คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
“จุดคบไฟใต้” สัปดาห์นี้ต้องหยุดเขียนถึง “ข่าวร้าย” และ “ข่าวดี” ที่ปลายด้ามขวานไว้ก่อน แม้ว่าจะมีข่าวที่ “ไม่ (สู้ ) ดี” จากวงในว่า ในช่วงส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ “แนวร่วม” ขบวนการก่อการร้ายพวกนี้มีแผนในการป่วนครั้งใหญ่ มีการเตรียมการ (ระเบิด) ไว้จำนวนหนึ่งเพื่อสร้างความสูญเสียให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอคือ จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย ใน จ.สงขลา
เรื่องการป้องกันและการคืนความสุขให้แก่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นบททดสอบฝีมือของ พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ว่าจะเป็น “ปราการ” ในการป้องกันภัยอันตรายให้แก่ประชาชนได้หรือไม่
ดังนั้น เรื่องที่จะเขียนถึงในวันนี้คือเรื่อง “ร้อนๆ” ที่ร้อนและจะลุกเป็นไฟ ไม่น้อยหน้ากว่าเรื่องร้อนๆ ของเรื่องความไม่สงบที่ปลายด้ามขวาน ซึ่งร้อนมา 10 ปีแล้ว จนคนในพื้นที่รู้สึกหนาวยะเยือกต่อความโหดร้าย และความตายรายวันมากกว่าที่ร้อนลนไปแล้ว
เรื่องที่เห็นว่ากำลังจะร้อนกว่า และอาจจะร้อนไปทุกหย่อมหญ้าในภาคใต้นั่นคือ เรื่องของราคายางที่ร่ำๆ จะ อยู่ที่ “3 กิโลร้อย” ซึ่งแพงกว่า “ลูกเคย” แถว “บ่อยาง” นิดหน่อย
โดยเฉพาะหลังจากการเป็น “รัฎฐาธิปัตย์” ของประเทศโดยการทำ “รัฐประหาร” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีของประเทศ ซึ่งเป็น “คนกันเอง” กับคนใต้ เพราะกว่าจะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ได้นั้น คนใต้ส่วนใหญ่ภายใต้ชื่อ “กกปส.” คือ “พะอง” อย่างดีในการให้ พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิบัติการยึดคืนประเทศจากรัฐบาลของ “ยิ่งลักษณ์”
แต่ราคายางไม่เคยขยับสูงขึ้น มีแต่ตกต่ำ แถมซ้ำเติมคนใต้เพราะเกือบหลุดไปอยู่ที่กิโลละ 30 บาทอยู่มะรอมมะร่อ
ที่นี่เห็นด้วยต่อการออกมาเรียกร้องของทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม ต่อรัฐบาลเพื่อทำให้ราคายางสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ทั้งในฐานะของการมีเป็น “นักหนังสือพิมพ์” ที่ถูกสั่งสอนให้ยืนอยู่กับผู้ทุกข์ยาก และในฐานะที่เป็นชาวสวนยาง ที่เคยตัดยางจ้างเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ และเรียนหนังสือจนจบ จึงรู้ดีถึงความ “เสดสา” ของคนทำสวนยางกับราคายางในขณะนี้
