ระนอง - เส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าระนอง-จิตตะกอง มีแนวโน้มสดใส ภาคเอกชนทั้ง 2 ฝ่ายมั่นใจเส้นทางดังกล่าวสามารถร่นระยะเวลา ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งได้มากกว่าเส้นทาง กทม.-จิตตะกอง จังหวัดระนอง เตรียมผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป
Mr Jasim U. Ahmen ที่ปรึกษาด้านการค้า กระทรวงพาณิชย์บังคลาเทศ (จิตตะกอง) และนักธุรกิจทางด้านการขนส่งสินค้าทางเรือ ได้พบปะกับ นายไมตรี ไตรติลานันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่จังหวัดระนอง เพื่อหารือเรื่องสืบเนื่องจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนจังหวัดระนอง เดินทางไปเจรจาธุรกิจ และสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ภาครัฐ-เอกชน ที่เมืองเชนไน ประเทศอินเดีย และเมืองจิตตะกอง ประเทศบังกลาเทศ ในช่วงที่ผ่านมา
การเดินทางมาครั้งนี้เพื่อศึกษาลู่ทางในการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่าง กทม.-ท่าเรือจิตตะกอง เปรียบเทียบกับระนอง-จิตตะกอง เมื่อเปรียบเทียบแล้วทั้งระยะเวลา และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น พบว่า การขนส่งสินค้าทางทะเลจากท่าเรือระนอง-ท่าเรือจิตตะกอง มีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 1,000 เหรียญสหรัฐอเมริกา ใช้เวลาเดินทางเพียง 3-4 วัน ขณะที่หากใช้เส้นทาง กทม.-จิตตะกอง ซึ่งต้องผ่านสิงคโปร์ด้วยจะใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นประมาณ 1,250 เหรียญสหรัฐอเมริกา สำหรับเรือที่ใช้ในการขนส่งทางทะเลควรเป็นเรือที่สามารถบรรทุกสินค้าได้หลากหลาย หรือเป็นเรือขนส่งโดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์อย่างเดียวก็ได้ และหากท่าเรือระนองมีตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอสามารถใช้ท่าเรือย่างกุ้ง เป็นท่าเรือกลางได้อีกด้วย และในอนาคตหากเส้นทางเดินเรือระนอง-จิตตะกอง ประสบความสำเร็จ ยังสามารถเชื่อมต่อไปยังเมือง Mongla (มองกลา) ของบังกลาเทศ ต่อไปยังท่าเรือ Haldia ของกัลกัตตา อินเดีย และต่อไปศรีลังกาได้อีกด้วย
โดยสินค้าที่ทางบังกลาเทศต้องการจากประเทศไทย ได้แก่ ข้าว น้ำตาล ปุ๋ย เม็ดปูนซีเมนต์ หิน หินอ่อน อะลูมิเนียน วัสดุก่อสร้าง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ผลไม้สด ผลไม้แห้ง เหล็ก และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ส่วนสินค้าส่งออกของบังกลาเทศที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยหลักๆ ได้แก่ ปอที่ใช้ทำกระสอบ คอยล์เหล็ก ปลา หนัง กระจก เสื้อผ้าสำเร็จรูป ชา เป็นต้น
Mr Jasim U. Ahmen ที่ปรึกษาด้านการค้า กระทรวงพาณิชย์บังคลาเทศ (จิตตะกอง) และนักธุรกิจทางด้านการขนส่งสินค้าทางเรือ ยังกล่าวอีกว่า ในเบื้องต้นอยากให้มีการเริ่มต้นขนส่งสินค้าเล็กๆ น้อยๆ ไปก่อน ในอนาคตหากมีการขนส่งโดยสายการเดินเรือแห่งชาติยังจะมีการขอคืนภาษีได้อีกด้วย โดยหากเอกชนรายใดสนใจสามารถประสานงานมายังหอการค้าระหว่าง 2 ประเทศ เพื่อให้อำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจระหว่าง 2 ประเทศ
ด้านนายไมตรี ไตรติลานันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวว่า จังหวัดระนองยินดีให้การสนับสนุน และอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ เพื่อให้โครงการขนส่งทางทะเลท่าระนอง-ท่าเรือจิตตะกอง เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ทางผู้บริหารท่าเรือจิตตะกองได้สนใจท่าเรือน้ำลึกที่จังหวัดระนอง อยู่ในระหว่างการพิจารณาเตรียมทำบันทึกข้อตกลง เพื่อให้เรือสินค้าจากประเทศไทยเข้าไปใช้บริการท่าเรือจิตตะกอง โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของคณะผู้บริหารท่าเรือจิตตะกอง โดยฝ่ายความมั่นคงของทั้ง 2 ประเทศ ต้องยอมรับร่วมกัน ทั้งศุลกากร ทหารเรือ กองตรวจคนเข้าเมือง เหมือนกับที่ท่าเรือจิตตะกอง ทำข้อตกลงกับพม่า โดยกำลังอยู่ในระหว่างการขอดูร่างบันทึกข้อตกร่วมกันก่อนที่จะผลักดันผ่านจังหวัดระนองต่อไป
ที่สำคัญคือ จังหวัดระนอง ควรมีพื้นที่เขตประกอบอุตสาหกรรมปลอดภาษี เพื่อสามารถนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศที่ได้สิทธิ GSP มาใช้ในการผลิตตามสูตรแหล่งกำเนิดสินค้า และส่งออกในโควตา GSP ของประเทศนั้นๆ ซึ่งประเทศไทยจะไม่มีสิทธิใช้สำหรับตลาดอียู และอเมริกาในปีหน้า
นอกจากนี้ หากรัฐบาลเห็นความสำคัญของท่าเรือน้ำลึกจังหวัดระนอง เพราะเป็นที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ควรมีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้ประกอบการมาใช้บริการเพื่อให้ระนองเป็นประตูการขนส่งสินค้าทางทะเลไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน และบีมส์เทค จะทำให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางภาคใต้ร่นระยะเวลาในการขนส่งสินค้าได้ ซึ่งก็จะเป็นการลดต้นทุนด้วยทางหนึ่ง เพียงขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะให้แก่ท่าเรือน้ำลึก และผู้ประกอบการไทยให้สามารถเตรียมรับการแข่งขันการค้าเสรีก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียนปี 2558 ที่จะถึงนี้