xs
xsm
sm
md
lg

“หากจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินรัฐต้องพูดความจริงกับประชาชน” เสียงจากหมอสุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
แผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 2,200 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.ระบุว่า ถ่านหินที่จะนำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้ามีสารโลหะหนักที่เป็นพิษต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมในปริมาณไม่มาก เช่น จะมีสารหนูเพียง 0.9 มิลลิกรัมต่อถ่านหิน 1 กิโลกรัม นั่นคือ ตัวเลขที่ กฟผ.นำมาเสนอ

แต่เมื่อ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ นำตัวเลขสารโลหะหนักประกอบด้วยสารหนู แคดเมียม ตะกั่ว และปรอท มาคูณกับจำนวนปริมาณถ่านหินที่ใช้ในแต่ละวัน พบว่าใน 1 ปีจะมีสารโลหะหนักปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมของ อ.เทพา เป็นปริมาณกว่า 260,000 กิโลกรัม หรือประมาณ 1,000 รถบรรทุก ซึ่งทาง กฟผ.เองยังไม่มีข้อมูลว่าสารพิษปริมาณมหาศาลขนาดนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อคนในชุมชน และพื้นที่ผลิตอาหาร

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้อ่านร่างรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งจัดทำโดย กฟผ.อย่างละเอียด จึงมีความเป็นห่วงว่า การที่ภาครัฐพยายามเบี่ยงเบนข้อมูลผลกระทบด้วยการสร้างวาทกรรมโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ถือเป็นการเริ่มต้นที่ผิดพลาด และนำพาสังคมจมอยู่กับวังวนเดิมๆ ซึ่งสุดท้ายแล้วผู้ที่จะรับเคราะห์กรรมคือ ประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้นั่นเอง ทำไมโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดเป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถือในสายตาหมอ อ่านบทสัมภาษณ์พิเศษ และติดตามเรื่องราวเหล่านี้ได้จากคลิปวิดีโอ

   

 
*** สืบเนื่องจากที่คุณหมอได้เขียนบทความลงใน “ASTVผู้จัดการสุขภาพ” ว่า หากเราสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพา ด้วยปริมาณถ่านหินที่นำมาใช้รวมกันจะมีสารพิษ หรือโลหะหนัก 4 ชนิด กว่า 2 แสนกิโลกรัมต่อปี มองเห็นภาพค่อนข้างชัดเจน แต่ประเด็นคือ เมื่อตัวเลขนี้ออกไปทำให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ติดตามข่าวสงสัยว่าตัวเลขนี้มาจากไหน และอย่างไร

ตัวเลขนี้ถือเป็นตัวเลขที่มหัศจรรย์ เพราะตอนแรกผมเองก็ไม่คิดว่าจะมากมายขนาดนี้ ผมก็เอารายงานการศึกษาของ กฟผ.ที่ใช้ประกอบกับการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ที่เทพา ซึ่งจัดไปแล้วมาอ่านทบทวน ซึ่งในข้อมูลที่ระบุนั้น กฟผ.ระบุว่า ถ่านหินที่นำเข้าในครั้งนี้จะมีโลหะหนักที่รายงานมา 4 ชนิด ซึ่งได้แก่ สารหนู แคดเมียม ปรอท และตะกั่ว แต่ผมเชื่อว่ามีมากกว่านี้ แต่เขารายงานมาแค่ 4 ชนิด

เมื่อนำตัวเลขที่รายงานมาดู ระบุโลหะหนักสูงสุดที่จะพบในถ่านหินเป็นมิลลิกรัม/กิโลกรัม เช่น จะมีสารหนู 0.9 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ถือว่าไม่มากสำหรับ 9 ส่วนในล้านส่วน มีตะกั่ว 20 มิลลิกรัม/กิโลกรัม คือ 20 ส่วนในล้านส่วน แคดเมียม 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ปรอท 0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม นี่คือตัวเลขที่รายงาน

