xs
xsm
sm
md
lg

ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ : “อันดามันมรดกโลก” วาระ สปช. ความฝันและความกล้าจะเกิดความจริงได้หรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (ภาพจากแฟ้ม)
นักวิชาการด้านทะเล - สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เผยแพร่บทความย้อนรอยไปสำรวจทะเลอันดามันกลางอากาศหลังเหตุการณ์สึนามิเมื่อ 10 ปีก่อน เสนอวาระ “อันดามันมรดกโลก” 29 ธ.ค. นี้ หลังพบการอนุรักษ์วนอยู่กับที่ การท่องเที่ยวไร้อนาคต คนเหยียบย่ำธรรมชาติ หวังชี้วัดความฝันเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

วันนี้ (25 พ.ค.) นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat กล่าวถึงบทความที่เขียนถึงเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปี 2547 โดยในขณะนั้นตนภารกิจสำรวจอันดามันทางอากาศ เพื่อนำภาพถ่ายและเรื่องราวไปใช้ในโครงการต่างๆ มีใจความดังนี้

“ท้องฟ้าวันนี้หม่นหมอง เป็นวันหนึ่งก่อนถึงฤดูมรสุมในอันดามัน คลื่นใหญ่ถาโถมเข้าใส่หาดทรายแก้ว หาดยาวเหยียดหน้ารันเวย์สนามบินภูเก็ต

ผมมองฟ้าด้วยอารมณ์หดหู่ แม้เป็นคนชอบทะเลหน้าฝน แต่หมายถึงการชอบแบบนอนดูบนฝั่ง อย่างดีก็ลงไปสัมผัสคลื่นนิดหน่อย

ผมไม่ชอบเลยหากต้องลงไปลอยเรืออยู่ในทะเล และยิ่งไม่ชอบหากต้องขึ้นไปอยู่บนฟ้า ท่ามกลางเม็ดฝนโปรยปราย แต่...ทำไงได้เล่า ผมเดินทางมาภูเก็ตเพื่อภารกิจเดียว

ภารกิจการสำรวจอันดามันทางอากาศ เพื่อนำภาพถ่ายและเรื่องราวไปใช้ในโครงการต่าง ๆ รวมทั้งการบอกเล่าสถานการณ์หลังคลื่นสึนามิให้คุณทราบ

พาหนะของผมจอดรออยู่ เป็นเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็ก หากไม่นับนักบินและช่างเครื่องที่ต้องมีแน่ แมลงปอเหล็กตัวนี้บรรทุกผู้โดยสารได้เพียง 3 ที่นั่ง

หลังจากปีนป่ายขึ้นเครื่อง เช็กเข็มขัดว่ารัดแน่น ผมจัดแจงหยิบกล้องคู่มือมาตรวจสภาพ หยิบแผนที่ชายฝั่งมาไว้ข้างตัว

กล้อง แผนที่ และโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลบอกว่าจะทำ ล้วนอยู่ในหัว ผมจะขึ้นไปเหนือฟ้าอันดามันเพื่อติดตามเรื่องเหล่านั้น

เสียงโรเตอร์ดังหวีดหวิว กระหึ่มก้องจนพูดกันแทบไม่รู้เรื่อง ช่างเครื่องปีนป่ายเข้ามาพร้อมปิดประตู ก่อนชูนิ้วโป้ง ส่งสัญญาณโอเคให้คุณนักบิน

เพียงไม่ถึงนาที แมลงปอเหล็กยกลำตัวขึ้นจากพื้นอย่างเชื่องช้า ตั้งลำแล้วมุ่งหน้าเลาะริมฝั่งขึ้นเหนือ เป้าหมายคือเมืองระนอง

ผมเปิดหน้าต่างบานเล็กจิ๋ว มองลงไปเบื้องล่าง แลเห็นยอดต้นมะพร้าวอยู่เพียงไม่ไกล

การเดินทางวันนี้ใช้ความสูงระดับตึก 20 - 30 ชั้น ตลอดเส้นทาง นอกจากเพื่อหลบเมฆฝนที่ลอยต่ำ เรายังมีโอกาสดูชายฝั่งได้ถ้วนถี่

