ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ย้อนรอย“ 10 ปี กับเหตุการณ์สึนามิถล่ม” 6 จังหวัดอันดามัน ทำคนไทยพบกับความสูญเสียมหาศาล ทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน นักท่องเที่ยว ขณะที่การฟื้นฟูทางด้านการกายภาพกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ยังมีศพรอญาติรับกลับบ้านอีก 369 ราย
เช้าของวันที่ 26 ธ.ค.2547 ที่ผ่านมา เป็นเช้าที่หลายคนยากจะลืมเลือน แม้ว่าระยะเวลาจะล่วงเลยมาครบ 10 ปีแล้วก็ตาม เนื่องจากเช้าวันดังกล่าวเป็นช่วงแห่งความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของทั้งคนไทย และชาวต่างชาติ และเป็นวันที่ทำให้คนไทยบางส่วนได้รู้จักกับคำว่า “สึนามิ” เป็นครั้งแรกอย่างถ่องแท้ เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว มีศูนย์กลางอยู่ลึกลงไปในทะเล ใกล้ด้านตะวันตกของตอนเหนือเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวขนาด 9.1 ริกเตอร์ ทำให้เกิดการยุบตัวของเปลือกโลกใต้มหาสมุทรอินเดีย กระตุ้นให้เกิดคลื่นสึนามิสูงราว 30 เมตร ซัดเข้าท่วมทำลายบ้านเรือนตามแนวชายฝั่งโดยรอบมหาสมุทรอินเดีย จำนวน 14 ประเทศ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 230,000 คน นับเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยประเทศที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย รองลงมาคือ ประเทศศรีลังกา ประเทศอินเดีย และประเทศไทย ตามลำดับ
สำหรับประเทศไทยนั้น เหตุการณ์สึนามิถล่มได้สร้างความเสียหายโดยรวมให้แก่ 6 จังหวัดอันดามัน ประกอบด้วย จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนอง ตรัง สตูล เหตุการณ์ในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการประมาณ 5,300 กว่าคน และมีผู้สูญหายจำนวนกว่า 3,000 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 8,000 คน ซึ่งในจำนวนนั้นมีทั้งคนไทย และชาวต่างชาติที่สูญเสียทั้งชีวิต บาดเจ็บ และเป็นผู้สูญหาย โดยขณะนี้ยังมีศพของผู้เสียชีวิตที่ญาติยังไม่สามารถรับกลับไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอีก จำนวน 369 ศพ ได้แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมาถึง 10 แล้วก็ตาม ทำให้ขณะนี้ยังมีร่างของผู้ไร้ชีวิตถูกฝังไว้ที่สุสานบางมะรวน อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา อีกจำนวน 369 โดยศพดังกล่าวพิสูจน์ได้แล้ว 48 ศพ เป็นชาวไทย 23 ศพ ชาวพม่า 27 ศพ และเนปาล 1 ศพ โดยศพเหล่านี้ยังนอนรอญาติมาติดต่อขอรับ และรอการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอเพื่อเปรียบเทียบ
10 ปี สึนามิถล่ม 6 จังหวัดอันดามัน ยังมีศพที่ไม่ได้กลับบ้านอีก 369 ราย
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าระยะเวลาจะล่วงเลยมาถึง 10 ปี แต่ก็ยังมีญาติของผู้สูญหาย และผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิถล่มที่ยังติดตามเพื่อนำศพกลับไปประกอบพิธี ซึ่งเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา มีผู้ที่มาติดต่อรับศพของผู้เสียชีวิตกลับไปได้อีก 1 ศพ คือ ศพของ นายโดราริ อายุ 48 ปี ชาวเนปาล โดยมีญาติ ลูก 2 คน ของผู้เสียชีวิตประเทศเนปาล คือ นายดิพาค อายุ 19 ปี และ น.ส.ดีพาค อายุ 20 ปี เดินทางมาขอรับศพด้วยตัวเองเพื่อนำศพของผู้เป็นพ่อที่ถูกฝังอยู่ที่สุสานบางมะรวนกลับไปประกอบพิธี ซึ่งก่อนที่จะมีการส่งมอบศพ ทางศูนย์พิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลและส่งกลับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนแยก จ.พังงา ได้ทำการตรวจพิสูจน์ยืนยันตัวผู้เสียชีวิต และสามารถคืนศพให้แก่ญาติของผู้เสียชีวิต หลังจากทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจเปรียบเทียบสารพันธุกรรม DNA ของผู้เสียชีวิต และผู้สูญหายเพื่อยืนยันตัวบุคคลก่อนจนได้ผลออกมาตรงกันก็ได้ส่งมอบให้แก่ญาตินำกลับไปประกอบพิธี
ความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจที่ปัจจุบันไม่เหลือภาพในอดีต 10 ปี สึนามิถล่มให้เห็นแล้ว
เหตุการณ์สึนิมิถล่ม นอกจากจะทำลายชีวิตของประชาชน และนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลแล้ว สึนามิ ยังได้สร้างความเสียหายในด้านทรัพย์สิน ได้แก่ บ้านเรือนของราษฎร โรงแรม บังกะโล เกสต์เฮาส์ ร้านค้า ร้านอาหาร โรงเรียน ทรัพย์สินส่วนตัวของนักท่องเที่ยว ยานพาหนะ ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ถนน รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ พังราบเป็นหน้ากลอง ประชาชนไร้ที่อยู่อาศัยจำนวนมาก รวมมูลค่าความเสียหายหลายพันล้านบาท แต่การฟื้นฟูทางด้านเศรษฐกิจก็สามารถฟื้นกลับมาได้อย่างรวดเร็ว ทั้งบ้านเรือนของประชาชน อาคารโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร ซึ่งเมื่อเทียบกับก่อนที่จะมีเหตุการณ์สึนามิพบว่า ปัจจุบันนี้มีการเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งจำนวนบ้านเรือนของประชาชน โรงแรม ร้านอาหาร รีสอร์ตที่เพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ ที่ยังเห็นการก่อสร้างที่สร้างจนติดชายหาด โดยไม่กลัวว่าจะมีสึนามิกลับมาถล่มอีกหรือไม่ หรือแม้แต่บ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า ซึ่งช่วงที่เกิดเหตุสึนามินั้นพบว่า บริเวณบ้านน้ำเค็มบ้านเรือนของประชาชนได้รับความเสียหายจากเหตุสึนามิถล่มมากกว่า 80% ปัจจุบันกลับมีการสร้างที่อยู่อาศัยขึ้นมาใหม่เต็ม 100% โดยการก่อสร้างบ้านใหม่นั้นเป็นการก่อสร้างบ้านในลักษณะแข็งแรงขึ้น หรือที่เกาะพีพี จ.กระบี่ ก็เช่นเดียวกัน พบว่าปัจจุบันอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เกิดขึ้นจนเต็มพื้นที่ ไม่หลงเหลือภาพในอดีตเมื่อช่วงที่เกิดเหตุสึนามิให้เราเห็นแล้วเช่นเดียวกัน หรือแม้แต่ที่เขาหลัก จ.พังงา หรือกมลา ป่าตอง จ.ภูเก็ต
คนไทยได้อะไรจากเหตุการณ์สึนามิถล่มนอกเหนือจากความสูญเสีย
อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่า เหตุการณ์สึนามิถล่มเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศไทยอย่างมหาศาล แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นก็ได้อะไรแก่คนไทยหลายๆ อย่างเช่นกัน โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับภัยสึนามิ หลังจากเกิดเหตุสึนามิทุกหน่วยงานต่างก็มีความตื่นตัว และสร้างความพร้อมให้แก่ประชาชนในพื้นที่ชายฝั่ง มีการจัดอมรมสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับสึนามิ การฝึกซ้อมเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือ และการอพยพกรณีที่เกิดภัยพิบัติขึ้น ซึ่งการซ้อมรับมือภัยพิบัตินั้นมีการซ้อมกันเป็นประจำทุกปีเพื่อให้ประชาชน และหน่วยงานราชการมีความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่มีใครสามารถบอกเวลาเหตุการณ์สึนามิถล่ม หรือแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นได้เมื่อไร นอกจากนั้น ในเรื่องของการเตือนภัยล่วงหน้าก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทางหน่วยงานราชการให้ความสำคัญ หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิถล่มไม่นาน ก็มีการติดตั้งระบบสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า หรือที่เรียกว่าหอเตือนภัยตามจุดต่างๆ ทั่วทั้ง 6 จังหวัดอันดามัน ซึ่งจากการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยืนยันว่า หอเตือนภัยยังสามารถใช้งานได้ดี มีการทดสอบเปิดทุกวัน และที่สำคัญไปกว่านั้นเพื่อให้การเตือนภัยได้ผลมากที่สุด ประเทศไทยยังได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศในการติดตั้งทุ่นตรวจวัดคลื่นแผ่นดินไหวในทะเลที่มหาสมุทรอินเดีย ซึ่งคลื่นดังกล่าวจะสามารถตรวจจับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว และประมวลข้อมูลส่งกลับมาที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และแม่นยำ สามารถเตือนประชาชนให้รู้ตัวได้เร็วขึ้น ทำให้สามารถลดความสูญเสียไปได้หากมีเหตุการณ์ภัยพิบัติเกิดขึ้น และยังมีเรื่องอื่นๆ อีกหลายอย่างที่ประชาชนคนไทยได้เรียนรู้จากเหตุการณ์สึนามิถล่ม