เนื่องจากถ่านหินที่จะนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 2,000 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินค่อนข้างเยอะ โดย 1 วันใช้ถ่านหิน 23,000 ตัน หรือ 23 ล้านกิโลกรัม เมื่อนำตัวเลข 23 ล้านกิโลกรัมคูณเข้าไป อย่างเช่น สารหนู วันหนึ่งถ้า 23 ล้านกิโลกรัม คูณ 9 กิโลกรัม ผลปรากฏว่า 1 วัน จะมีสารหนูปนเปื้อนมากับถ่านหิน 200 กิโลกรัม มีแคดเมียม 23 กิโลกรัม มีปรอท 11 กิโลกรัม มีตะกั่ว 460 กิโลกรัม แล้วหากคูณเป็นปี เพราะโรงไฟฟ้าผลิตทั้ง 365 วัน เพราะหยุดไม่ได้ 1 วัน 23 ล้านกิโลกรัมทุกวัน ปรากฏว่า ใน 1 ปี ก็จะมีสารหนู 75,000 กิโลกรัม แคดเมียม 8,000 กว่ากิโลกรัม ปรอท 4,000 กว่ากิโลกรัม และตะกั่ว 160,000 กิโลกรัม เมื่อนำตัวเลขทั้ง 4 ตัวมารวมกันบวกลบเลขแบบง่ายๆ โลหะหนักรวมอย่างน้อยใน 4 ชนิดนี้ 260,000 กิโลกรัม/ปี ที่จะเข้ามาในพื้นที่

*** นี่คือตัวเลขที่มาจากรายงาน กฟผ.

ใช่ครับ เพียงแต่ว่า กฟผ.เขียนแบบหัวหมอ เขียนเป็นมิลลิกรัม/กิโลกรัม หากแน่จริงเขียนแบบปริมาณถ่านหิน ปริมาณปนเปื้อนต่อปีสิครับ เพราะมันก็จะได้ตัวเลขเดียวกับที่ผมคำนวณไว้

*** เมื่อได้ตัวเลขดังที่เห็น ถ้าประชาชนไม่เข้าใจก็เปรียบเทียบรถบรรทุก 1 คัน 25 ตัน (ประมาณ) เท่ากับกี่คันรถบรรทุกได้ครับ

ได้ประมาณ 1,000 รถบรรทุก/ปี ปริมาณโลหะหนักที่จะปนเปื้อน ซึ่งหมายความว่า ตอนนำเข้ามาก็จะปนเปื้อนไปกับขั้นตอนการขนส่ง และเมื่อนำถ่านหินไปเผาก็จะปนเปื้อนไปกับบรรยากาศ ผมไม่ทราบว่ากระบวนการของโรงไฟฟ้าจะมีระบบการกรอง การดักจับโลหะหนักมากน้อยแค่ไหน อย่างไร ด้วยวิธีใด และดักได้กี่เปอร์เซ็นต์ นี่คือสิ่งที่ กฟผ.ต้องตอบ อาจจะดักได้ 30-50% ไม่มีใครรู้ หรืออาจจะดักได้แค่ 10-20% ดักผ่านบรรยากาศ

แน่นอนถ่านหินที่มากองต้องรดน้ำเพราะไม่ให้ติดไฟเอง น้ำที่รดนั้นก็ต้องมีการปนเปื้อนโลหะหนัก และจะเอาน้ำนั้นไปไหนคำถามนี้ก็ต้องตอบ และยังใช้น้ำทะเลมากำจัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คือ นำอากาศร้อนไปผ่านละอองฝอยของน้ำทะเล เพื่อกำจัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ แสดงว่า น้ำทะเลก็จะต้องสัมผัสอากาศร้อน ซึ่งในอากาศนั้นย่อมมีโลหะหนัก ซึ่งแปลว่าโลหะหนักก็จะปนเปื้อนลงสู่ทะเล นี่เราก็ไม่รู้