นั่นไง...หาดไม้ขาว หาดสำคัญทางเหนือของเกาะภูเก็ต ถนนโค้งเลียบชายฝั่งทะเล ป่าพรุและป่าชายเลนผืนใหญ่ผืนสุดท้ายของภูเก็ตโผล่ขึ้นมา

เพียงไม่นานผมมาถึงร่องน้ำสารสิน ทะเลที่กั้นขวางระหว่างชายฝั่งพังงากับเกาะภูเก็ต สะพานสารสินทอดตระหง่านเหนือผิวน้ำสีน้ำเงินเข้ม

หาดทรายสีทองไล่ยาวเลียบฝั่งทั้งสองด้าน มองเห็นคลื่นใหญ่แตกฟองขาวอยู่ด้านนอกแถวปากร่อง

จากสารสินเลาะชายฝั่งขึ้นไปคืออำเภอโคกกลอย ชายฝั่งเป็นหาดทรายสีทองเปิดสู่ท้องทะเลกว้าง ยังไม่มีการพัฒนามากนัก นานทีถึงมีถนนตัดตรงเข้ามาแล้วก็สิ้นสุด

ผมไม่เห็นโรงแรมขนาดใหญ่หรือชุมชนใด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าชายหาดที่ยังคงเขียวขจี มีทรายขาวปะปนอยู่บ้าง ยังไม่เห็นผลจากคลื่นสึนามิชัดเจน

จนเมื่อเข้าสู่เขตอำเภอท้ายเหมือง ชุมชนเริ่มเพิ่มขึ้น ผมเห็นบางจุดกำลังก่อสร้าง มีโรงแรมสองสามแห่งริมฝั่งทะเล

จากสภาพพอบอกได้ แม้โดนคลื่นสึนามิ แต่ผลกระทบคงไม่มาก ปัจจุบันคงกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงซ่อมแซม

เพียงไม่นานเราเข้าสู่เขตอุทยานแห่งชาติหาดท้ายเหมือง ผมได้ข่าวว่าที่นี่เสียหายน้อยมาก เมื่อมองดูจากฟ้า จึงทราบว่าทำไม ?

เรากำลังพูดถึงผังเมืองใหม่ในบริเวณแหล่งท่องเที่ยวชายฝั่ง ผมคิดว่าหาดท้ายเหมืองนี่แหละ...ใช่เลย

ถนนถูกสร้างให้ห่างจากริมทะเลหลายสิบเมตร มีดงสนต้นไม้ใหญ่คั่นขวาง ถัดจากถนนลึกเข้าไปในแผ่นดินร่วมร้อยเมตร คืออาคารที่มีหมู่ไม้ปกป้องรอบด้าน มองตรงไหนเห็นแต่สีเขียวเหมือนกำแพงกั้นคลื่น

สภาพเช่นนี้ผิดจากชายฝั่งอีกหลายแห่งที่โรงแรมสร้างติดทะเล ต้นไม้ถูกตัดโค่นเพื่อเปิดซีวิว สร้างสระน้ำโล่งโจ้งขึ้นมาแทน ยามเมื่อทะเลโหมกระหน่ำ ความเศร้าจึงเข้ามาเยือน

บทเรียนจากหาดท้ายเหมืองได้รับการพิสูจน์แล้ว ในอนาคตหากมีการวางผังเมืองอย่างจริงจัง นี่แหละตัวอย่างชั้นยอด ไม่ต้องไปดูงานที่ไหนให้ไกล

ผมพอทราบว่า รัฐบาลมีโครงการจะปลูกต้นไม้ริมชายหาดตลอดชายฝั่งพังงา นั่นเป็นความคิดที่ดีครับ ยิ่งเมื่อคิดว่าต้นไม้สามารถช่วยรักษาทรัพย์สินมูลค่ามากกว่ากันนับร้อยนับพันเท่า

เลยจากอุทยานฯ ขึ้นไปทางเหนือ ชายฝั่งเริ่มเปลี่ยนไป แม้ยังเป็นหาดทรายเลียบทะเล แต่ลักษณะชายฝั่งคงทำให้คลื่นโหมกระหน่ำรุนแรง

