดมสมบูรณ์ ให้ประเทศชาติมีกองทัพเข้มแข็ง และให้ประชาชนมีความเชื่อถือในรัฐบาล” ขงจื๊อ ตอบ
จื๊อกุง : “ถ้าหากจำเป็นจะต้องตัดออกสักข้อหนึ่ง ควรตัดข้อไหนออก”
ขงจื๊อ : “ตัดกองทัพออก”
จื๊อกุง : “ถ้าจำเป็นต้องตัดอีกหนึ่งข้อ จะตัดข้อใดก่อน”
ขงจื๊อ : “ควรตัดอาหารออก เพราะนับแต่โบราณกาลมาแล้ว มนุษย์เรามีความตายเป็นธรรมดาทุกคน แม้ประชาชนจะต้องอดอยากบ้าง แต่ก็ยังดีกว่ามีรัฐบาลอันประชาชนเขาไม่นิยมนับถือประเทศที่มีรัฐบาลอย่างนี้จักตั้งมั่นได้อย่างไร”
จื๊อกุง ซักต่อไปว่า “หมายความว่า รัฐบาลไม่มีคุณธรรม ประชาชนเขาหมดศรัทธา ร้ายแรงยิ่งกว่าเรื่องปากท้องหรือ”
ขงจื๊อตอบว่า “ถูกต้อง บัณฑิตย่อมเห็นแก่คุณธรรมยิ่งกว่าจะเห็นแก่ปากท้อง” หลังจากได้ฟังคำสัมภาษณ์ของท่านนายกรัฐมนตรีดังกล่าวพร้อมกับฟังรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ที่พูดในทำนองว่า “ข้อมูลไม่ถูกต้อง” แม้ไม่ได้ระบุว่า เป็นข้อมูลของกระทรวงพลังงาน หรือข้อมูลของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยต่อคณะกรรมาธิการฯ ทำให้ผมเชื่อว่า รัฐบาลชุดนี้ได้มาถึงจุดที่ประชาชนหมดศรัทธา (ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดตามทัศนะของขงจื๊อ) เร็วกว่าที่ผมเคยคิดไว้มาก
ตามที่ผมได้ตั้งชื่อบทความนี้ว่า สัมปทานปิโตรเลียมไทย…ต้องเข้าใจปัญหาใน 2 ระดับสำคัญ นั่นคือ ระดับความหมายของคำว่า “สัมปทาน” ซึ่งเป็นเรื่องของ “กรรมสิทธิ์ หรืออำนาจหรืออธิปไตย” กับระดับข้อมูลข้อเท็จจริงซึ่งเป็นรายละเอียดที่ทำให้ประเทศได้รับผลประโยชน์ในเชิงตัวเงินมากขึ้นหรือลดลงบ้าง แต่ก็ไม่มีความสำคัญเท่ากับระดับแรกคือ “อธิปไตยของชาติ”
ซึ่งคำว่า “อธิปไตยของชาติ” เป็นสิ่งที่ผู้รักชาติ รักประชาธิปไตยทุกคนต้องหวงแหนมากที่สุด ไม่เพียงแต่ผู้ที่เป็นทหารเท่านั้นที่ต้องช่วยกันรักษา แต่หมายรวมถึงคนไทยทุกคน
แต่เพื่อให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น ผมจะขอเริ่มต้นด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงก่อน แล้วค่อยตามด้วยความหมายของคำซึ่งคนไทยได้ถูกหลอกมานานแล้วตั้งแต่การให้ประทานบัตร (มีความหมายเดียวกับคำว่าสัมปทาน) แร่ดีบุกเมื่อกว่า 40 ปีก่อน ที่เราถูกกลุ่มทุนต่างชาติได้ขุดแร่ดีบุก (ซึ่งมีราคาถูก) แต่มีแร่แทนทาลัม (ซึ่งมีราคาแพง) ติดปนไปด้วย กว่าที่คนไทยจะรู้ตัวแร่ดีบุกก็หมดประเทศแล้ว
ถ้าพิสูจน์ได้ว่าข้อมูลของผม “ไม่ถูกต้อง” โดยจงใจ ผมยินดีเข้าคุกเข้าตะรางครับ ผมจะขอลำดับข้อมูลเป็นข้อๆ เพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจ บางข้ออาจไม่ใช่เรื่องใหญ่มากนัก แต่ก็สะท้อนถึงความน่าเชื่อถือของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องที่ทำให้ประชาชนหมดศรัทธาดังต่อไปนี้
ข้อที่ 1.การผลิตปิโตรเลียมเพื่อตอบสนองการใช้ภายในประเทศจริงหรือ?