สิ่งที่ผมอยากเห็นคือ อยากให้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ที่ผ่านมาแล้ว และมีการพูดถึงเรื่องนี้น้อยมาก กฟผ.ต้องตอบประเด็นเหล่านี้ต่อสังคม กับคนสงขลาด้วย มันจะปนเปื้อนไปไหนนอกจากขึ้นไปปนเปื้อนอยู่ในชั้นบรรยากาศ และอาจจะแพร่กระจายมาถึงหาดใหญ่ สงขลา ก็เป็นได้

เมื่อขึ้นสู่บรรยากาศชั้นสูง และแพร่กระจายไปไกล ไปสู่น้ำทะเล ปลาที่เรากิน สิ่งแวดล้อม ปนเปื้อนในดิน นากุ้งแถวเทพา เชื่อว่าปนเปื้อนหมด และสิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องบอกคนในพื้นที่ ส่วนคนในพื้นที่จะเอาหรือไม่นั่นคืออีกเรื่องหนึ่ง ถ้าบอกแล้วคนในพื้นที่รับได้ผมก็รับได้ แต่หากคนในพื้นที่บอกรับไม่ไหว กฟผ.ก็ต้องรับฟัง

*** สิ่งที่คุณหมอต้องการพูดถึงคือ การที่โรงไฟฟ้าโฆษณาว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด ซึ่งเมื่อมาดูส่วนนี้แล้วต้องใช้คำว่าสกปรกก็เป็นได้

ขณะก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ ตอนนั้นใช้แก๊สธรรมชาติ ผมมีโอกาสได้คุยกับหลายๆ คนฝั่งผู้ผลิตพลังงาน เขาบอกว่า โรงไฟฟ้าจะนะนี่เป็นโรงไฟฟ้าที่สะอาดเพราะใช้แก๊สธรรมชาติไม่ใช่ถ่านหิน คุณหมอไม่น่าจะค้านนะ ผมก็ตกลงรับฟังไว้ แต่วันนี้เมื่อสร้างถ่านหิน เขาก็บอกถ่านหินสะอาด แท้ที่จริงถ้าดูจากปริมาณโลหะหนักที่มากมายขนาดนี้ แม้ว่าจะเป็นถ่านหินที่สะอาดแล้ว แต่หากยังมีโลหะหนักขนาดนี้ก็ไม่ไหว ถือเป็นภาระต่อคนในพื้นที่ ไม่สามารถเรียกว่าสะอาดได้

*** ที่เราไม่ค่อยรู้คือโลหะหนัก เมื่อถูกเผาจะออกมาในรูปของไอ

โลหะหนักเมื่อถูกเผาเป็นไอแน่นอนครับ เพราะความร้อนขนาดนั้น เป็นไอก็เป็นโมเลกุลเล็กๆ ที่ลอยสู่บรรยากาศ และจะค่อยๆ ตกลงมาสู่พื้นดิน สู่น้ำทะเล และทุกๆ ที่

*** ธาตุ 4 ชนิดนี้ ทั้งสารหนู แคดเมียม ปรอท และตะกั่ว ในทางการแพทย์หากเข้าสู่คน แหล่งน้ำ หรือบรรยากาศ หรือสัตว์ที่คนกิน เมื่อสุดท้ายก็เข้าสู่คนจะเกิดอะไรขึ้นในทางสุขภาพ

โลหะหนักมีผลเสียต่อร่างกายโดยรวม 2 ประการ 1.ทำให้เกิดความเสื่อมของอวัยวะ อย่างเช่น ปรอท ทำให้ไต และตับเสื่อม สารหนู ทำให้เป็นมะเร็ง ดังนั้น โดยรวมคือทำให้เกิดความเสื่อมของอวัยวะภายในร่างกายทำให้เราอายุสั้น 2.ทำให้เกิดเป็นมะเร็ง เมื่อสะสมยาวนานก็จะเป็นมะเร็ง เริ่มจากสะสมครั้งละน้อยแต่ทุกวันก็จะทำให้เกิดโทษ