ถ้าถามว่าอยู่กันได้ไหม ก็ตอบว่าไม่อดตายหรอก สำหรับคนที่มีสวนยาง และตัดยางเพื่อเลี้ยงตัวเอง และเลี้ยงครอบครัว แต่จะให้อยู่อย่างสุขสบายเหมือนราคายางกิโลละ 80-120 บาทเหมือนก่อนไม่ได้อีกแล้ว ส่วนใครที่มีภาระในการผ่อนรถยนต์ ผ่อนมอเตอร์ไซค์ ผ่อนบ้าน ผ่อนที่ดิน หรือผ่อนธนาคาร ถ้าไม่มีอาชีพเสริมก็เห็นที่จะต้องถูกยึดไปทีละอย่างๆ ซึ่งคงต้อง “ทำใจ” และต้องนั่ง “เจ็บเบ็ดหัว” แบบเดียวกับรูปภาพที่ซองยา “ทัมใจ” ของคู่กายของคนตัดยางยุคเก่าก่อนที่จะมี “ลิโพ” และ “กระทิง” นั่นแหละ
แต่ที่เห็นต่างกับผู้เรียกร้องทุกกลุ่มคือ ไม่ว่าการเรียกร้องอะไรก็ตาม ต้องอยู่บนข้อเท็จจริงให้มากที่สุด ซึ่งวันนี้สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับในข้อเท็จจริงคือ ประเทศไทยมีการปลูกยางมากขึ้น จากในอดีตที่ปลูกกันเฉพาะในภาคใต้ และภาคตะวันออกไม่กี่จังหวัด วันนี้เหนือ และอีสานเต็มไปด้วยสวนยางพารา และประเทศอื่นๆ ที่ภูมิอากาศมีความเหมาะสมในการปลูกยางได้ ก็ปลูกยางเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมของประเทศเขา
ที่สำคัญก็ต้องยอมรับความจริงว่า ยางของประเทศไทยใช้เองนิดเดียว ที่เหลือเป็นการส่งออก ทั้งในรูปแบบน้ำยางสด ยางรมควัน ยางแท่ง และอื่นๆ ดังนั้น การกำหนดราคาจึงเป็นการกำหนดจาก “ผู้ซื้อ” หาใช่จาก “ผู้ขาย” ที่เป็นเจ้าของผลผลิตไม่ ในอดีตหลายคนคงเคยเห็นพ่อค้ายางต้องนั่ง “เงี่ยหู” ฟังราคายางทางวิทยุจากประเทศสิงคโปร์ทุกวันๆ ละ 2 -3 รอบ เพื่อที่จะรู้ราคายาง
และที่กลายเป็นเรื่อง “ผีซ้ำด้ำพลอย” ของชาวสวนยางอีกอย่างคือ ในช่วง 2 ปีนี้เศรษฐกิจโลกทรุดเอาๆ และการทรุดเอาๆ นี้ได้พาพาราคายางของเราทรุดตามไปด้วย เมื่อประกอบกับ “กลไก” และ “กับดัก” รวมทั้ง “เล่ห์เหลี่ยม” ของพ่อค้าคนกลางที่อาจจะ “ยักคิ้ว” กับนักการเมืองเพื่อร่วมมือกันในการ “ค้ากำไร” ยิ่งเป็นการซ้ำเติมชาวสวนยางให้ผอมลงๆ ในขณะที่พ่อค้า และนักการเมืองอ้วนขึ้นๆ
แต่ไม่ว่าจะมีปัญหา หรืออุปสรรคอย่างไร หน้าที่ของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน เมื่อเข้ามาบริหารประเทศแล้วจะปัดความรับผิดชอบ โดยอ้างเอาปัญหา และอุปสรรคมาเป็นตัวตั้งเพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
ราคายางที่เหมาะสมในวันที่ปัญหาเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นต้องไม่ต่ำกว่า 60-65 บาทต่อกิโลกรัม เพราะจะเป็นราคาที่ทำให้ชาวสวนยาง “อยู่รอด” ก่อน ส่วนเมื่ออยู่รอดแล้วจะ “อยู่ดี” ก็ต้องรอการแก้ปัญหาในรูปแบบที่ยั่งยืน เช่น เรื่องการจัดตั้ง “เมืองยาง” การส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ การตั้งโรงงานอุตสาหกรรม และอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องของอนาคตที่อาจจะเป็นไปได้ หรืออาจจะ “ล้มเหลว” อีกก็ได้
