ตรัง - อธิบดีกรมอุทยานฯ สั่งปลดแท็กพะยูน 3 ตัว ประมงพื้นบ้านฯ ยอมรับพอใจระดับหนึ่ง จากนี้จะบูรณาการร่วมกันอนุรักษ์ฯ ด้านหัวหน้าอุทยานฯ แห่งชาติเจ้าไหม จ.ตรัง ชี้น่าเสียดายเสียโอกาสข้อมูลทางวิชาการ
จากกรณีที่ชมรมประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง และเครือข่ายออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการติดแท็กสัญญาณดาวเทียมพะยูน 3 ตัว นายมาโนช วงษ์สุรีย์รัตน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง พร้อมทีมงานดำเนินการมาตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2557 โดยขอให้ยุติโครงการฯ เนื่องจากเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลอนุรักษ์ของ จ.ตรัง ไม่คุ้มกัน อีกทั้งโครงการฯ ดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน
ทั้งนี้ ตลอดเดือนเศษที่ผ่านมา ชมรมประมงพื้นบ้านมีการเคลื่อนไหวทุกรูปแบบ ทั้งการเข้าพบนายสมศักดิ์ ปริสุทโธ เหมทานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ในฐานะผู้อนุมัติงบประมาณยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดเพื่อสนับสนุนโครงการฯ และการทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอธิบดีกรมอุทยานฯ ร่วมถึงกรมทรัพยากรฯ
จนล่าสุด วันนี้ (12 ม.ค.) ที่มูลนิธิอันดามัน อ.เมืองตรัง นายมนภัทร วังศานุวัตร์ ผอ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตรัง นายสนิท องศารา ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 5 (นครศรีธรรมราช) นายมาโนช วงศ์สุรีย์รัตน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง ประชุมร่วมกับแกนนำประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง เช่น นายอะเหร็น พระคง ประธานชมรมประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง นายอิสมาแอล เบ็ญสะอาด นายไมตรี วิเศษศาสตร์ นายแสวง ขุนอาจ พร้อมคณะกรรมการฯประมาณ 30 คน โดยการประชุมครั้งนี้ใช้เวลากว่า 2 ชม. จนมีมติร่วมกันว่า จะมีการยุติโครงการดังกล่าวไว้ก่อน และจะมีการเร่งรีบปลดแท็กพะยูนทั้ง 3 ตัวทันทีหากทุกอย่างพร้อม
นายอิสมาแอล เบ็ญสะอาด กรรมการชมรมประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง กล่าวว่า มติที่ประชุมครั้งนี้เป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่ง เบื้องต้นกำหนดให้วันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคมนี้ ทุกฝ่ายจะร่วมกันลงทะเลตรังเพื่อค้นหาพะยูนปลดแท็กดาวเทียมออก จากนั้นจะมีการร่วมกันคิดใหม่โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนบูรณาการร่วมกันถึงแนวทางการอนุรักษ์พะยูนต่อไป
ด้าน นายมนภัทร วังศานุวัตร์ ผอ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตรัง กล่าวว่า หลังจากนี้ทุกฝ่ายก็จะทำงานร่วมกันโดยจะรีบดำเนินการโดยเร็วที่สุด ทุกอย่างต้องทำความเข้าใจกับประชาชน หากประชาชนไม่ยอมรับก็ต้องเคารพเพราะประชาชนคือเจ้าของทรัพยากร และต้องปลดแท็กออกเพื่อให้เกิดความสบายใจทั้งสองฝ่าย
ส่วนด้าน นายมาโนช วงษ์สุรีย์รัตน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง กล่าวว่า อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ มีคำสั่งเป็นหนังสือให้ยุติโครงการฯ นี้ไว้ก่อน ซึ่งตนก็ต้องดำเนินการตามนั้น แต่คิดว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่เราต้องเสียโอกาสเข้าถึงข้อมูลทางวิชาการเพื่อให้ทราบวงจรชีวิตของพะยูนในช่วงเวลาที่กำหนดตามโครงการไว้แล้ว ส่วนแนวทางหลังจากนี้ตนไม่สามารถบอกได้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ต้องรอว่าแนวทางที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้จะเป็นรูปแบบใด โดยงบประมาณที่ใช้จ่ายไปแล้วในการดำเนินโครงการฯ เกือบ 2 ล้าน