*** คนที่อาศัยอยู่รอบโรงไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นหาดใหญ่ ในตัวอำเภอ หรือรอบนอก รวมทั้ง อ.เทพา ด้วย คือคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอายุสั้นลงจากตรงนี้

ในทางการแพทย์ปัจจัยที่มีผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพก็ล้วนแต่ทำให้เกิดโรค นี่คือปัจจัยที่เข้ามาใหม่ แม้โลหะหนักก็อาจจะปะปนอยู่แล้วในน้ำมันที่ใช้ในรถยนต์ แต่สิ่งเหล่านี้ที่เกิดมันจะมาทีเดียววันละ 23 ล้านกิโลกรัมที่เผา และลอยขึ้นสู่บรรยากาศ ซึ่งเป็นผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรงมากกับคน

*** ในด้านหนึ่งเป็นการผลิตกระแสไฟฟ้า และอีกด้านหนึ่งเป็นการผลิตมลพิษออกมาด้วย ใช่ไหมครับ?

ใช่ครับ ผมฟังมาจากชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่บอกว่า ถ้า กฟผ.มั่นใจว่าถ่านหินสะอาดก็นำไปสร้างที่กรุงเทพฯ สิ หาที่ดินว่างๆ สร้าง แล้วลองดูว่าคนกรุงเทพฯ จะค้านไหม และเขาก็ค้านเหมือนกันครับ ผมคิดว่าคนชนบทไม่สมควรต้องเสียสละตัวเองมากขนาดนี้ แต่หาก กฟผ.ตอบได้ว่ากระบวนการบำบัดดีมาก เป็นเทคโนโลยีสะอาดชั้นสูงจริงๆ ที่เมืองนอกก็ทำแบบนั้น เราทำเหมือนเขาก็ควรต้องมาสอบวิทยานิพนธ์

โดยส่วนตัวผมอยากให้มหาวิทยาลัยในสงขลาทั้ง 5 แห่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ม.ทักษิณ ราชภัฏสงขลา ราชมงคล และ ม.หาดใหญ่ กฟผ.มาสอบวิทยานิพนธ์กับนักวิชาการสิครับว่าคุณทำกระบวนการในการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างไร ลดมลพิษอย่างไร สิ่งเหล่านี้ต้องตอบนักวิชาการ หากตอบกชาวบ้าน หรือผมเอง ก็ไม่รู้หรอกว่าจริงหรือไม่จริง แต่หากเป็นเรื่องการแพทย์ผมตอบได้ แต่หากเป็นเรื่องบำบัดด้วยเทคนิคอุตสาหกรรมผมมีความเข้าใจน้อย หากสอบวิทยานิพนธ์ผ่านก็ว่าไป แต่ผมเกรงว่าจะสอบไม่ผ่าน

*** มองในเรื่องความเป็นมืออาชีพ แน่นอน กฟผ.ย่อมมีความเป็นมืออาชีพในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการผลิตกระแสไฟฟ้า หมอมีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรค อย่างกรณีที่ กฟผ.ใช้วิธีแจกข้าวสาร และประชาสัมพันธ์ว่าถ่านหินสะอาด คุณหมอมองความเป็นมืออาชีพตรงนี้อย่างไร ทั้งด้านจรรยาบรรณ จริยธรรม ของคนที่เป็นมืออาชีพ