เรื่องนี้ท่านนายกฯ ก็พูดในการตอบคำถามครั้งล่าสุด (ศุกร์ 16 มกราคม) ว่า ถ้าไม่เปิดสัมปทานครั้งนี้น้ำมันจะหมดภายใน 6 ปี (ท่านคงหมายถึงปิโตรเลียมมั้ง ซึ่งหมายถึงก๊าซธรรมชาติด้วยไม่ใช่น้ำมันอย่างเดียว) จากนั้นประเทศจะเอาน้ำมันที่ไหนใช้
เรื่องนี้ผมขอแบ่งออกเป็น 3 ข้อย่อย ดังนี้
(1) เรื่องเกรงว่าจะไม่มีน้ำมันใช้
จากการเปรียบราคาน้ำมันดิบที่ปากหลุมของแหล่งเบญจมาศ (อยู่ในอ่าวไทย ติดเขตพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา สัมปทานโดยบริษัทเชฟรอนและพวก) กับราคาน้ำมันดิบในตลาด Brent (ซึ่งเป็นตลาดที่มีราคาแพงกว่าตลาด WTI ถึง $10-20 ต่อบาร์เรล ในปี 2556 และประมาณ $4-14 ต่อบาร์เรล ในปี 2557 และแพงกว่าตลาดดูไบ (DME) ประมาณ $4-5)
ในช่วงเดือนมกราคม 2555 ถึงพฤศจิกายน 2557 (23 เดือน) พบว่า ราคาเฉลี่ยที่ปากหลุมดังกล่าวสูงกว่าราคาที่ตลาด Brent ซึ่งเป็นราคาสูงที่สุดในโลกแล้วเท่ากับ 1.42 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล นั่นหมายถึงว่า ราคาที่เราผลิตในประเทศของเราเองแพงกว่าราคา WTI กว่า 10 เหรียญ และแพงกว่าตลาดดูไบ 5-6 เหรียญโดยประมาณ ผมขอเสนอด้วยกราฟเป็นหลักฐาน ท่านผู้อ่านที่รีบร้อนก็ข้ามไปเลยโดยไม่สูญเสียความเข้าใจ
กราฟข้างล่างนี้เป็นการเปรียบเทียบราคาของแหล่งเบญจมาศ กับราคา WTI (หรือเทกซัสตะวันตก) จากกราฟเราสามารถประมาณด้วยสายตาได้ว่า ในช่วงกรกฎาคม 2556 ถึงตุลาคม 2557 ราคาปิโตรเลียมที่ปากหลุมของแหล่งเบญจมาศ มีราคาสูงกว่าราคาที่ WTI ประมาณ $10 ต่อบาร์เรล
เมื่อเป็นเช่นนี้ เด็กอนุบาลก็คิดได้ว่า เราควรจะทำอย่างไรดีกว่ากัน ถ้าไม่ต้องเปิดสัมปทานรอบใหม่
อนึ่ง ต้องเรียนว่าทั้งราคาน้ำมันดิบ และราคาก๊าซธรรมชาติของไทยในแต่ละแหล่งก็มีราคาไม่เท่ากัน ทั้งๆ ที่ราคาก๊าซธรรมชาติคิดเป็นหน่วยความร้อนที่เท่ากัน นอกจากนี้ ผู้ค้าน้ำมันดิบก็ไม่เคยเปิดเผยข้อมูลว่า ตนสั่งน้ำมันดิบมาจากแหล่งใด ในราคาเท่าใด เป็นต้น
(2) เหตุผลที่ไม่น่าเชื่อถือในเรื่องการส่งออกน้ำมันดิบไทย
ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ กับพวกได้ตอบข้อสงสัยของประชาชนว่า ทั้งๆ ที่น้ำมันดิบผลิตได้ในประเทศไทยไม่พอใช้ จนต้องมีการนำเข้าเป็นจำนวนมาก แล้วทำไมต้องส่งออกน้ำมันดิบไปต่างประเทศด้วยเล่า? ทำไมไม่นำมาใช้เอง
