ตรัง - เครือข่ายประมงพื้นบ้าน บุกพบผู้ว่าฯ ตรัง ข้องใจโครงการติดแท็กพะยูน เพื่อศึกษาพฤติกรรมความเป็นอยู่ในทะเล ด้านอุทยานหาดเจ้าไหม ยันทุกอย่างโปร่งใส และไม่เป็นอันตรายต่อพะยูน
วันนี้ (16 ธ.ค.) ตัวแทนจากเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง สมาคมหยาดฝน มูลนิธิอันดามัน เครือข่ายคนรักษ์เล ตรัง กระบี่ สตูล รวมประมาณ 30 คน นำโดย นายอิสมาแอล เบ็ญสะอาด นายไมตรี วิเศษศาสตร์ และนายแสวง ขุนอาจ ได้มีประชุมร่วมกับ นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง และนายมาโนช วงษ์สุรีย์รัตน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เพื่อขอคำชี้แจงกรณีที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และทีมนักวิจัยไทย-ญี่ปุ่น นำโดย ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดภูเก็ต กำลังดำเนินโครงการติดแท็กแซตเตอร์ไลต์พะยูน เพื่อศึกษาพฤติกรรมความเป็นอยู่ รวมทั้งแหล่งอาหารหญ้าทะเล และเส้นทางการอพยพย้ายถิ่นบริเวณท้องทะเลตรัง ซึ่งเป็นแหล่งที่มีหญ้าทะเล และมีพะยูนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
นายอิสมาแอล เบ็ญสะอาด หนึ่งในแกนนำ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มประมงพื้นบ้านที่อาศัยฐานทรัพยากรในพื้นที่ทำกิน ซึ่งเกรงว่าการดำเนินการของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อวิถีวงจรชีวิตพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์อนุรักษ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ มีสถิติการตายต่อเนื่อง และอาจทำให้พะยูนย้ายถิ่นฐานออกไปจากจังหวัดตรัง โดยไม่อยากให้กลายเป็นเรื่องของผลประโยชน์ หรืออ้างการศึกษาวิจัยชีวิตพะยูน เพื่อเป็นโครงการดึงงบประมาณมหาศาล แต่ผลที่ได้รับกลับไม่คุ้มค่าต่อการกระทำ เพราะจังหวัดตรังต้องสูญเสียทรัพยากร ซึ่งเป็นมรดกของลูกหลาน และเป็นของคนทั้งชาติ เพียงเพื่อผลประโยชน์ของคนเพียงไม่กี่กลุ่ม
ดังนั้น โครงการติดแท็กแซตเตอร์ไลต์พะยูน ควรมีวิธีการจัดการที่ชัดเจน รัดกุม และรบกวนพะยูนให้น้อยที่สุด เพราะอาจเกิดการผิดพลาด ทำให้พะยูนบาดเจ็บ เกิดการติดเชื้อ และตายไปในที่สุด ซึ่งพวกตนอยากถามว่า ใครจะรับผิดชอบหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น เนื่องจากตลอดช่วงที่ผ่านมา พะยูนก็ตายลงอย่างต่อเนื่องจนยากที่จะควบคุมอยู่แล้ว จึงขอเรียกร้องให้ทุกหน่วยงานมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ซึ่งก่อนหน้านี้ เคยมียุทธศาสตร์จังหวัดตรัง เพื่อจัดทีมพิทักษ์พะยูนและสัตว์ทะเล แต่ก็ยังไม่ผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ยังมีการปล่อยปละละเลย ให้มีเครื่องมือประมงผิดกฎหมายลักลอบทำประมงแบบล้างผลาญ ส่วนประมงพื้นบ้านก็ไร้การเหลียวแล มีแต่หวังจะหาผลประโยชน์จากทรัพยากร โดยเฉพาะพะยูน ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดตรัง
ด้าน นายมาโนช วงษ์สุรีย์รัตน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม กล่าวว่า ก่อนที่จะดำเนินการโครงการดังกล่าว ตนได้มีการคัดสรรบุคลากรที่เป็นมืออาชีพมาร่วมทีม มีการศึกษาวิจัย วางแผนการทำงาน รัดกุม รอบคอบทุกด้าน และยืนยันว่า หากสำเร็จจะเป็นโครงการที่มีประโยชน์มหาศาล เพราะจะเป็นเครื่องมือในการศึกษาวิจัยวงจรชีวิต ทราบถึงแหล่งอยู่อาศัย และเอื้อต่อการกระบวนอนุรักษ์พะยูนต่อไป โดยจะไม่เป็นอันตรายต่อพะยูน ทำให้บาดเจ็บ หรือล้มตายจากสาเหตุนี้ ซึ่งตนจะมีการเขียนรายละเอียดทุกอย่างเป็นเอกสารเพื่อแจกจ่ายให้แก่ทุกฝ่ายที่สนใจ แต่คงไม่สามารถเปิดเผยทุกขั้นตอนได้ เพราะเกรงผู้ที่ไม่หวังดี หรือกลุ่มล่าสัตว์ทะเลล่วงรู้วิธีการและอาจเป็นภัยต่อทรัพยากรเหล่านี้ได้ ส่วนการอนุรักษ์พะยูนให้ได้ผล จะต้องจัดการกับเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย รวมทั้งจัดโซนนิ่งแหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูน และสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
ส่วน นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า ต่อไปนี้ตนจะสั่งให้ดำเนินการต่อผู้ที่ทำประมงผิดกฎหมายทุกชนิด โดยใช้วิธีการทางกฎหมาย และจะไม่ผ่อนผันอีกต่อไป เพราะได้คุยเรื่องนี้การมานานแล้ว พร้อมยอมรับว่า หลังจากที่ตนมาดำรงตำแหน่ง 2 ปี ยังไม่เคยมีผู้ใดร้องของบประมาณจากทางจังหวัด เพื่อจัดการอนุรักษ์พะยูนแบบจริงจัง ทั้งที่ทางจังหวัดมีแผน หรือยุทธศาสตร์จัดการทรัพยากรสัตว์น้ำอยู่แล้ว และพร้อมจะดำเนินการทันที หากหน่วยงานส่วนภูมิภาคร้องขอ หรือให้กลุ่มต่างๆ ไปหารืองบประมาณผ่านทางอำเภอเพื่อนำเสนอเป็นโครงการตามขั้นตอน สำหรับโครงการติดแท็กแซตเตอร์ไลต์พะยูนนั้น ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี เพื่อที่จะสามารถทราบถึงวงจรพะยูน แต่ต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมด้วย