รู้สึกแย่ในการแจกข้าวสาร เพราะกระบวนการรับฟังความคิดเห็นควรเป็นกระบวนการที่จริงจัง คนมามาก หรือน้อยไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ กฟผ.ใช้การแจกข้าวสารเพื่อจูงใจให้คนมา มาแล้วลงชื่อ ซึ่งชื่อนั้นก็นำไปบอกต่อรัฐบาลว่า มีคนมาเยอะและต่างสนับสนุน ซึ่งเป็นการดูถูกชาวบ้านอย่างยิ่ง แบบนี้ต้องประณามนะครับคนที่ลงมือทำแบบนี้ ผมไม่รู้ว่า กฟผ.ทำเอง หรือบริษัทรับเหมาเวทีรับเหมาเป็นผู้ทำ แต่ผมคิดว่าเวที ค.1 ที่มีการแจกข้าวสารแบบนั้นรับไม่ได้ สมควรจะยกเลิกแล้วทำใหม่

*** เหมือนกับว่าในประเทศไทย แผ่นดินสุดท้ายที่จะสร้างโรงไฟฟ้าได้ คือ พื้นที่ติดทะเล ซึ่งแน่นอนคือ ภาคใต้ มองถึงการรุกเข้ามาของโรงงานอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี และโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินที่เข้ามา คนในพื้นที่ต้องสร้างองค์ความรู้อย่างไรบ้างเพื่อประกอบการตัดสินใจที่ชัดเจนในอนาคต

ในความจริงแล้วทางรัฐ หรือ กฟผ. เองจะทำอะไรก็ควรบอกชาวบ้านตรงๆ ว่ามีผลกระทบอะไร และจะลดผลกระทบอย่างไร ชาวบ้านต้องยอมเสียสละบางอย่าง แต่เขาจะได้อะไรคืนมาซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ยอมรับก็ตกลง ไม่ใช่ต้องค้านทุกอย่าง แต่เป็นเรื่องของความเป็นธรรมคือ การบอกข้อมูลตามความจริง การสื่อสารกับชาวบ้านตรงไปตรงมา และเปิดโอกาสให้เขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจจริงๆ ไม่ใช่หลอกลวงโดยการใช้วาทกรรมสะอาด แจกข้าวสาร และให้ข้อมูลไม่ครบโดยใช้มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของโลหะหนัก ซึ่งทำให้ดูน้อย ผมเองก็ไม่คิดว่าจะเยอะขนาดนี้

*** เมื่อดูทิศทางของกระแสโลก UN ประกาศว่าการใช้ถ่านหินต้องหมดไปได้แล้ว เพราะทำลายชั้นบรรยากาศ ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน และได้ส่งสัญญาณมาถึงทุกประเทศที่เป็นสมาชิก ในฐานะที่คุณหมออยู่ในพื้นที่ที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน อยากจะบอก อยากจะสะท้อนในเรื่องนี้อย่างไรครับ

หากเรากล้าหาญที่จะไม่สร้างมัน คำตอบอื่นจะมีครับว่าเราจะผลิตไฟฟ้าด้วยอะไร จะผลิตไฟฟ้าให้สะอาดได้อย่างไร แต่ปัจจุบันกรอบแนวคิดของผู้มีอำนาจยึดติดกับถ่านหิน เพราะมีบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ไปเปิดเหมืองไว้ที่อินโดนีเซียแล้ว ขายไม่ออกใช่ไหม ถึงต้องดันถ่านหิน

ซึ่งหากประเทศไทยยืนยันที่จะไม่เอาถ่านหิน ก็จะมีคำตอบตามมาว่า เราจะผลิตกระแสไฟฟ้าด้ายพลังงานแสงอาทิตย์ที่ไหน อย่างไร จะส่งผลให้ทุกหลังคาเรือนมีการผลิตแสงอาทิตย์ใช้เองได้อย่างไร แม้จะไม่หมดแต่ช่วยได้พอสมควร ค่อยๆ เดินไปสู่พลังงานสะอาดสิ่งแวดล้อมยั่งยืนเราต้องอาศัยในโลกนี้อีกร้อยปีพันปีหมื่นปี จะมาให้ถ่านหินทำลายดิน ทำลายน้ำ ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