ดังนั้น วันนี้จึงอยากเห็นความเป็น “เอกภาพ” ของชาวสวนยางในภาคใต้ที่ขยับขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน และอย่า “ฝัน” หรือภาษาสมัยใหม่ที่เรียกว่า “มโน” ในการเรียกร้องให้รัฐบาลทำให้ยางมีราคา 120 บาทต่อกิโลกรัม เพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก และเชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้ยอม “แตกหัก” กับ “คนกันเอง” ทั้งที่เป็นชาวสวนยาง และอาชีพอื่นๆ ถ้ามีการเรียกร้องจนเกิดขอบเขต ซึ่งไม่ใช่ผลดี ไม่ว่าจะเป็นกับชาวสวนยาง และกับประเทศชาติ
เราต้องยอมรับว่า ในอดีตนั้นยางพาราคือ “พืชการเมือง” และคนทำสวนยางคุ้นเคยกับวิธีการทำให้ยางราคาแพงด้วยการ “ปิดถนน” เพื่อประท้วง “บีบ” ให้รัฐบาลขึ้นราคายางในรูปแบบต่างๆ จนสุดท้ายในปลายสมัยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จึงมี “ชะอวดโมเดล” เกิดขึ้น ส่วน “ทุ่งยางแดงโมเดล” นั้นเป็นการเลียนแบบเอาไป..ฮา
ดังนั้น “อาวุธ” ที่ชาวสวนยางใช้เพื่อให้ยางมีราคาดีคือ การประท้วง ปิดถนนเพื่อ “บีบ” ให้รัฐบาลหรือนักการเมืองทำให้ราคายางแพงขึ้น ซึ่งเป็นการใช้เงินภาษีมารับซื้อ มาพยุงราคา มาประกันราคา ซึ่งสุดท้ายก็คือการ “ซื้อแพง” แล้ว “ขายถูก” และมีการ “เผา” เพื่อทำลายการทุจริต ไม่แตกต่างจากเรื่อง “ข้าว” ของยิ่งลักษณ์ที่เกิดขึ้น
ดังนั้น ที่ผ่านมาหลายสิบปีชาวสวนยางจึงไม่ได้ศึกษา ค้นคว้า เรียนรู้เรื่องความเป็นมาและเป็นไปของอาชีพการทำสวนยาง ไม่รับรู้ความเป็นไปของเรื่อง อุปสงค์-อุปทาน หรือเรื่อง ดีมานด์-ซัปพลาย เรื่องความตกต่ำของเศรษฐกิจยิ่งเป็นเรื่องไกลตัว วิธีคิดอย่างเดียวคือ ถ้าต้องการให้ราคายางแพงก็ต้อง “ปิดถนน” ประท้วง
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลทุกรัฐบาลก็ไม่เคยให้ความรู้ หรือความเข้าใจแก่ชาวสวนยางว่า ในอนาคตราคายางจะเป็นไปในทิศทางไหน ยังเหมะต่อการลงทุนขยายพื้นที่หรือไม่ หรือชาวสวนยางจะต้องลงต้นทุนในการทำสวนยางอย่างไร จะเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น และเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์อย่างไร เพื่อให้สอดคล้องต่อความเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมทั้งไม่เคยผลักดันโครงการใหญ่ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาให้แก่ชาวสวนยาง
