xs
xsm
sm
md
lg

ชาวน้ำก่ำเร่งทำ “ข้าวเม่า” ขาย ทำเงินรับงานบุญออกพรรษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครพนม - ชาวบ้าน ต.น้ำก่ำเริ่มทำ “ข้าวเม่า” สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เผยต้องเร่งเก็บเกี่ยวข้าวน้ำนมที่กำลังออกรวงมาแปรรูปขายทำเงินรับงานบุญช่วงออกพรรษา ลากยาวถึงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ กิโลกรัมละ 80-100 บาท สร้างรายได้หมุนเวียนในท้องถิ่นปีละกว่า 5 ล้านบาท

ที่ จ.นครพนม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงใกล้วันออกพรรษา ข้าวที่ปลูกกำลังออกรวงได้ที่เม็ดข้าวไม่แก่จนเกินไป ชาวบ้านโปร่งหมู่ 7 ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม และหลายหมู่บ้านต่างพากันเร่งเก็บเกี่ยวไปแปรรูปเป็น “ข้าวเม่า” แบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งเป็นอาชีพเสริมที่สืบทอดกันมายาวนานตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนจนถึงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

ทำให้ทุกปีมีเงินสะพัดจากการผลิตและส่งขายข้าวเม่าปีละไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ทำให้เกษตรกรไม่ต้องกังวลกับปัญหาราคาข้าวนาปีตกต่ำ เนื่องจากในช่วงฤดูหนาวจะเป็นช่วงที่ชาวอีสานจัดงานบุญประเพณีกันมากทุกหมู่บ้าน จึงนิยมซื้อข้าวเม่าไปทำเป็นของหวานถวายพระและเลี้ยงแขก โดยเฉลี่ยแล้วจะซื้อขายข้าวเม่ากิโลกรัมละประมาณ 80 บาท นอกจากนี้ กระบวนการผลิตข้าวเม่ายังต้องจ้างแรงงานในท้องถิ่นมาช่วยเพื่อให้ทันกับคำสั่งซื้ออีกด้วย จึงเป็นการกระจายรายได้ในท้องถิ่้นอีกทาง

น.ส.สุมินตรา กุมลา อายุ 30 ปี ชาวบ้านโปร่ง ต.น้ำก่ำ ที่มีอาชีพทำข้าวเม่าขาย เล่าว่า การทำข้าวเม่าเป็นอาชีพที่ชาวอีสานสืบทอดทำกันมาแต่โบราณ โดยชาวบ้านจะเริ่มปลูกข้าวพันธุ์ กข 15 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ซึ่งช่วงเดือนตุลาคมเป็นช่วงข้าวน้ำนม ก็จะเก็บเกี่ยวมานวด ก่อนนำไปแปรรูปด้วยการเอาเมล็ดข้าวไปคั่วให้สุกประมาณ 45 นาที หลังจากนั้นนำไปผึ่งลมให้เย็น นำเข้าเครื่องสีข้าว และนำออกมาตำด้วยครกกระเดื่องให้เกิดความนุ่ม สุดท้ายนำไปฝัดด้วยกระด้งให้เปลือกข้าวหลุดออกหมด

ก็จะได้ข้าวเม่าที่หอมอร่อย ขายราคากิโลกรัมละ 80-100 บาท ซึ่งชาวบ้านนิยมซื้อไปทำเป็นของหวานตามงานบุญประเพณี โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาวจะขายดีมาก ทำให้ชาวบ้านหันมาปลูกข้าวเพื่อทำข้าวเม่ากันมากขึ้น เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องราคาข้าวตกต่ำ ส่วนข้าวเม่าที่ดีนั้นจะต้องทำจากเมล็ดข้าวที่เก็บเกี่ยวในช่วงข้าวน้ำนมเท่านั้น

“หากนำเมล็ดข้าวธรรมดามาทำข้าวเม่าจะขาดความนุ่ม หอมอร่อย แต่สำหรับข้าวเม่าของชาวบ้านโปร่ง และบ้านแก่งโพธิ์ ต.น้ำก่ำ รับรองเป็นข้าวเม่าแท้ มีคุณภาพ ซื้อไปแล้วไม่ผิดหวัง”

น.ส.สุมินตรากล่าวว่า สำหรับการนำข้าวน้ำนมมาแปรรูปเป็นข้าวเม่าไม่เพียงจะแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ยังเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่คนในหมู่บ้านที่มารับจ้างทำข้าวเม่าวันละ 200-300 บาท ไม่ต้องไปทำงานต่างถิ่น บางคนก็ขายเหมาข้าวน้ำนมไร่ละ 10,000-20,000 บาท แล้วแต่ผลผลิต พอหมดฤดูกาลทำข้าวเม่า ก็เก็บเกี่ยวข้าวตามปกติ และทำการเกษตรปลูกผักหมุนเวียนไปตลอดปี

กำลังโหลดความคิดเห็น