ผมมองเห็นป่าชายหาดผืนใหญ่ ปัจจุบันกำลังแปรสภาพเป็นป่าใกล้ตาย ต้นไม้ล้วนทิ้งใบกลายเป็นสีน้ำตาล ไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนต้น ยาวติดต่อกันหลายกิโลเมตร

ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชคนหนึ่งบอกผมว่า ต้นไม้พวกหยีทะเลอาจรอดได้ เมื่อฝนกระหน่ำจากฟ้า ใบใหม่อาจผลิแตกออกมา แต่ผมเชื่อว่าคงรอดไม่หมด และคงมีอีกหลายชนิดที่ไม่รอด

ป่าชายหาดคือทรัพยากรที่ทรงคุณค่า เราเหลืออยู่ไม่เท่าไหร่แล้ว กลับมาตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ หากเราไม่คิดเข้าไปศึกษาให้ถ่องแท้ หาทางช่วยเหลืออย่างจริงจัง โอกาสที่ป่านั้นจะฟื้นตัวคงใช้เวลาเนิ่นนาน

ในความจริง...อาจกลายเป็นช่องทางทำให้เกิดการบุกรุก เปลี่ยนแปลงสภาพไปตลอดกาล และนั่นจะเป็นสมบัติของชาติชิ้นสำคัญที่กำลังจะสูญหายไป

วันนี้เรายังช่วยได้...ช่วยเธอเถิดครับ

เฮลิคอปเตอร์บินเข้าเขตป่าชายเลนผืนใหญ่ มองไปข้างหน้าผมเห็นท่าเรือที่คุ้นเคย ทราบทันทีว่าเรากำลังลอยอยู่เหนือท้องฟ้าทับละมุ ชุมชนชายฝั่งอันเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางสู่หมู่เกาะสิมิลัน และเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือพังงา

ผมมีโอกาสเข้ามาสำรวจบริเวณนี้ตั้งแต่คลื่นเพิ่งผ่านไปได้ 2 - 3 วัน นับเป็นบริเวณที่ผลกระทบรุนแรงไม่น้อย

มองจากฟ้าเมื่อเวลาผ่านไปหกเดือน ผมพอเห็นร่องรอยความรุนแรงของคลื่น ป่าชายเลนส่วนหนึ่งแหลกยับ

เท่าที่ทราบข้อมูล คลื่นถล่มป่าเลนของเราไป 2,000 ไร่ เกือบทั้งหมดเป็นป่าเลนในจังหวัดพังงา หน่วยงานภาครัฐและเอกชนกำลังร่วมกันปลูกซ่อมแซม

เมื่อบินผ่านทับละมุ ผมเห็นเรือประมงจอดเรียงกันเพียบ ไม่รู้เป็นเพราะแรงมรสุมหรือเพราะฤทธิ์ราคาน้ำมัน แต่สภาพบ้านเรือนได้รับการซ่อมแซมเกือบหมดแล้ว

จนเข้าสู่ฐานทัพเรือพังงา ยังมีร่องรอยความเสียหายและการปรับพื้นที่เพื่อซ่อมแซม สภาพต้นไม้อยู่ในภาวะยืนตาย แต่ทหารเรือคงช่วยกันปลูกใหม่ให้กลับมาสดสวยในไม่ช้า

เลยจากทับละมุเพียงไม่ไกล เราผ่านอุทยานแห่งชาติเขาหลัก กัปตันดึงเครื่องขึ้นข้ามเหลี่ยมเขา ฉับพลัน...ภาพเบื้องหน้าปรากฏ

ผมยกกล้องค้างไว้ ด้วยแทบไม่เชื่อสายตา สิ่งที่เห็นอยู่คือชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นรุนแรงที่สุด เป็นเขตจากเขาหลักถึงบ้านน้ำเค็ม

หาดที่เคยเต็มไปด้วยโรงแรมและรีสอร์ท ชุมชนและหมู่บ้าน บัดนี้กลายเป็นผืนดินสีน้ำตาลเลี่ยนโล่ง มีเพียงบางโรงแรมที่สร้างอยู่บนเชิงเขารอดจากแรงคลื่น หรือบางตึกที่คงทนอยู่ได้