ญาติผู้เสียชีวิต-ผู้ประสบเหตุยังไม่ลืมสึนามิถล่ม
แม้ว่าขณะนี้ระยะเวลาที่เกิดเหตุการณ์สึนามิถล่มเข้าทำลายล้าง 6 จังหวัดอันดามัน ของประเทศไทย และสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ล่วงเลยมาเป็น 10 ปี แล้วก็ตาม ในส่วนของชีวิตที่อยู่ข้างหลังซึ่งต้องกลายเป็นกำพร้า บางคนสูญเสียชีวิตของคนในครอบครัวไปทั้งหมด บางคนสูญเสียพ่อแม่ บางคนสูญเสีย ภรรยา สามี หรือลูก ทำให้จนถึงขณะนี้ คนที่รอดชีวิตแต่ต้องอยู่กับความสูญเสียของคนในครอบครัวยังไม่สามารถทำใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ บางคนกลายเป็นโรคซึมเศร้า บางคนต้องพบกับจิตแพทย์เพื่อเยียวยาในเรื่องของจิตใจ บางคนยังไม่อยากพูดถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับ นายเสรียร เพ็ชรเกลี้ยง กำนันตำบลบางม่วง อ.ตะกัวป่า จ.พังงา ซึ่งมีบ้านอยู่ในหมู่บ้านน้ำเค็ม ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์สึนามิมากที่สุด กล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นได้สร้างความเสียหายมหาศาล ตนต้องสูญเสียคนในครอบครัวไปพร้อมกันถึง 5 คน นอกจากนั้น ยังมีคนที่รู้จัก เพื่อนฝูงคนที่รักอีกจำนวนมาก ยากที่จะทำใจให้ลืมต่อเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมานานแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถทำใจได้ ทุกครั้งที่มีข่าวแผ่นดินไหวเกิดขึ้นก็รู้สึกเป็นกังวลไม่อยากให้มีเหตุการณ์แบบเดียวเกิดขึ้นอีก เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเกินที่จะรับได้ และทุกครั้งยังมองเห็นภาพของความเสียหายที่เกิดขึ้นตลอดเวลา แม้ว่าสภาพของบ้านน้ำเค็มในปัจจุบันจะเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม
เช่นเดียวกับ น.ส.อารีรัตน์ นาวารักษ์ อายุ 16 ปี นักเรียน ปวช.1 บอกว่า วันที่เกิดเหตุตนอายุแค่ 6 ขวบ ตนกับเพื่อนเล่นกันอยู่ที่บ้าน ซึ่งอยู่ห่างจากโรงเรียนบ้านบางสัก ที่ถูกคลื่นซัดเสียหายทั้งหมด ประมาณ 2กิโลเมตร จนกระทั่งมีเพื่อนบ้านมาบอกว่า มีคลื่นยักษ์พัดถล่ม และมีคนตายเป็นจำนวนมาก ตนเองกับเพื่อนยังไม่เชื่อจึงได้เดินทางไปดูบริเวณชายหาด แต่เมื่อไปถึงก็ต้องพบกับความเสียใจอย่างใหญ่หลวง เมื่อทราบว่า พ่อของตนเองได้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ด้วย และโรงเรียนของทุกคน คือ โรงเรียนบ้านบางสักก็ได้รับความเสียหายทั้งหมดเหลือเพียงแค่เสาธงเท่านั้น ซึ่งตอนที่เห็นสภาพโรงเรียนก็ไม่คิดว่าจะสามารถเรียนหนังสือได้อีก แต่ก็โชคดีที่ครูเปิดบ้านของตัวเองให้เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอน และในเวลาต่อมา ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ทรงพระเมตตาพระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์ ก่อสร้างโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 35 ให้แก่นักเรียนเพื่อให้เด็กที่ประสบภัยสึนามิ และเด็กนักเรียนทั่วไปได้รับการศึกษาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับความสูญเสียจากเหตุการณ์สึนามิถล่มถือว่าเป็นความสูญเสียที่เกิดขึ้นมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ทั้งชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนคนไทย และชาวต่างชาติ รวมทั้งประเทศอื่นๆ อีก 13 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้สร้างบมเรียนสำคัญให้แก่คนไทยได้รู้จัก และเรียนรู้และเตรียมรับมือต่อเหตุการณ์สึนามิเพื่อให้สามารถเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล