xs
xsm
sm
md
lg

รักษาการอธิการ มวล. ยันต้องประกวดราคาสร้างศูนย์การแพทย์ใหม่ ชี้ที่ผ่านมาเสียหายแล้วกว่า 400 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ยืนยันต้องประกวดราคาก่อสร้างศูนย์การแพทย์ใหม่ทั้งหมด ระบุผลสอบความเสียหายมีมูลค่า 25 ล้านบาท และการเสียโอกาสของมหาวิทยาลัย 2 ปี อีกราว 400 ล้านบาท

วันนี้ (15 ม.ค.) ที่ จ.นครศรีธรรมราช รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วยคณะผู้บริหารรักษาการ ได้เปิดแถลงผลของการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และคณะกรรมการรวบรวมความเสียหายที่เกิดขึ้น ภายหลังจากมหาวิทยาลัยได้ยกเลิกสัญญาก่อสร้างศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มูลค่า 2,158 ล้านบาท ซึ่งได้ใช้เวลาเกือบ 2 เดือน จนผลการตรวจสอบแล้วเสร็จ และนำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว

ดร.สุเมธ แย้มนุ่น รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สรุปว่า ผลการสอบสวนความเสียหายนั้นได้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ ตัวเลขของการประเมินความเสียหายของอดีตคู่สัญญา และกรณีเกี่ยวเนื่องรวม 25 ล้านบาท มหาวิทยาลัยเสียโอกาสในช่วง 2 ปี ราว 300-400 ล้านบาท ส่วนคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงนั้นพบว่า มี 3 ส่วนเช่นเดียวกันคือ กฎระเบียบล้าสมัย การบริหารจัดการภายในที่ต้องจัดการ และล่าสุด เมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งแล้ว โดยที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยรับทราบ และได้เร่งในการจัดตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี โดยเมื่อมีคณะกรรมการครบถ้วนจะแล้วเสร็จใน 120 วัน

ในส่วนของโครงการนั้นอยู่ในระหว่างการจัดทำขั้นตอนต่างๆ เพื่อนำไปสู่การประกวดราคาครั้งใหม่ โดยเบื้องต้นนั้นพบว่า จากภาวะเศรษฐกิจทำให้หลายส่วนเกิดการปรับลดลง มีแนวโน้มว่าราคากลางที่จะมีการประกวดนั้นอาจจะปรับลดลงจากเดิมด้วย ซึ่งจะต้องดำเนินการประกวดราคาให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน หลังจากที่มีการกำหนดราคากลางแล้ว ขณะที่ปัญหาจากสัญญากับเอกชนผู้รับจ้างในรอบที่แล้วนั้น ทางเอกชนได้ยื่นฟ้องมหาวิทยาลัย ได้ตกเป็นจำเลยจะขอไม่ก้าวล่วง ส่วนการจัดการตรวจสอบบุคลากรภายในที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการดำเนินการแน่นอน

ขณะที่ นายประสิทธิชัย หนูนวล นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงหลายฝ่าย รวมทั้งคณะบริหารรักษาการ โดยระบุว่า ตามที่ปรากฏข่าวในสื่อสาธารณะเกี่ยวกับความผิดพลาดในกระบวนการจัดสร้างศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์กันอย่างกว้างขวาง อีกทั้งมีประชาชนจำนวนหนึ่งเข้ามาตั้งขบวนทักท้วงในมหาวิทยาลัย ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการสร้างศูนย์การแพทย์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เป็นบทสะท้อนที่สำคัญของความอ่อนแอในระบบมหาวิทยาลัยทุกระดับชั้น ตั้งแต่สภามหาวิทยาลัยจนกระทั่งถึงประชาคมทั้งหมดของมหาวิทยาลัย ไม่เว้นแม้กระทั่งสมาคมศิษย์เก่าที่ไม่ได้ถือเป็นหน่วยงานในมหาวิทยาลัย

จากปรากฏการณ์ดังกล่าว ระบบมหาวิทยาลัยทุกระดับชั้นตั้งแต่สภามหาวิทยาลัย จนกระทั่งประชาคมวลัยลักษณ์ ควรต้องตระหนักทั้งปัญหาศูนย์การแพทย์ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ และความอ่อนแอของระบบบริหารอันได้ชื่อว่าเป็นรากแห่งปัญหาที่ประการสำคัญประการหนึ่ง เพื่อที่จะได้เรียนรู้ในการก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่ผิดพลาดอีก เพราะคงไม่มีเวลาสำหรับความอ่อนแอในระบบบริหารอีกแล้ว ในสถาบันทางวิชาการที่อุดมไปด้วยคนเรียนจบปริญญาเอก และมีหน้าที่หลักในการผลิตพลเมืองที่ดีให้แก่ประเทศชาติ