สภาพที่พักส่วนใหญ่เหลือเพียงสระว่ายน้ำกับต้นไม้หรอมแหรม มีร่องรอยของถนนเพียงเล็กน้อย พอบอกให้ทราบว่า สมัยก่อนเคยเป็นทางลัดเลาะไปสู่ห้องสุดหรู

บางอาคารได้รับการรื้อถอนแล้ว แต่หลายแห่งยังคงสภาพเสียหายยับเยิน

ยิ่งเฮลิคอปเตอร์บินผ่านไป ผมยิ่งเห็นสภาพแสนเศร้า จะเป็นรีสอร์ทยักษ์ใหญ่หรือบังกาโลเล็กนิดเดียว ล้วนแต่ตกอยู่สภาพคล้ายกัน

บางแห่งเป็นซากอาคารที่เคยเป็นพูลวิลล่าคืนละหลายหมื่น มาบัดนี้ให้นอนฟรียังไม่มีคนมานอน

ในช่วงที่ผมลงพื้นที่ใหม่ๆ เคยมานอนโรงแรมที่ยังพอคงสภาพอยู่ได้ จากนั้นผมก็ไม่คิดมานอนอีก เพราะตกกลางคืน...ผมได้ยินเสียง...บางเสียง...หลายเสียง

มองไปข้างล่าง ถนนบางสายที่ได้รับการซ่อมแซม เห็นยางมะตอยเป็นสีดำใหม่เอี่ยม แต่พื้นที่โดยรอบที่ถนนตัดผ่านไป คล้ายไร้ร่องรอยของผู้คน ยังมีอีกหลายถนนที่ทรายกลบทับจมหาย

ผมเห็นสภาพเช่นนี้ตลอด จากเขาหลักจนถึงแหลมปะการัง นับเป็นพื้นที่เสียหายยับเยิน แม้บางโรงแรมพอรอดอยู่ได้ มองจากฟ้าแล้วอาคารยังอยู่ครบ แต่สภาพของโรงแรมปิดให้บริการ สระน้ำเป็นสีขุ่น พูลบาร์หรือทางเดินทรุดโทรม

ผมดูเขาหลักด้วยความเศร้า ในช่วงมาทำงานตอนคลื่นผ่านไปหมาดๆ เคยเห็นแต่บนท้องถนน ไม่ชัดเจนเหมือนครั้งนี้ เมื่อเห็นแล้วจึงรู้ซึ้ง เรากำลังเผชิญปัญหายิ่งใหญ่

การฟื้นฟูเขาหลัก...ทำได้ แต่ถ้าทำแล้วเหมือนเดิม ผมมองดูสภาพระเกะระกะที่เห็นอยู่ข้างล่าง

ก็แค่อยากฝัน...ก็แค่ฝันนะ ผมจะเห็นเขาหลักในโฉมใหม่ เขาหลักที่กลมกลืนกับธรรมชาติ ไม่เต็มไปด้วยอาคารร้านค้าไร้ผัง สร้างแบบกดขี่ธรรมชาติ ก่อนถูกธรรมชาติเอาคืนเช่นนี้

อันดามันเหนือ หมายถึง ระนอง พังงา และภูเก็ต การสำรวจทางอากาศครั้งนี้ เริ่มต้นจากสนามบินภูเก็ตสู่สนามบินระนอง ตอนนี้เรามาถึงเขาหลัก บินวนเวียนดูพักใหญ่

เป้าหมายต่อไปคือตะกั่วป่า จนมาถึงบ้านน้ำเค็ม ตั้งอยู่บนสันดอนทรายปากแม่น้ำสายเล็ก

บ้านสีขาวหลายสิบหลังสร้างเสร็จแล้ว พื้นที่กำลังได้รับการฟื้นฟู แต่จากสภาพของตำแหน่งที่ตั้ง น่าเป็นห่วงสำหรับเหตุการณ์คราวหน้า...หากเกิด