คำตอบที่ได้รับก็คือ โรงกลั่นในประเทศไทยไม่เหมาะสำหรับกลั่นน้ำมันดิบในประเทศไทยซึ่งมีสารปรอทสูง จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า ในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงอย่างมาก และรวดเร็วพบว่า ปริมาณการส่งออกลดลงอย่างชัดเจน ทั้งๆ ที่ปริมาณการผลิตเกือบจะเท่าเดิม ในช่วงหลังกลางปี 2557 แทบไม่มีการส่งออกเลย (ดูกราฟประกอบ) หรือว่ามีการปรับปรุงโรงกลั่น หรือว่าขายให้คนไทยใช้ในเมืองไทยได้ราคาสูงกว่า เพราะเป็นระบบผูกขาด ทั้งต้นน้ำ และกลางน้ำ
นอกจากนี้ ในปี 2549 แหล่งเบญจมาศ ได้ส่งออกน้ำมันที่ตนผลิตได้ไปต่างประเทศทั้ง 100% รวม 18.4 ล้านบาร์เรล คิดเป็นมูลค่า 4.4 หมื่นล้านบาท ในราคาเฉลี่ย $73.4 ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาตลาด Brent ประมาณ $68 ต่อบาร์เรล (ประเมินด้วยสายตาจากกราฟ)
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ในปีเดียวกัน พบว่า มีการส่งออกน้ำมันดิบทั้งหมดมีมูลค่าถึงกว่า 6 หมื่นล้านบาท (ดูหลักฐานประกอบ)
โดยปกติ น้ำมันดิบจากหลายแหล่งมีทั้งการส่งออก และกลั่นในประเทศไทยเราเอง ถ้ามีปัญหาเรื่องสารปรอทสูงจริงแล้วจะแบ่งน้ำดิบอย่างไร เพื่อเอาส่วนที่ไม่มีสารปรอทไปกลั่นในเมืองไทย ที่มีสารจะได้ส่งออก
(3) ราคาก๊าซธรรมชาติไทยเปลี่ยนตามราคาน้ำมันดิบแค่ไหน?
ตามที่ทราบกันแล้วว่า ราคาน้ำมันสำเร็จรูปของไทยมีกลไกทางการบริหารมาทำให้ราคาไม่สัมพันธ์กับราคาน้ำมันในตลาดโลก ราคาน้ำมันโลกลดลงอย่างหัวทิ่ม แต่ราคาหน้าปั๊มไทยลดลงเล็กน้อย เพราะรัฐบาลเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน และเก็บภาษีเพิ่มขึ้น
คำถามที่คล้ายคลึงกันกับกรณีน้ำมันก็คือ ราคาก๊าซธรรมชาติที่ปากหลุมผลิต ใครเป็นผู้กำหนดและกำหนดอย่างไร
กราฟข้างล่างนี้เป็นการเปรียบเทียบราคาระหว่างตลาด NYMEX (หรือ WTI) กับราคาปากหลุมของแหล่งปลาทอง
ข้อสังเกตก็คือว่า ในช่วงปลายปี 2008 ถึง 2009 ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงอย่างมาก (จาก 140 ลงมาถึง 40) ราคาก๊าซในสหรัฐฯ ก็ลดลง แต่ราคาก๊าซในประเทศไทยไม่ลดลงเลย แถมกลับมีการเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย จะว่าเป็นเพราะมีการผลิตจาก Shale Gas ซึ่งอยู่ในชั้นหินดินดาน ก็น่าจะไม่ใช่ เพราะขณะนั้นยังผลิตจาก Shale Gas ได้น้อยมาก
ในขณะที่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา นับจากต้นปี 2014 ราคาน้ำมันดิบก็ลดลง แต่ราคาก๊าซไทยก็ไม่ลดลง ยืนอยู่ที่ประมาณ 7 เหรียญต่อล้านบีทียู ในขณะที่สหรัฐอเมริกา ประมาณ 4 เหรียญ
นี่ยังไม่นับค่าผ่านท่ออีกต่างหากซึ่งได้มีการประกันผลตอบแทนการลงทุนไว้ที่ 18% ต่อปี
