xs
xsm
sm
md
lg

รมช.ศึกษาฯ ระดมสมองแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์” รมช.ศึกษาฯ ลงใต้ ระดมสมองแก้ปัญหาการศึกษาในพื้นที่ 5 ชายแดนใต้ หลังจากพบมี “ผลสัมฤทธิ์ต่ำ” เผยการก่อสร้างโรงเรียนที่ถูกเผาเป็นไปอย่างล้าช้า เนื่องจากมีปัญหาด้านการจัดสรรงบประมาณ เน้นเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยกลุ่มเป้าหมายอ่อนแอ

วันนี้ (8 ธ.ค.) ที่ห้องประชุมโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย อ.หาดใหญ่ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษายังต่ำกว่าภูมิภาคอื่น และรับฟังความคิดเห็นจากผู้บริหารในพื้นที่ มี ดร.สุทธศรี วงศ์สมาน ปลัดกระทรวงฯ ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการ สพฐ. นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการ กศน. ดร.ธีรศักดิ์ รัตนะ รองเลขาธิการ สช.และผู้บริหารการศึกษาในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกสังกัดเข้าร่วมประมาณ 60 คน โดยมีนายศราวุธ อรรถานุรักษ์ ปฏิบัติหน้าที่ ผอ.สำนักงานศึกษาธิการภาค 12 กล่าวรายงาน

พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า การพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสนับสนุนการแก้ปัญหามีเป้าหมายหลัก คือ การพัฒนาการศึกษาให้เหมาะสมต่อพื้นที่ และมีมาตรการรักษาความปลอดภัยครู และบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ปรับแผนให้มีความสอดคล้องต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนการพัฒนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เห็นผลภายใน 1 ปี

นายศราวุธ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดให้การแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นนโยบายเร่งด่วน โดยน้อมนำกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นหลักในแนวทางสันติวิธี โดยเน้นการส่งเสริมความร่วมมือในทุกภาคส่วนกับประชาชน เพิ่มโอกาสทางการศึกษา และคุณภาพชีวิต สร้างโอกาส และความเสมอภาค พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่
นายศราวุธ กล่าวเสริมว่า ในขณะนี้ได้ดำเนินการให้สอดคล้องต่อการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ดำเนินงานการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นไปตามแผนบูรณาการของ คปต.และแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้

รายงานข่าวว่า ในที่ประชุมได้รายงานการขยายผลสื่อทางไกลผ่านดาวเทียมในโรงเรียนขนาดเล็ก 365 โรง แต่โรงเรียนขนาดกลางที่มีนักเรียนตั้งแต่ 121-500 คน ยังขาดแคลนสื่อการเรียนการสอน และบางโรงเรียนขาดครูในวิชาเอกสำคัญ ซึ่งส่วนมากอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร และเสี่ยงภัย จึงควรพิจารณาดำเนินการสื่อทางไกลผ่านดาวเทียม

ส่วนความคืบหน้าการซ่อมแซมสร้างอาคารเรียนชั่วคราวโรงเรียนที่ถูกลอบวางเพลิงใน อ.ทุ่งยางแดง 5 แห่ง และที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 6 แห่ง มีปัญหาจากการจัดสรรงบประมาณ โดยกำหนดแบบรูปรายการเฉพาะ ทำให้การดำเนินการล่าช้า ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมได้น้อยมาก เพราะเป็นงานจ้าง ฝนตกทำได้ไม่เต็มที่ มีการข่มขู่ ห้ามทำงานในวันศุกร์ และกลางคืน

รายงานข่าวว่า มาตรการรักษาความปลอดภัยครู นักเรียน นักศึกษา และสถานศึกษา จากสถานการณ์ปัจจุบันการก่อเหตุความรุนแรงในภาคการศึกษามี การลอบทำร้ายครู นักเรียน นักศึกษา เผาทำลายโรงเรียน และทรัพย์สิน ผู้ที่ถูกกระทำได้แก่เป้าหมายอ่อนแอ นักเรียน โดยได้เพ่งเล็งไปที่กลุ่มไทยพุทธ หรือบุคคลที่สัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือรักษาความสงบเรียบร้อย ดังนั้น จึงควรมีมาตรการรักษาความปลอดภัยครู นักเรียน สถานศึกษาเพิ่ม


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น