จากตำแหน่งของปากแม่น้ำ เชื่อว่าคลื่นคงส่งผลกระทบกับบริเวณนี้มาก หากรักจะอยู่กันต่อ ภาครัฐคงต้องระดมสร้างกำแพงธรรมชาติ ปลูกต้นไม้ไว้ริมฝั่งเยอะๆ รวมถึงการวางผังให้ดี

ผมไม่รู้จะฝันไปหรือไม่ เพราะผมยังแทบไม่เคยเห็นชุมชนริมฝั่งทะเลแห่งไหนมีผังเมืองที่ใช้ได้...ชัดเจน

เอาเป็นว่า ถ้าปลูกต้นไม้ไม่ได้ ติดตั้งระบบเตือนภัย และซ้อมอพยพกันให้บ่อยๆ คงช่วยสร้างความมั่นใจได้ระดับหนึ่ง

มั่นใจ...ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ให้นักท่องเที่ยวมั่นใจอยากมาเที่ยว เพราะคงไม่มีใครคิดมาเที่ยวบ้านน้ำเค็ม แต่หมายถึง ให้คนอยู่อาศัยมั่นใจในยามเกิดเหตุ พวกเขาจะหาทางหนีทีไล่ได้ทัน พ่อแม่ลูกจะไม่ต้องพลัดพรากกันเหมือนครั้งก่อน

เลยจากบ้านน้ำเค็ม เป็นป่าชายเลนเล็กๆ หย่อมที่สอง ก่อนกลายเป็นชายหาดยาวสลับคั่น แล้วเราก็เข้าสู่เขตแดนป่าชายเลนที่แท้จริง

เพื่อให้คุณเห็นภาพรวม ชายฝั่งอันดามันเหนือแบ่งเป็น ๒ แบบง่ายๆ โดยไม่เกี่ยวข้องใดกับเขตจังหวัด

จากภูเก็ตตอนบนจนถึงอำเภอตะกั่วป่า เป็นชายฝั่งเปิดหาดทรายสีทอง

จากอำเภอคุระบุรีขึ้นไปทางจังหวัดระนอง จนถึงแม่น้ำกระบุรี เป็นชายฝั่งปิดและกึ่งปิด ส่วนใหญ่เป็นป่าชายเลน

ผมกำลังอยู่ในเขตที่สอง อาณาจักรของป่าเลนใหญ่สุดในประเทศไทย จะมีป่าพอทัดเทียมได้คือป่าในอ่าวพังงา สำหรับที่อื่น เมินเสียเถอะ ไม่มีป่าผืนใหญ่ในระดับนี้อีกแล้ว

ระดับนี้หมายถึงผืนป่าสุดกว้าง มองเห็นไกลสุดตา จากเชิงเขาจรดชายทะเล เป็นต้นไม้สีเขียวเข้ม แผ่ขยายอาณาเขตรอบด้าน มีคลองคดเคี้ยวผ่าน คล้ายรากไม้ซอกซอนไปทั่ว

คลองเหล่านั้นคือเส้นเลือดใหญ่ของป่าเลน ส่งต่อน้ำเค็มจากชายฝั่ง เข้าไปถึงต้นไม้ที่ลึกไปในแผ่นดิน

วันใดที่คลองพวกนี้ถูกถมถูกทับด้วยถนนหรือการพัฒนาใด ๆ ป่าชายเลนด้านในจะตาย...และตายอนาถ

จึงเป็นเทคนิคง่าย ๆ สำหรับการทำลายป่าชายเลน เพื่อยึดครอบครองพื้นที่นำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว คนชั่วเพียงกั้นคลองทำลายสายน้ำ ไม้ทั้งป่าแดดิ้นในช่วงเวลาอันสั้น เพราะขาดเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยง

จากการสำรวจสภาพป่าทั้งหมด บอกได้ชัดเจน อำเภอคุระบุรีมีป่าใหญ่และสมบูรณ์สุด ชนะแม้กระทั่งป่าหงาวหรือเขตชีวมณฑล แหล่งอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลก เพราะหงาวอยู่ใกล้เมือง การพัฒนาคืบคลานเข้ามารอบด้าน ผิดจากป่าคุระบุรี ยังสมบูรณ์และสวยงาม

ผมคุ้นเคยกับคุระบุรีพอควร เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางไปหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานสุดรัก

