นครศรีธรรมราช - นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เรียกร้องเร่งแก้ไขปัญหาสัญญาก่อสร้างศูนย์การแพทย์เร่งด่วน ด้านผู้ว่าราชการจังหวัด อึ้ง หลังทราบข้อมูลรับไม่ใช่อำนาจโดยตรงแต่พร้อมเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหาหากได้รับการร้องขอ นักวิชาการวอน คกก.เศรษฐกิจ คสช.ลงสอบสวนทั้งระบบ เนื่องจากมีงบประมาณสูง และส่อผิดปกติตั้งแต่เริ่มประกวดราคา
ภายหลังจากความไม่ชอบมาพากลในโครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีมูลค่าถึง 2,165 ล้านบาท โดยมีบริษัทผู้รับเหมาเป็นบริษัทร่วมค้าแห่งหนึ่ง เป็นผู้เป็นชนะการประกวดราคา แต่เมื่อมีการทำสัญญา และเริ่มโครงการจนมีการทำหนังสือขอเบิกจ่ายเงินงวดแรกจากทางมหาวิทยาลัย ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบเอกสารรับรองประกอบจากสถาบันการเงิน ปรากฏว่า มีความผิดปกติทำให้เกิดปัญหาว่าการทำสัญญาว่าจ้างเป็นไปโดยชอบหรือไม่ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายระบุว่าสัญญาที่ถูกทำขึ้นนั้นอาจเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น เนื่องจากเอกสารประกอบนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอาจส่งผลกระทบต่อโครงการนี้ ขณะที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ยืนยันว่ายังไม่ได้มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของโครงการ เนื่องจากพบความผิดปกติของเอกสารก่อน ตามข่าวที่ได้เสนอไปตามลำดับ
ความคืบหน้า วันนี้ (27 มิ.ย.) นายประสิทธิชัย หนูนวล นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ แสดงความเห็น และเรียกร้องว่าผู้บริหารต้องรีบจัดการ ควรเริ่มต้นใหม่หรืออย่างไรก็แล้วแต่ โครงการศูนย์แพทย์ และโรงพยาบาลแห่งนี้ต้องเกิดขึ้นให้ได้ เพราะนี่คือความหวังของประชาชน และของทุกฝ่ายที่จะเป็นศูนย์บริการทางการแพทย์สำหรับประชาชนที่สำคัญที่สุดของภาคใต้ตอนบน
“ผมตั้งข้อสงสัยในระบบการตรวจสอบเอกสาร และกระบวนการว่ามีความหละหลวมมาก ทั้งๆ ที่เป็นโครงการสำคัญมีวงเงินสูงกว่า 2 พันล้านบาทเป็นระยะที่หนึ่ง จากงบทั้งหมดกว่า 5 พันล้านบาท ในส่วนนี้ผู้บริหารอาจต้องแสดงความรับผิดชอบในกระบวนการ และที่สำคัญหลังจากนี้ขอเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโครงการนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากโครงการนี้ส่ออาการตั้งแต่เริ่มก่อสร้างจึงทำให้ผู้ที่ติดตามไม่แน่ใจในความชอบมาพากล เช่น อาจต้องจัดกระบวนการตรวจสอบในรูปของประชาคมที่คอยติดตามอย่างใกล้ชิด”
นายประสิทธิชัย ยังระบุด้วยว่า คนนครศรีธรรมราชต้องร่วมกันตรวจสอบ ร่วมกันผลักดันโรงพยาบาล และศูนย์การแพทย์ที่เป็นความหวังความตั้งใจของชาวนครศรีธรรมราชให้เกิดขึ้นให้ได้ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องของการสกัดกั้นใครหรืออย่างไร แต่ศูนย์การแพทย์แห่งนี้ต้องเกิดขึ้นให้ได้และเกิดขึ้นอย่างดี เช่น ปรัชญาของศูนย์การแพทย์แห่งนี้ที่มีความก้าวหน้ามาก
ด้าน นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยอย่างตกตะลึงว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดเรื่องนี้เนื่องจากกระบวนการทั้งหมดเป็นอำนาจหน้าที่ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์โดยตรง ซึ่งรายละเอียดนั้นต้องไปติดตามดูผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร แต่ในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช นั้นพร้อมที่จะเข้าไปร่วมในการแก้ไขปัญหา และร่วมกันตรวจสอบเพื่อให้ได้ข้อยุติ
ขณะที่นักวิชาการรายหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ติดตามโครงการนี้มาโดยตลอด และประสงค์ที่จะสงวนนาม เปิดเผยว่า โครงการนี้มีความผิดพลาดเกิดขึ้นแล้วอย่างชัดเจน และเป็นความผิดพลาดในแง่ของกฎหมายที่มีกระบวนการไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น โดยเฉพาะเอกสารที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการทำสัญญา ซึ่งสถาบันการเงินได้ยืนยันกลับมาชัดเจนว่า เป็นเอกสารที่ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของสถาบันการเงิน ดังนั้น แม้ว่าทางบริษัทผู้รับเหมาะจะได้มาอย่างไรแบบใดก็ตามเอกสารในการทำสัญญาจึงไม่ชอบแล้ว และตามระเบียบพัสดุการประกวดราคา จัดซื้อจัดจ้าง และหลักเกณฑ์สำคัญการยื่นซองประกวดราคาจึงเท่ากับว่าเอกสารในการประกวดราคาและทำสัญญากับมหาวิทยาลัยมีไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ในทางกฎหมายสัญญานี้จึงส่อว่าจะเป็นโมฆะ
“หากมีการแก้ไขเพิ่มเติมเอกสารที่ต้องใช้ในการทำสัญญาภายหลังผู้ที่ดำเนินการอาจมีความเสี่ยงในประเด็นสมรู้ร่วมคิดกระทำการโดยมิชอบ แน่นอนว่าทุกคนรอความหวังให้ศูนย์แพทย์แห่งนี้เกิดขึ้นให้ได้ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นต้องแก้ไข เห็นว่าหลังจากนี้คณาจารย์ บุคลากร ศิษย์เก่า นักศึกษาควรที่จะเคลื่อนไหว และเรียกร้องให้มีการตรวจสอบทั้งระบบนับตั้งแต่การเริ่มประกวดราคา หลายคนรู้ดีว่าความผิดปกติเริ่มตั้งแต่ตอนนั้น จนกระทั่งมาแดงขึ้นหากมีการตั้งการสอบสวนขึ้นมาจะพบความผิดปกติ และถือเป็นความโชคดีที่เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบเอกสารอย่างละเอียด ทั้งยังไม่มีการเบิกจ่ายเงินออกไปความเสียหายจึงยังไม่เกิดขึ้น และถ้าเป็นไปได้ คกก.เศรษฐกิจ คสช.ควรรับเรื่องนี้ไปติดตามแก้ไขอาจพบว่าไปกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจะไปเชื่อมโยงกับการหาผลประโยชน์ของนักการเมืองบางคน” นักวิชาการรายนี้กล่าว