1.สภามหาวิทยาลัยในฐานะหน่วยกำกับทิศทางไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบต่อความอ่อนแอนี้ โจทย์ของท่านผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายคือ จะทำอย่างไรหลังจากนี้ไม่ให้เกิดการผลิตซ้ำความอ่อนแอ และผิดพลาดเช่นนี้เกิดขึ้นอีกโดยเฉพาะการเกิดขึ้นของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยแต่ละชุด ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นกลุ่มบุคคลสำคัญที่ก่อความผิดพลาดขึ้น

2.บทบาทของสภามหาวิทยาลัยต่อการจัดการศูนย์การแพทย์ ซึ่งได้ตั้งกรรมการขึ้นอย่างน้อย 2 ชุด เพื่อศึกษาความผิดพลาดที่ผ่านมา ควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีกระบวนการเปิดเผยผลการศึกษานั้นต่อสาธารณะ รวมทั้ง roadmap ที่จะทำให้ศูนย์การแพทย์เกิดขึ้นให้ได้ และอย่าได้ทำให้ปัญหาศูนย์การแพทย์เป็นปัญหาใต้โต๊ะซึ่งจะก่อให้เกิดความผิดพลาด และยุ่งเหยิงตามมาเช่นที่เกิดขึ้นแล้ว ประเด็นนี้กลายเป็นประเด็นสาธารณะที่สภามหาวิทยาลัยไม่สามารถปฏิเสธได้ การเดินไปข้างหน้าจึงควรเคียงคู่กับการมีส่วนร่วมของสาธารณะ โดยเฉพาะประชาคมวลัยลักษณ์

3.การแต่งตั้งผู้บริหารชุดใหม่ในฐานะชุดรักษาการ มีคำถามว่า สภามหาวิทยาลัยใช้หลักคิดใดต่อการแต่งตั้งผู้บริหารชุดนี้ คำถามนี้มุ่งหมายเพื่อให้การแต่งตั้งชุดรักษาการไม่เกิดการผิดพลาดในการบริหารเช่นที่ผ่านมา และเหมาะสมต่อการเข้ามาคลี่คลายปัญหาเฉพาะหน้าในขณะนี้ ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนควรตระหนักว่ามหาวิทยาลัยไม่ใช่ที่สำหรับเล่นการเมืองเรื่องอำนาจ ไม่ใช่ที่สำหรับการผลัดเปลี่ยนบุคคลมาแสวงหาประโยชน์ มิเช่นนั้นเราจะไม่มีเวลาทุ่มเทต่อภารกิจหลักคือ การสร้างพลเมืองที่ดีให้แก่ประเทศชาติ

4.ผู้บริหารชุดรักษาการควรตระหนักว่า ภารกิจเบื้องแรกคือ การคลี่คลายปัญหาที่หมักหมมอยู่หลายประการโดยเฉพาะศูนย์การแพทย์ การเข้ามาบริหารของท่านอยู่ในภาวะที่ต้องทุ่มเท และสมาคมศิษย์เก่าขอเป็นกำลังใจแก่ผู้บริหารทุกท่านที่เสียสละทุ่มเทต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยในยามนี้ ทั้งนี้ ทุกฝ่ายต้องตระหนักว่า ภาระหน้าที่อันสำคัญนี้มีไว้เพื่อการคลี่คลายและพัฒนามหาวิทยาลัย ไม่ใช่การเข้ามาแสวงหาประโยชน์ต่อตนเอง และพวกพ้อง หรือการวางรากฐานเพื่อที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปจนจะกลายเป็นวิกฤตรอบใหม่

5.มหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันทางวิชาการ พึงมุ่งหน้าไปเพื่อตอบโจทย์การสร้างพลเมืองที่ดีให้แกห่ประเทศชาติ และการนำวิชาการมาร่วมพัฒนาสังคม บุคคลในมหาวิทยาลัยจึงมีเข็มมุ่งเช่นนี้ไม่ว่าจะอยู่ในหน้าที่ และบทบาทใดก็ตาม หากการบริหารมหาวิทยาลัยโดยคณะผู้บริหารไม่สามารถสร้างระบบเพื่อนำไปสู่การตอบโจทย์ที่สำคัญทั้ง 2 ประการได้แล้ว คงเป็นหน้าที่ของประชาคมวลัยลักษณ์ ประชาคมนครศรีธรรมราช ที่จะต้องเข้ามาร่วมกันแก้ไขให้ระบบมหาวิทยาลัยมีประสิทธิภาพที่จะมุ่งไปสู่การตอบโจทย์ของความเป็นสถาบันทางวิชาการได้ ขอเป็นกำลังใจแก่ผู้บริหารรักษาการให้ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง สุจริต ยึดถือประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง เพื่อเป็นกุศลแด่ตัวท่าน และประโยชน์สาธารณะสืบไป
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น