จึงอยากบอกเพื่อนๆ ชาวคุระไว้ แม้วันนี้คุระบุรียังไม่เป็นที่รู้จักมักคุ้นของชาวไทย แต่วันนี้...คุระบุรีมีชายฝั่งชั้นยอด มีความสมบูรณ์ระดับดีหนึ่งประเภทหนึ่ง

ในยามที่ชายฝั่งเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศตกอยู่ในภาวะเสื่อมโทรม คุระบุรีถือเป็นสมบัติล้ำค่าของทะเลไทย และจะส่งผลช่วยลูกหลานคุระในอนาคตได้...อย่างแน่นอน

จึงอยากฝากคนคุระ หวังว่าจะช่วยกันดูแลรักษา ให้คุระบุรีเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกนาน ๆ ไม่ใช่เพียงเพื่อประโยชน์ของคนคุระเท่านั้น ยังหมายถึงรักษาสมบัติของชาติ

เราพักเครื่องเฮลิคอปเตอร์ที่โรงเรียนกลางอำเภอ คุระบุรีมีร้านอาหารอร่อยและถูกหลายแห่ง ครั้งนี้อยากแนะนำร้านข้าวแกงฝั่งตรงข้ามโรงเรียน เป็นอาหารแบบพื้นบ้าน รสชาติจัดจ้านใช้ได้ บริการแบบไทย ๆ มีน้ำใจสไตล์ต่างจังหวัด

การเดินทางในช่วงสุดท้าย เราผ่านสถานีวิจัยของเกษตรศาสตร์ ณ หาดประพาส

เรื่องเศร้าเคยเกิดที่นี่ ทำความเสียหายให้มหาวิทยาลัย รวมถึงชีวิตของคนที่ผมคุ้นเคยหลายท่าน เพราะสถานีแห่งนี้มีความสัมพันธ์กับภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเลของเราอย่างลึกซึ้ง

วันนี้สถานีระนองกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุง ในบริเวณใกล้เคียง ยังมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาสร้างบ้านหลังใหม่สำหรับชาวบ้านกำพ่วนที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นใหญ่ สภาพของบ้านเหล่านั้นดูแล้วพิลึกดีนะ

เฮลิคอปเตอร์บ่ายหน้าสู่ทะเล เรากำลังข้ามฟากไปสองเกาะใหญ่ชายฝั่ง หนึ่งเรียกว่า “พยาม”

ภาพที่เห็นในวันนี้ เกาะยังคงสดสวย หาดทรายสีทองกว้างใหญ่ แต่เริ่มมีการบุกรุกตัดไม้ ผมไม่แน่ใจว่าเป็นพื้นที่ของใคร แต่แน่ใจว่าไม่อยากเห็นภาพเช่นนั้น

อีกเกาะชื่อ “พระทอง” เป็นเกาะโด่งดังมาแรงมาก โครงการบนเกาะพระทองนับได้เกือบครบทุกนิ้วบนมือ ยังมีโครงการจัดตั้งอุทยานหมู่เกาะระ-เกาะพระทอง แต่ยังร่อแร่อยู่ ไม่แน่ใจว่าจะสำเร็จ

ผมเคยมาเกาะพระทองสองสามครั้ง แต่อยู่ชั่ววูบชั่ววาบ ครั้งนี้ได้บินสำรวจทางอากาศ จึงเข้าใจว่าเกาะพระทองมีดีอย่างไร ?

สภาพทั่วทั้งเกาะ...สวยแปลก หมายถึงเกาะก่อเกิดจากสันดอนทรายยักษ์ใหญ่ ใช้เวลาเนิ่นนานกว่าจะเป็นเหมือนที่เห็น

ระบบนิเวศหลากหลาย ทั้งป่าพรุแหล่งสุดท้ายที่นกตะกรุมทำรังวางไข่ในแผ่นดินไทย ทุ่งหญ้ากว้างเป็นแหล่งอาศัยของกวาง ที่เชื่อว่าเป็นกวางป่าแท้จริง

ผมยังเห็นป่าชายเลนชั้นยอด ต้นไม้สวยสมบูรณ์ นั่นยังไม่เท่าไหร่ ที่บ่งบอกได้คือน้ำสีดำในคลองกลางป่า