ขณะนี้หลายๆ ประเทศ เช่น อเมริกา เยอรมนี และอื่นๆ ได้ทุ่งเงินในการวิจัยและพัฒนาสายพันธ์ของพืชล้มลุกที่ชื่อว่า “เคนดิไลออน” ซึ่งเป็นพืชที่มีคุณสมบัติในการให้ “น้ำยาง” เช่นเดียวกับยางพารา จนขณะนี้พืชชนิดนี้สามารถให้ผลตอบแทน 1,500 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 เฮกตาร์ ซึ่งผลผลิตนี้พอๆ กับผลผลิตที่ดีที่สุดของยางในภูมิภาคเอเชีย แม้แต่ “บริดจสโตน” บริษัทยักษ์ใหญ่ในเรื่องยางรถยนต์ก็ให้ทุนในการวิจัย และตัดต่อพันธุกรรมพืชชนิดนี้ ซึ่งเชื่อว่า ในอนาคตคือคู่แข่งของผู้ปลูกยาง
เรื่องของพืช “เดนดิไลออน” เท็จจริงอย่างไร กรมวิชาการเกษตร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเคยบอกเล่าเก้าสิบให้ชาวสวนยางทราบมากน้อยแค่ไหน
ดังนั้น จึงมีคำถามว่าทุกวันนี้ชาวสวนยาง “ตั้งรับ” อย่างไรต่อ “ข่าวร้าย” ที่อาจจะมีผลกระทบต่อชาวสวนยาง เช่น “ข่าวดี” เรื่องน้ำมันลงราคา ซึ่งขณะนี้ถ้าเอาความจริงมาพูด น้ำมันดีเซลควรอยู่ที่ลิตรละ 24 บาท และหากน้ำมัน “รูดทะราด”ลงมาที่บาร์เรลละ 45 เหรียญ น้ำมันดีเซลบ้านเราจะอยู่ที่ลิตรละ 20 บาท และตระกูลเบนซิล โซฮอลล์ ไม่เกิน 25 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็น “ข่าวดี” ของภาคการผลิต และผู้ใช้รถยนต์ เพราะต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมและขนส่งถูกลง แต่หมายความว่าสินค้าทุกชนิดต้องถูกลงด้วย จึงจะถือว่าเป็น “ข่าวดี”
แต่ “ข่าวดี” เรื่องราคาน้ำมันที่ถูกลงจะเป็น “ข่าวร้าย” ของเกษตรกรชาวสวนยาง สวนปาล์ม ไร่อ้อย และมันสำปะหลัง เพราะถ้าราคาน้ำมันถูกลงขนาดนี้ ยางสังเคราะห์ที่เกิดจากกระบวนการผลิตน้ำมันก็ถูกแบบ “รูดทะราด” ด้วย เมื่อยางสังเคราะห์ถูก การใช้ยางพาราในกระบวนการผลิตก็น้อยลง และเมื่อราคาของ “ดีเซล” ถูกกว่าน้ำมันปาล์ม แล้วโครงการดีเซลบี 7 คือ การใช้น้ำมันปาล์มผสมในน้ำมันดีเซลจะมีการยกเลิกหรือไม่ และหากยกเลิกจะส่งผลกระทบต่อผู้ปลูกปาล์มน้ำมันหรือไม่
ถ้าน้ำมันเบนซินที่มีราคาถูกลง หมายถึงถูกกว่า เอทานอล จะมีผลกระทบต่อการใช้เอทานอลมาผสมในน้ำมันจำพวก “โซฮอล์” อีกหรือไม่ และหากมีการใช้น้อยลง ชาวไร่อ้อยและชาวไร่มัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ผลิตเอทานอลจะได้รับผลกระทบหรือไม่
เหล่านี้ล้วนเป็น “ข่าวร้าย” สำหรับอนาคตของเกษตรทั้งสิ้น และถามว่าวันนี้มีหน่วยงานไหนบอกแก่ประชาชนที่เป็นชาวสวน ชาวไร่เหล่านี้แล้วยัง รวมทั้งเจ้าของอาชีพเองอย่างชาวสวนยาง สวนปาล์ม ไร่มัน ไร่อ้อย รู้เรื่องและเห็นถึง “ข่าวร้าย” ที่อาจจะเกิดขึ้นแล้วหรือยัง
เรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีออกมา “สื่อสารข้างเดียว” ทุกค่ำวันศุกร์เป็นเรื่องดี เป็นเรื่องที่ถูกต้องที่บอกให้สาวสวนยางลดพื้นที่การปลูกยาง หรือการจัด “โซนนิ่ง” ของพืชเกษตรทั้งประเทศ เพื่อแก้ปัญหาในอนาคต
