xs
xsm
sm
md
lg

เอาจริง! เครือข่ายปกป้องอันดามันฯ นัดล้อมทำเนียบ 30 ต.ค. ชุมนุมยืดเยื้อจนกว่านายกฯ สั่งเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน เตรียมชุมนุมล้อมทำเนียบรัฐบาล 30 ต.ค.นี้เพื่อเรียกร้องให้นายกฯ สั่งยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ หลังก่อนหน้านี้เคยเคลื่อนไหวมาแล้วหลายครั้งแต่ไม่เป็นผล (แฟ้มภาพ)
 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายปกป้องอันดามนจากถ่านหิน นัดเคลื่อนไหวใหญ่ล้อมทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องนายกฯ สั่งยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน และจัดทำแผน 3 ปี ให้กระบี่พิสูจน์ตัวเองเรื่องการทำพลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์ เผยที่ผ่านมา “ประยุทธ์” เสียสัตย์ ปล่อย กฟผ.เปิดประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขณะที่กรรมการ 3 ฝ่ายเบี่ยงเบนประเด็น หลังพบว่า กระบี่มีศักยภาพผลิตไฟฟ้าจากพลังหมุนเวียนได้ถึง 1,700 เมกะวัตต์ ไม่ต้องพึ่งถ่านหิน เผยเตรียมชุมนุมยืดเยื้อจนกว่าจะได้ตามข้อเรียกร้อง

วันนี้ (6 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุเหตุผลถึงการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ โดยการแสดงออกที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ โดยระบุว่า

เราใช้เวลานับเดือนเพื่อแบ็กแพกรณรงค์ปกป้อง 6 จังหวัดอันดามันจากถ่านหิน เราใช้เวลานับเดือนใน กทม.เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจต่อสื่อมวลชน ว่า มรดกอันดามันมีค่าเกินกว่าจะเอาโรงไฟฟ้าถ่านหินมาทำลาย เราอารยะขัดขืนด้วยการอดอาหารแลกชีวิตต่อการให้รัฐบาลยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน

1.เรารับทราบว่า ทั่วโลกทยอยปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน และห้ามเกิดโรงใหม่ทั้งอเมริกา ยุโรป เอเชีย

2.เราตระหนักว่า ทั่วโลกได้จัดการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นภัยคุกคามสำคัญของโลก

3.เรารับทราบว่า มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยทั่วโลกบ่งชี้ถึงมลพิษขั้นสำคัญของถ่านหิน

4.เรารับทราบว่า องค์กรการเงิน บริษัท และมหาวิทยาลัยหลายแห่งในโลกประกาศไม่สนับสนุนการลงทุนในกิจการถ่านหิน ในนามของผืนป่าแรมซ่าไซร์ ขอบฟ้า และทะเลอันดามัน เราจะปกป้องอันดามันด้วยชีวิต

รัฐบาลยอมรับเงื่อนไขตอนอดหารของเครือข่าย 3 ประการ คือ 1.ชะลออีไอเอ 2.ยุติการประมูล 3.ให้กระบี่พิสูจน์พลังงานหมุนเวียน 3 ปี ด้วยการสนับสนุนสายส่งของรัฐบาล

การประมูล กฟผ.ได้เสียสัตย์เปิดการประมูลไปแล้ว ส่วนข้อสำคัญคือ การพิสูจน์พลังงานหมุนเวียน 3 ปี อนุกรรมการพลังงานหมุนเวียนมีข้อสรุปร่วมกันว่า กระบี่มีศักยภาพประมาณ 1,700 เมกะวัตต์ ในขณะที่การใช้สูงสุดอยู่ที่ประมาณ 140 เมกะวัตต์

แต่กรรมการ 3 ฝ่ายไม่ได้สรุปแนวทางให้กระบี่เดินหน้าพลังงานหมุนเวียน 3 ปี ทั้งที่ศึกษาแล้วว่ามีศักยภาพเพียงพอ ในขณะที่ รมว.พลังงาน ประกาศตลอดเวลาว่า ต้องเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

กระบี่ มีรายได้จากการท่องเที่ยวปีละ 7 หมื่นล้านบาท ทั้งอันดามันราว 4 แสนล้านบาท ยังไม่นับรวมการเกษตร และการประมง เฉพาะกิจการท่องเที่ยวจ้างงานอยู่นับแสนคน เราไม่อาจสูญเสียแผ่นดินนี้จากความละโมบของพ่อค้าถ่านหิน

บริษัทถ่านหินใหญ่อันดับ 2 ของอเมริกาเพิ่งล้มละลาย แต่บริษัทไทยที่เกี่ยวข้องต่อกิจการถ่านหินนับ 10 บริษัท ที่ทรงอิทธิพล เมื่อทั้งโลกไม่รับถ่านหิน พ่อค้าเหล่านั้นจึงต้องหาทางระบายขายถ่านหินทำลายคนไทย ทุนเหล่านี้มีอำนาจเหนือการกำหนดนโยบายพลังงานของประเทศ

เมื่อศึกษาแล้วว่า กระบี่ มีศักยภาพผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 1,700 เมกะวัตต์ แต่เบี่ยงเบน ปฏิเสธที่จะจัดทำแผน 3 ปี ให้กระบี่เดินหน้าพิสูจน์ตัวเอง ซ้ำร้าย ประธานกรรมการ 3 ฝ่ายได้แสดงพฤติกรรมอันน่าสงสัยหลายประการตลอดระยะเวลาการทำหน้าที่ ประกอบกับ รมว.พลังงาน ประกาศเดินหน้าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินตลอดมา

สำคัญที่สุด ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศจะลดคาร์บอนต่อหน้าผู้นำทั้งโลก ประกาศจะใช้เศรษฐกิจพอเพียงจนเป็นที่รับทราบกันในระดับนานาชาติ นายกฯ คนนี้พูดอะไร การกระทำในประเทศจะตรงข้ามทั้งหมด การลงนามของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อคนกระบี่ จึงไร้ความหมาย พร้อมเสียสัตย์ต่อประชาชนตลอดเวลา

จึงมีแต่พลังของประชาชนเท่านั้นที่จะผดุงความยุติธรรม สร้างแนวทางการพัฒนาที่ไม่ตกภายใต้อำนาจของกลุ่มทุน ขอจงมาช่วยกัน ครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องของคนกระบี่ เป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ เพราะนี่คือการต่อต้านต่ออำนาจรัฐอันไม่ชอบธรรม หากกระทำต่อกิจการถ่านหินได้ รัฐบาลนี้สามารถสร้างความเสียหายให้ประเทศในประเด็นอื่นได้เช่นกัน ดังปรากฏให้เห็นอยู่ทุกวันในขณะนี้

ข้อเรียกร้องของเรา คือ ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน และจัดทำแผน 3 ปี ให้กระบี่พิสูจน์ตัวเองเรื่องการทำพลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์ อันนี้ไม่ใช่ข้อเรียกร้องใหม่ มันคือของเดิมที่รัฐบาลกำลังจะเสียสัตย์ต่อคนกระบี่ การล้อมทำเนียบจะยืดเยื้อจนกว่าจะได้ตามข้อเรียกร้อง และขอปฏิเสธการตั้งกรรมการอื่นใดโดยประการทั้งปวง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น