xs
xsm
sm
md
lg

ประมงพื้นบ้านตรังจี้กรมอุทยานฯ เลิกติดตั้งเครื่องติดตามพะยูน หวั่นคุกคามชีวิตสัตว์หายาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - กลุ่มชมรมประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง ยังข้องใจโครงการติดแท็กสัญญาณดาวเทียมพะยูน 3 ตัว เกรงสร้างผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายาก ด้านหัวหน้าอุทยานฯ หาดเจ้าไหม ยืนยันทุกอย่างทำถูกต้อง

วันนี้ (7 ม.ค.) ที่มูลนิธิอันดามัน อ.เมือง จ.ตรัง คณะกรรมการชมรมประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง กว่า 30 คน นำโดย นายอะเหร็น พระคง ประธานชมรมประมงพื้นบ้าน นายอิสมาแอล เบ็ญสะอาด นายไมตรี วิเศษศาสตร์ นายแสวง ขุนอาจ ร่วมกับ นายสิงห์สยาม มุกดา ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์เมืองตรัง ได้จัดเวทีซักถาม นายมาโนช วงศ์สุรีย์รัตน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง ต่อกรณีที่อุทยานฯ และทีมนักวิจัยไทย-ญี่ปุ่น นำโดย ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต ได้ดำเนินโครงการติดแท็กสัญญาณดาวเทียมพะยูน จำนวน 3 ตัว เพื่อศึกษาพฤติกรรมความเป็นอยู่ รวมทั้งแหล่งอาหารหญ้าทะเล และเส้นทางการอพยพย้ายถิ่นบริเวณท้องทะเลตรัง

 
สำหรับการเปิดเวทีครั้งนี้ มี นายสนิท องศารา ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 5 (นครศรีธรรมราช) พร้อมเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติ เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย ขณะที่คณะกรรมการชมรมประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง ต่างมีการแสดงความเห็นที่หลากหลาย และแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยต่อการติดแท็กพะยูน พร้อมยื่นข้อเสนอให้มีการยุติโครงการดังกล่าวทันที เพราะเกรงเกิดผลกระทบต่อพะยูนมากไปกว่านี้ เนื่องจากเห็นว่าเครื่องมือที่นำมาติดที่ส่วนหางของพะยูนนั้นต้องผูกติดอยู่ตลอดเวลา กลายเป็นการทรมานสัตว์ให้ไม่สามารถใช้ชีวิตตามธรรมชาติได้ อีกทั้งมีชาวบ้านพบเห็นพะยูนบางตัวป่วย และบาดเจ็บ ซึ่งคาดว่าสาเหตุอาจจะมาจากโครงการดังกล่าว โดยทางคณะกรรมการชมรมประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง มีมติให้ย้าย นายมาโนช วงษ์สุรีย์รัตน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ออกจากพื้นที่ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้

ด้าน นายอิสมาแอล เบ็ญสะอาด กรรมการชมรมประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง กล่าวว่า ขอให้ยุติโครงการทั้งหมดไว้ก่อนแล้วค่อยหาทางออกร่วมกันเพื่อหาวิธีที่จะอนุรักษ์พะยูนให้คงอยู่ต่อไป แต่หากทางอุทยานฯ ยังไม่ยอมฟังเสียงประชาชน ทางชมรมจำเป็นต้องเดินหน้าทุกรูปแบบเพื่อกดดันให้ยุติโครงการนี้

 
ขณะที่ นายอะเหร็น พระคง ประธานชมรมประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง กล่าวว่า สิ่งที่ชมรมออกมาเคลื่อนไหวนั้นไม่ได้ต้องการต่อรองเรื่องงบประมาณแต่อย่างใด เพียงแค่ต้องการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พะยูนอย่างจริงจัง และชมรมได้ดำเนินการดูแลทรัพยากรธรรมชาติในท้องทะเลตรังมาอย่างยาวนาน โดยไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ มีการใช้เงิน และอุปกรณ์ส่วนตัวตลอดมา เพราะทุกคนคิดว่าทะเล และทรัพยากรมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก

ด้าน นายมาโนช วงษ์สุรีย์รัตน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง กล่าวชี้แจงว่า ก่อนที่ตนและทีมงานจะดำเนินโครงการติดแท็กดังกล่าว ได้มีการศึกษาค้นคว้าวิเคราะห์ข้อมูลรอบด้าน และวิธีการที่ใช้ก็เป็นรูปแบบเดียวกับที่หลายประเทศยอมรับ ส่วนงบประมาณที่ใช้ในโครงการนี้ก็เป็นงบประมาณยุทธศาสตร์ จ.ตรัง ประมาณ 20 ล้านบาท ซึ่งตนได้ทำเป็นรายงานไว้ทั้งหมดว่ามีค่าใช้จ่ายอย่างไร พร้อมที่จะให้ทุกคนได้พิสูจน์ว่าสิ่งที่ได้กระทำนั้นนับเป็นประโยชน์ โดยจะทำให้ได้ทราบถึงวงจรชีวิตพะยูนเพื่อหาทางอนุรักษ์ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสร็จสิ้นจากการประชุม ทางคณะกรรมการชมรมประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จะร่วมกันลงสำรวจพื้นที่ทะเลตรัง เพื่อตรวจสอบดูว่าพะยูนตัวที่ถูกติดแท็กนั้นดำรงชีวิตอยู่อย่างไรในขณะนี้
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น