โดยสรุป สำหรับข้อที่ 1 ที่ว่า “การผลิตปิโตรเลียมเพื่อตอบสนองการใช้ภายในประเทศจริงหรือ?” นั้น พบว่าไม่ได้ตอบสนองผลประโยชน์ของคนไทยผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติอะไรเลย ยกเว้นเรื่องค่าภาคหลวง และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเพียงอย่างเดียวซึ่งจะกล่าวถึงในข้อที่ 2
หมายเหตุ จากบทความเรื่อง “ก๊าซลง ค่าไฟฟ้าลงตาม แต่สมดุลพลังงานจะช่วยสร้างเสถียรภาพในระยะยาว” (http://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=817&catid=32&Itemid=230) พบว่า ราคาก๊าซในอ่าวไทยที่ ปตท.ขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในเดือนกันยายน 2557 เท่ากับ 241.48 บาทต่อล้านบีทียู หรือ $7.46 ต่อล้านบีทียู (เป็นราคาที่ไม่รวมค่าการตลาด และไม่รวมค่าผ่านท่อ โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยน 32.36 บาท/$)ในขณะที่ ปตท.ซื้อมาจากปากหลุมแหล่งปลาทอง ในราคา $6.83/ล้านบีทียู
จากข้อมูลดังกล่าวพอประมาณได้ว่า ปตท.คิดกำไรจากเนื้อก๊าซ 2 ต่อ โดยที่ต่อแรก 9.2% สำหรับต่อที่สองคือ ค่าการตลาดซึ่งอยู่ในสูตร นอกจากนี้ ยังคิดค่าผ่านท่ออีก 21.99 บาท (หรือประมาณ 9% ของราคาเนื้อก๊าซ)
(2) สัมปทานปิโตรเลียมใหม่รัฐได้ผลประโยชน์ 72% ของผลกำไรจริงหรือ?
ข้อมูลที่ภาครัฐได้ให้แก่ประชาชนเสมอมาว่า แหล่งปิโตรเลียมของไทยมีขนาดเล็ก ขุดยาก ต้นทุนสูงเปรียบเสมือนมีลูกสาวไม่สวย จะเรียกสินสอดแพงๆ ไม่ได้ และรัฐได้ผลประโยชน์จากผลกำไรมากกว่าที่บริษัทรับสัมปทานได้รับ โดยเฉพาะที่จะเปิดรอบใหม่กระทรวงพลังงาน ได้แก้ไขรายละเอียดให้รัฐได้ผลประโยชน์สูงถึง 72% ของผลกำไรสุทธิ เป็นต้น
แต่ข้อมูลต่อไปนี้ซึ่งมาจากรายงานของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะชี้ว่า ข้อมูลที่รัฐบาลให้นั้นเป็นความจริงหรือไม่ อย่าเพิ่งกลัวตัวเลขในตารางครับ ผมได้เขียนวิธีการคำนวณไว้ครบถ้วนแล้ว
ก่อนจะอ่านต่อไปลองมาตอบคำถามเพื่อวัดความรู้สึกกันก่อนครับ มีธุรกิจใดบ้างที่ลงทุนในระดับแสนล้านบาท พอสิ้นปีก็จะมีกำไรสุทธิ (หลังจากหักทุกอย่างแล้ว) สูงถึง 78-117% ของเงินลงทุนกล่าวคือ ในปี 2556 บริษัทลงทุน 1.9 แสนล้านบาท ได้รับกำไรสุทธิถึง 1.5 แสนล้านบาท มีธุรกิจใดบ้างมีอัตราผลตอบแทนสูงขนาดนี้ ไม่ต้องรอหลายปี
เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ข้ออ้างที่ว่า “ขุดยาก ต้นทุนสูง” ก็ไม่เป็นความจริง สอบตกไปข้อหนึ่งแล้วนะครับ
นอกจากนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า การลงทุนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี กล่าวคือเพิ่มมากกว่าการเพิ่มของมูลค่าปิโตรเลียมเสียอีก นั่นคือในช่วง 3 ปีอัตราการลงทุนเพิ่มขึ้น 34% แต่มูลค่าปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น 26% ทั้งๆ ที่การลงทุนควรจะมีต้นทุนคงที่ เช่น แท่นเจาะที่ต้องสร้างเพื่อการใช้งานหลายปี เป็นต้น
สำหรับผลตอบแทนที่รัฐได้รับเมื่อเทียบกับบริษัทรับสัมปทาน พบว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อยู่ในอัตราที่สูสีครับ คือมีสัดส่วน 49 ต่อ 51 แบบสลับกันคนละปี โดยที่ในปี 2556 รัฐเพิ่งมาได้ในสัดส่วนรัฐต่อบริษัทเท่ากับ 55 ต่อ 45
คำถามก็คือ หลังจากกระทรวงพลังงานได้ปรับปรุงระเบียบเพื่อให้รัฐได้ผลประโยชน์มากขึ้นเป็น 72% ที่เรียกว่า Thailand 3+ นั้น มันจะเป็นไปได้อย่างไรเพราะมีการปรับปรุงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งคิดเป็นตังเงินก็ประมาณ 200 ล้านบาทเท่านั้น
อย่าลืมว่า วงเงินที่ปรากฏในตารารางนั้นสูงถึงระดับแสนล้านบาท ดังนั้น การได้เงินเพิ่มมาระดับ 200 ล้านบาทนั้นมันไม่ทำให้สัดส่วนผลตอบแทนเพิ่มจาก 55% เป็น 72% ขึ้นมาได้หรอก
นี่คือ การหลอกลวงให้คนหลงเชื่อเท่านั้นเอง
อีกตัวอย่างที่คนไทยขำไม่ออก ก็คือกระทรวงพลังงานได้แก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม 2514 ว่าด้วยผลตอบแทนพิเศษจะอยู่ระหว่างร้อยละ 0 ถึง 75 ซึ่งได้ประกาศใช้มาแล้วตั้งแต่ปี 2532
แต่ในความเป็นจริง ผลตอบแทนพิเศษซึ่งมีวงเงิน 3 พันกว่าล้านบาท แต่คิดเป็นมูลค่าประมาณ 0.5 ของมูลค่าปิโตรเลียมเท่านั้น มาคราวนี้จะเอา 72%
ผมเข้าใจว่า บางท่านในสภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอให้ชะลอการสัมปทานไว้ก่อน โดยปรับปรุงพระราชบัญญัติ ซึ่งสหรัฐอเมริกาก็เคยเพิ่มค่าภาคหลวง หรือเปลี่ยนไปใช้ระบบการแบ่งปันผลผลิต
อีกทางหนึ่งซึ่งผมได้ตั้งคำถามมานานแล้วว่า พระราชบัญญัติระบุว่า “ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 แต่ไม่เกินร้อยละ 60” แต่กระทรวงการคลังก็เก็บแค่ 50% มาตลอด ทั้งๆ ที่ราคาน้ำมันเคยขึ้นไปสูงมาก
บทความคราวนี้ค่อนข้างยาวมาก ผมขออนุญาตยกเรื่องความหมายของคำว่า “สัมปทาน” ไว้ในคราวต่อไปครับ
อย่างไรก็ตาม ผมขอย้ำอีกครั้งว่า การตัดสินใจเดินหน้าเปิดสัมปทานรอบใหม่ ทั้งๆ ที่สภาปฏิรูปคัดค้านแล้วนั้น ได้ทำให้ศรัทธาของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลได้หมดลงเร็วกว่าที่ผมคิดเยอะเลยครับ
โปรดติดตามตอนต่อไป รวมทั้งเรื่องอนาคตของรัฐบาลชุดนี้ด้วย