*** การสร้างวาทกรรมอีกประโยคหนึ่งว่า “หากไม่มีถ่านหินจะไม่มีไฟฟ้า หากไม่มีไฟฟ้าคุณจะใช้อะไร” หากเขาถามหมอ คุณหมอจะตอบอย่างไร

ผมต้องการใช้ไฟฟ้าครับ แต่ไม่ต้องการไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหิน หากเราตั้งใจจริงๆ เราสามารถลดพลังงานได้หลายวิธี เราก็เพิ่มพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานสะอาด พลังงานลม 2 พันไร่ที่เทพา สามารถผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้ 200 เมกะวัตต์ หากทำเป็นโรงผลิตโซลาร์เซลล์ ได้เท่ากับ 10% ของโรงไฟฟ้าถ่านหิน หากกลางคืนไม่มีแสงอาทิตย์ก็ชาร์จจากแบตเตอรี่

ดั้งนั้น ครัวเรือนจะพอใช้ เหลือเพียงโรงงานอุตสาหกรรมก็ใช้ไฟฟ้าหลักไป ในประเทศเบลเยียมเขาเก็บค่าไฟแพง และเอาค่าไฟส่วนหนึ่งมาสนับสนุนให้ประชาชนติดแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน ยิ่งใช้ไฟมากจะเก็บมาก แต่เงินนั้นเอามาสนับสนุนให้ชาวบ้านสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ สิ่งเหล่านี้น่าจะมีได้แล้วในประเทศไทย

*** ดูเหมือนรัฐบาล และ คสช.ยังไม่เข้าใจในสิ่งที่คุณหมอพูด ในฐานะภาคประชาชนคนหนึ่งอยากจะเรียกร้องอะไรเพิ่มเติมจากรัฐบาลหรือไม่

เบื้องต้น หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาก่อน หรือไม่ก็ทบทวนแล้วรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ใหม่ ส่วนวิธีคิดไกลแบบนี้มีคนคิดเยอะ หากเปิดกว้างว่าเราไม่ต้องการถ่านหินแล้วทุกอย่างจะคิดออก แต่หากยังยึดติดกับความคิดว่าต้องมีถ่านหินความคิดก็จะคิดแค่หาที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ไปเรื่อย คนที่ได้ประโยชน์ก็หาใช่ใครนอกจากบริษัทขายถ่านหิน

*** ทราบมาว่าในพื้นที่ที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา มีการวิธีการสร้างมวลชนเหมือนกรณีสร้างโรงแยกก๊าซจะนะ ซึ่งผลที่ตามมาทำให้ชุมชนแตกแยกกัน แบ่งเป็น 2 ฝั่ง ตอนนี้ใน อ.เทพา คุณหมอมีความเป็นห่วงประเด็นนี้อย่างไร

ผมเข้าใจฝ่าย กฟผ.นะ เนื่องจากข้อมูลของถ่านหินไม่สะอาดจริง จึงต้องใช้ทุกวิธีคือ การทำลายมวลชน ทำทุกวิธี ทั้งอิทธิพล อำนาจเงิน กระบวนการจัดตั้ง ซึ่งในระยะยาว กฟผ.ต้องติดกับดักตัวเองเหมือนที่จะนะ เพราะถ้าหากวันนี้คุณต้องจ่ายเงิน แจกข้าวสาร ต่อไปก็ต้องจ่ายให้ตลอด เพราะไม่ใช่มติของชาวบ้านที่ต้องการไฟฟ้า แต่เป็นความจำยอมที่ต้องได้โรงไฟฟ้ามา ต่อไปเมื่อมีเหตุอะไรก็ต้องยอม คุณก็ต้องจ่าย แต่เมื่อหากชาวบ้านต้องการ เขามีประโยชน์ร่วมด้วย และหากมีการรั่วไหลของมลพิษ มีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจคาดเดาได้ชาวบ้านก็รับได้ แต่ปัจจุบันที่จะนะมีการจ่ายรายครั้งซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นเลย
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น