xs
xsm
sm
md
lg

จีนมอบรางวัล “ขงจื๊อ” ปี 2014 ให้ “ฟิเดล คาสโตร” อดีตผู้นำคิวบา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อดีตประธานาธิบดี ฟิเดล คาสโตร แห่งคิวบา
เอเอฟพี - จีนมอบรางวัลสันติภาพขงจื๊อ (Confucius Peace Prize) ประจำปี 2014 ให้แก่ “ฟิเดล คาสโตร” อดีตประธานาธิบดีแห่งคิวบา เพื่อประกาศเกียรติคุณอดีตผู้นำรัฐคอมมิวนิสต์ในฐานะที่เป็นบุคคลผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสันติภาพของโลก

หนังสือพิมพ์โกลบัลไทม์สซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลจีน รายงานว่า ในปีนี้มีผู้ได้รับการเสนอเข้ารับรางวัลขงจื๊อซึ่งเทียบได้กับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพของจีนกว่า 20 คน รวมถึงประธานาธิบดีพัค กึน-ฮเย แห่งเกาหลีใต้, เลขาธิการสหประชาติ บัน คีมูน และองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation)

คณะผู้ตัดสินซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการรวม 16 คนได้มีมติ 9 ต่อ 7 เสียงมอบรางวัลสันติภาพประจำปีนี้ให้แก่คาสโตร ซึ่งเป็นผู้นำการปฏิวัติคิวบามาสู่ระบอบสังคมนิยม

รางวัลขงจื๊อริเริ่มขึ้นในปี 2010 โดยมีการประกาศรางวัลอย่างกะทันหันเพียง 2 วันก่อนที่ หลิว เสี่ยวโป นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่ถูกทางการจีนคุมขัง จะได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีนั้น ด้วยเหตุนี้รางวัลขงจื๊อจึงถูกมองว่าอยู่ภายใต้การชี้นำของรัฐบาลจีน

นักศึกษาแลกเปลี่ยนชาวคิวบาเป็นผู้แทนขึ้นรับรางวัลในนามของ คาสโตร เมื่อวันอังคาร (9) หรือเพียง 1 วันก่อนที่ มาลาลา ยูซาฟไซ และ ไกลาส สัตยาร์ธี จะขึ้นรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่กรุงออสโล

“ขณะดำรงตำแหน่งผู้นำคิวบา อดีตประธานาธิบดีคาสโตรมิได้เลือกใช้ความรุนแรงหรือกำลังในการสยบข้อพิพาทระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ” โกลบัลไทม์ส ระบุ

“แม้เกษียณอายุแล้ว ท่านก็ยังเปิดโอกาสให้ผู้นำประเทศและองค์กรต่างๆ จากทั่วโลกได้เข้าพบ และมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้ทุกฝ่ายยุติสงครามนิวเคลียร์”

หลังจากสละเก้าอี้ประธานาธิบดีในปี 2006 ด้วยปัญหาสุขภาพ ปัจจุบัน คาสโตร ในวัย 88 ปี ใช้เวลาว่างเขียนหนังสือและบทความเพื่อตีพิมพ์ลงในวารสารของรัฐบาลคิวบา โดยส่งมอบหน้าที่บริหารประเทศให้แก่ ราอูล คาสโตร ผู้เป็นน้องชาย

บุคคลแรกที่ได้รับรางวัลขงจื๊อในปี 2010 คือ อดีตรองประธานาธิบดี เหลียน ชาน แห่งไต้หวัน ซึ่งได้รับยกย่องว่ามีส่วนสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างไต้หวันกับปักกิ่ง ทว่าเจ้าตัวกลับไม่ได้เดินทางไปรับรางวัล แถมยังปฏิเสธว่าไม่เคยรับรู้มาก่อนว่าตนได้รับรางวัลนี้

แม้คณะกรรมการรางวัลจะปฏิเสธว่ารัฐบาลจีนไม่มีส่วนในการคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม แต่ หลิว เฮาเฟิง (Liu Haofeng) ประธานบริหารรางวัลขงจื๊อ กลับให้สัมภาษณ์ต่อเอเอฟพีภายหลังว่า รางวัลนี้ก่อตั้งขึ้นโดยสมาคมที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวัฒนธรรมจีน

ต่อมาในปี 2011 กระทรวงวัฒนธรรมจีนได้สั่งให้ยุบคณะกรรมการแจกรางวัลสันติภาพขงจื๊อ โดยระบุว่ามีการนำชื่อกระทรวงไปแอบอ้างอย่างไม่เหมาะสม แต่ต่อมาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นในฮ่องกง ซึ่งได้มอบรางวัลปีที่ 2 ให้แก่ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย

โคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ และ หยวน หลงปิง (Yuan Longping) นักวิทยาศาสตร์ด้านการเกษตรชาวจีน ได้รับรางวัลสันติภาพขงจื๊อร่วมกันในปี 2012 ส่วนปีที่แล้วรางวัลนี้ตกเป็นของ อี้ เจิง (Yi Cheng) อาจารย์ในพุทธศาสนานิกายเซน ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ของสมาคมชาวพุทธในจีน


กำลังโหลดความคิดเห็น