แต่เกษตรกรโดยเฉพาะชาวสวนยางภาคใต้เขาถามว่า ถ้าโค่นยางทิ้ง หรือลดพื้นที่การปลูกยาง จะให้เขาปลูกอะไร ในเมื่อลองกองก็กิโลละ 5 บาท มังคุดค่าจ้างเก็บแพงกว่าราคาขาย ส่วนปาล์มก็เหมาะต่อ “นายทุน” ที่มีพื้นที่เป็นร้อยเป็นพันไร่ ถ้าไม่ให้เขาปลูกยางแล้วจะไปปลูกอะไร ตรงนี้ต่างหากที่ต้อง “ชัดเจน”
และที่สำคัญ นายกรัฐมนตรีพูดคนเดียวไม่ได้ หน่วยงานของรัฐต้อง “ขับเคลื่อน” ด้วย แต่นี่ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีออกมา “ติวเข้ม” เหมือนกับ “ครูใหญ่” ยังไม่เห็นหน่วยงานของรัฐออกมาสนองเพื่อให้เป็นจริงเป็นจังแต่อย่างใด
สิ่งสำคัญ วันนี้ชาวสวนยางต้องอยู่กับความเป็นจริง ต้องรับรู้ว่ายางราคา 180 บาทอย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อนไม่น่าจะเกิดขึ้นอีกแล้ว แม้แต่ราคา 120 บาท ตามที่เรียกร้องก็ยากที่จะเกิด และราคายางได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ตามที่ “อำนวย ปะติเส” รมช.เกษตรและสหกรณ์ออกมาพูดคือเรื่องจริง ดังนั้น ต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทุ่มเทงบประมาณทั้งไล่ซื้อยางนำตลาด และอื่นๆ ราคายังไม่น่าจะเกิน 60 บาท
ดังนั้น ชาวสวนยางต้องปรับตัว ต้องอยูให้ได้กับราคานี้ การปรับตัวมีหลายรูปแบบ ซึ่งต้องมีการศึกษา และดูจากผู้อื่นที่เขาอยู่ได้ว่า เขามีวิธีการลดต้นทุนของปุ๋ยอย่างไร ลดต้นทุนของยาปราบศัตรูพืชอย่างไร เพิ่มผลผลิตอย่างไร และใช้พื้นที่ที่มีอยู่ในการสร้างอาชีพเสริมอย่างไร ทำไมเกษตรการบางคนจึงเลี้ยงแพะ เลี้ยงวัว ปลูกพืชชนิดอื่นเพื่อเป็นรายได้เสริมได้ ในขณะที่คนส่วนหนึ่งไม่เคยคิดที่จะทำ แต่ใช้เวลาที่เหลืออยู่ไปทำในสิ่งที่ไร้ประโยชน์ ซึ่งวันนี้เป็นวันที่ชาวสวนยางต้องคิด และต้องทำ เพราะมันหมดยุคของการ “ปิดถนน” เพื่อให้ยางราคาแพงอีกต่อไป
แต่อย่างไรก็ตาม ผลดีที่เกิดขึ้นต่อการตกต่ำของราคายางในครั้งนี้คือ ทำให้ทั้งพม่า ลาว และเขมรที่เป็นลูกจ้างในส่วนยาง พากันลาออกจากการเป็นลูก “กุลี” ตัดยางจ้างกลับบ้านกลับเมือง หรือไปหาอาชีพใหม่ เพราะอยู่กับยางไม่พอกิน ทำให้ปัญหาแรงงานเถื่อนหายไป โดยไม่ต้องปราบปราม และเป็นการเฉลี่ยความจนให้แก่เจ้าหน้าที่หลายหน่วยที่เก็บ “ค่าหัว” ของคนเถื่อนเหล่านี้อย่างถ้วนหน้า ไม่แพ้เจ้าของสวนยาง
นี่คงเป็น “ความยุติธรรม” ในยุคของ “การคืนความสุขให้แก่ประชาชน” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทโอชา นายกรัฐมนตรีที่เป็น “คนกันเอง” กับคนภาคใต้โดยเฉพาะกระมัง?!