นิด้าโพล เผย 6 เดือน คสช.พบชาวบ้าน 49.28% มีความสุขเพิ่ม รู้สึกปลอดภัยขึ้น 55.11% ดีใจบ้านเมืองสงบไม่มีเหตุวุ่นวายทางการเมือง และ 28.43% ยังไม่พบประเด็นใดที่ทำให้ไม่มีความสุข
วันนี้ (23 พ.ย.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นเรื่อง 6 เดือน คสช.กับการคืนความสุขให้คนในชาติ จากประชาชนทั่วประเทศ 1,252 หน่วยตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 49.28 มีความสุขเพิ่มขึ้น เพราะรู้สึกปลอดภัยที่มีเจ้าหน้าที่ออกมาดูแลความปลอดภัยในบางพื้นที่ ทำให้บ้านเมืองมีความสงบ เป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น คณะ คสช.มีมาตรการที่สามารถคลี่คลายปัญหาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เช่น ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน การช่วยเหลือเกษตรกร และความวุ่นวายทางการเมือง เป็นต้น ร้อยละ 41.69 มีความสุขเท่าเดิม เพราะยังมีปัญหาทางสังคมเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ เช่น ปัญหาการก่ออาชญากรรม ปัญหายาเสพติด ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาวะเศรษฐกิจยังเหมือนเดิม การแก้ไขปัญหายังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ร้อยละ 8.79 มีความสุขลดลง เพราะ การใช้อำนาจในการบริหารบ้านเมืองทำให้ประชาชนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ ไม่มีการแก้ไขปัญหาทางสังคมที่เด็ดขาด ราคายางพาราและราคาข้าวตกต่ำ เศรษฐกิจไม่ดี และค่าครองชีพแพง และ ร้อยละ 0.24 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อถามว่า คิดว่า 6 เดือนของ คสช.มีประเด็นใดที่ทำให้ท่านมีความสุขมากที่สุด ร้อยละ 55.11 บ้านเมืองสงบเรียบร้อยไม่มีความวุ่นวายทางการเมือง ร้อยละ 14.86 ไม่มีประเด็นใดที่ทำให้มีความสุข ร้อยละ 7.19 การจัดระเบียบสังคม เช่น การจัดระเบียบทางเท้า การจัดระเบียบชายหาด ร้อยละ 5.51 การมุ่งแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ร้อยละ 4.87 การแก้ไขปัญหาปากท้องเกษตรกร ร้อยละ 3.99 การแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ร้อยละ 2.64 การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม ร้อยละ 2.24 การมีเสรีภาพมากขึ้น ร้อยละ 2 การแก้ไขปัญหาค่าครองชีพประชาชน ร้อยละ 0.88 อื่นๆ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาการศึกษา การบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน ปัญหาพื้นที่ดินทำกินทับซ้อนพื้นที่ป่าสงวนและปัญหาแหล่งพลังงาน และร้อยละ 0.72 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อถามว่า คิดว่า 6 เดือนของ คสช.มีประเด็นใดที่สำคัญที่สุดที่ยังไม่ทำให้ท่านมีความสุข ร้อยละ 28.43 ไม่มีประเด็นใดที่ไม่มีความสุข ร้อยละ 17.17 การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม ร้อยละ 15.34 การแก้ไขปัญหาค่าครองชีพประชาชน ร้อยละ 13.90 การแก้ไขปัญหาปากท้องเกษตรกร ร้อยละ 7.27 การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ร้อยละ 6.95 การแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ร้อยละ 5.27 การที่ยังไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ร้อยละ 1.68 อื่นๆ ได้แก่ การบุกรุกพื้นที่ป่า ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การจราจร ราคาพลังงานและแหล่งพลังงาน การเข้าถึงการรักษาพยาบาล สาธารณสุข ความขัดแย้งทางการเมือง และสิทธิเสรีภาพในด้านความคิดเห็น ร้อยละ 1.36 การจัดระเบียบสังคม เช่น การจัดระเบียบทางเท้า การจัดระเบียบชายหาด ร้อยละ 1.28 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ร้อยละ 1.04 การมีเสรีภาพที่ยังไม่เต็มที่ของสื่อมวลชน และร้อยละ 0.32 ทุกๆ เรื่อง