น้ำพวกนี้ไม่ใช่ดำเพราะเน่าเสีย แต่ดำเพราะสารอินทรีย์จากป่าใหญ่ เป็นน้ำที่นำพาธาตุอาหารไปสู่ท้องทะเล

จุดสังเกตแสนง่าย คือน้ำดำแต่ใส ผิดจากน้ำในป่าชายเลนส่วนใหญ่ของไทย สีน้ำตาลขุ่น เพราะตะกอนที่เกิดจากผลการพัฒนาชายฝั่ง

ผมโบกมืออำลาพระทอง อำลาอันดามันเหนือ ในใจคิดว่า แม้ความเสียหายจะเกิดขึ้นมา ทั้งจากผลกระทบของธรรมชาติและของมนุษย์ แต่ชายฝั่งแห่งนี้ยังคงมีของดีเหลืออยู่ ขอเพียงพวกเราเข้าใจ...ก่อนสาย

เข้าใจ วางแผน พยายาม และกระทำ เพื่อให้เหตุการณ์สึนามิเป็นบทเรียนที่แท้จริง

แม้ผมทราบดีว่าความฝันกับความจริง บางทีมันอยู่ไกลกัน

แต่บางทีนะ...บางทีเราอาจเรียนรู้ บางทีเราอาจอยากคิดพาอันดามันไปข้างหน้า

ไปสู่โฉมใหม่ที่คนเข้าใจ เคารพ และอยู่ร่วมกับเธอ...อันดามัน

หากเป็นเช่นนั้น

อันดามันจะเป็นดินแดนที่งดงาม และจะให้ผลประโยชน์ประเมินค่ามิได้ ตลอดชั่วชีวิตของเรา ส่งทอดสืบต่อถึงลูกหลายอีกหลายสิบชั่วอายุคน...ครับ"


จากนั้น นายธรณ์กล่าวต่อว่า

"นั่นคือบทความที่เขียนเมื่อ 10 ปีก่อน เป็นบทบันทึกแห่งความทรงจำ

จนมาถึงวันนี้ วันที่ผ่านมา 10 ปี ทุกอย่างที่เคยเป็นโปรเจ็คสวยหรู แทบไม่เคยเห็น

ปะการังตายจากคลื่น ปะการังฟื้นขึ้นมาใหม่ ก่อนตายซ้ำด้วยฝีมือคน

การอนุรักษ์ยังวนเวียนอยู่กับที่ การท่องเที่ยวแบบไร้อนาคต ขนคนมาเหยียบย่ำธรรมชาติ ยังดำเนินต่อไป

10 ปีที่แทบไร้ความหวัง แทบจะสิ้นหว้งกว่าเมื่อก่อนด้วยซ้ำ

สิบปีที่ประเทศไทยไม่เคยไปถึงไหน จนผมเบื่อทีจะพูด เบื่อที่จะฟัง

จนมาถึงการผลักดันครั้งสุดท้าย “อันดามันมรดกโลก”

โครงการที่เริ่มต้นเมื่อ 10 ปีก่อน จากนั้นก็หยุดชะงัก

หยุดมา 10 ปี และอาจหยุดไปอีกนาน ตราบใดที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลง

ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ หากเรา “กล้า” ที่จะเปลี่ยนแปลง

เบื่อที่จะฟังคนอื่นใช่ไหม เบื่อที่จะรอคอยความหวังลมๆ แล้งๆ ต่อไป

ทำเองสิ !

วันจันทร์ที่ 29 ธันวาคม “อันดามันมรดกโลก” เข้าสู่การพิจารณา เป็นวาระเดียวของสภาปฏิรูปแห่งชาติ

ผมจะเดินหน้าพร้อมพกพาความฝันของตัวเองและเพื่อนๆ เมื่อ 10 ปีก่อน เข้าสู่สภา

แล้วเราจะได้รู้กันว่า ความฝันและความกล้า จะทำให้เกิด “ความจริง” ได้หรือไม่ ?

แล้วเราจะรู้กันครับ...”




กำลังโหลดความคิดเห็น