xs
xsm
sm
md
lg

“สันติสุข” ที่ชายแดนใต้ไม่มีวันจะเกิดได้ ถ้ารัฐยังใช้ “ความรุนแรง” แก้ปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
โดย...เมือง ไม้ขม
 
เป็นอีกวันหนึ่งที่ต้องเริ่มต้นด้วยคำว่า “เสียใจ” ต่อครอบครัวของ ครูอิศรา ชัยฤทธิ์โชค ครูโรงเรียนบ้านควนแตน ต.ท่าเรือ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ครอบคัวของ นางสิริรัตน์ แซ่ชั้น นางสารินี แซ่ท่อง ชาวบ้าน ต.แม่หวาด อ.ธารโต จ.ยะลา รวมถึง นายนรพล แสงมณี ราษฎรเต็มขั้นที่ ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส และล่าสุด เมื่อบ่ายๆ ของวันนี้ (17 พ.ย.) นายจารุน ศรีจันทร์ และ นางเตือนใจ บุญเกลี้ยง สองสามีภรรยา ชาว อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ได้ตกเป็นเหยื่อของความโหดร้ายเพิ่มขึ้นอีก
 
ทั้ง 6 รายเสียชีวิตในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน ด้วยวิธีการเดียวกันคือ ถูกฆ่าด้วยวิธี “ประกบยิง” โดยฝีมือของคนร้ายที่เราเรียกว่า “แนวร่วมขบวนการก่อการร้าย” โดยที่คนทั้ง 4 ไม่ได้ทำผิดอะไร ไม่ได้เป็นสายข่าวให้เจ้าหน้าที่ ไม่ได้เป็นปรปักษ์กับแนวร่วมในพื้นที่ คนทั้ง 4 คือ เหยื่อของสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เป็นอย่างนี้มาโดยตลอด
 
จนเปรียบเสมือนกับว่าคน “ไทยพุทธ” คือ ตัวประกันในพื้นที่ของความขัดแย้งแห่งนี้
 
ย้อนกับไปดูถึงสาเหตุที่เป็น “เหตุ” ให้คนไทยพุทธ 6 รายที่กลายเป็นเครื่องบัดพลีให้แก่สถานการณ์ความไม่สงบในครั้งนี้จะพบว่า ก่อนที่คนทั้ง 6 คนจะเป็นผู้รับเคราะห์ได้มีการกราดยิงครูสอนศาสนา หรืออุสตาซผู้หนึ่งเสียชีวิต และลูกชายที่ยังเป็นเด็กชายได้รับบาดเจ็บในพื้นที่ ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับ อ.ธารโต. จ.ยะลา
 
ซึ่งไม่ห่างจากที่ นางสิริรัตน์ และนางสารินี 2 คนแม่ลูกแห่ง ต.แม่หวาดถูกประกบยิงเสียชีวิต โดยอุสตาซผู้นี้เป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ใน “บัญชีดำ” มีหมายจับตาม พ.ร.ก.ติดตัวอยู่ และกำลังของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในพื้นที่ได้นำตัวไปปรับทัศนะในศูนย์ซักถามอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนปล่อยตัวให้กลับบ้าน และถูกกราดยิงเสียชีวิตในที่สุด
 
แม้ว่าโดยข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่า การตายของอุสตาซผู้นี้ไม่ใช่เกิดจากฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ แต่หลังเกิดเหตุในพื้นที่ “การสื่อสาร” ของแนวร่วม ของคนในพื้นที่จำนวนหนึ่งในโลกโซเชียลมีเดียก็พยายามโยงให้เป็นเรื่องว่าเกิดจากฝีมือของเจ้าหน้าที่ และก็ได้ผลเพราะมีคนที่เชื่อเป็นจำนวนมาก
 
ต่อมาเพียงวันเดียว กำลังทหาร และตำรวจได้เข้าปิดล้อมเพื่อตรวจค้นพื้นที่บ้านโคกโหนด ต.คอลอตันหยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นไปตามแผนเชิงรุกของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่การข่าวได้ติดตามแนวร่วมกลุ่มหนึ่งมาจากพื้นที่ อ.รามัน จ.ยะลา ซึ่งเข้าไปหลบซ่อนในพื้นที่ อ.หนองจิก
 
ปฏิบัติการปิดล้อมครั้งนี้เจ้าหน้าที่สามารถจับเป็นผู้อยู่ในบ้านหลังหนึ่งได้ 5 คน แต่ก็ต้องมีการจับตายคนร้ายอีก 2 คน ที่ไม่ยอมออกมามอบตัว แต่กลับใช้อาวุธปืนยิงใส่เจ้าหน้าที่เพื่อเปิดทางหนี หน้าที่จึงใช้รถหุ้มเกราะพุ่งเข้าชนบ้านพัง และส่งกำลังเข้าไปวิสามัญคนจนร้ายเสียชีวิตทั้ง 2 ราย
 
ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย ทุกอย่างคงจะจบลงโดยอาจจะมีญาติพี่น้องของผู้ตายเจ็บแค้นเจ้าหน้าที่บ้างตามสมควร หรืออย่างดุเดือดที่สุดก็อาจจะยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ เพราะเห็นว่ายังมีวิธีการอื่นๆ จัดการกับคนร้ายโดยไม่ต้องวิสามัญฆาตกรรมก็ได้
 
แต่เพราะพื้นที่นี้ไม่ใช่พื้นที่อื่นๆ ของประเทศ แต่เป็นพื้นที่ปลายด้ามขวาน เป็นพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลาที่มีเงื่อนไขของสงคราม ซึ่งเป็น “สงครามประชาชน” ที่เกิดขึ้นเมื่อ 100 ปีก่อน อันเนื่องมาจากความอยุติธรรมของผู้ปกครองในสมัยนั้น แต่จนถึงสมัยนี้ก็ยังกลายเป็นเงื่อนไขที่ยังแก้ได้ไม่สำเร็จ
 
ดังนั้น หลังจากที่มีการวิสามัญคนร้ายทั้ง 2 รายขึ้น อีกรุ่งวันหนึ่งปฏิบัติการเอาคืนก็เกิดขึ้นในทันทีทันควัน พร้อมทั้งมีการทิ้งใบปลิวในจุดที่เกิดเหตุว่า “จับมั่ว ยิงมั่ว” เช่นเดียวกับการกราดยิงคนไทยพุทธ 3 ศพ บาดเจ็บอีก 7 รายที่ อ.เทพา จ.สงขลาเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ที่เป็นการตอบโต้การที่เจ้าหน้าที่ยิงมั่ว จนมีผู้เสียชีวิต 2 รายที่ จ.นราธิวาส และการจับมั่วของตำรวจส่วนกลางในพื้นที่รอยต่อระหว่าง จ.สงขลา กับ จ.ปัตตานี
 
ปฏิบัติการที่บ้านโคกโหนดด้วยการวิสามัญ 2 คนร้าย ถ้าเอาคำว่า “กฎหมาย” เป็นที่ตั้ง เจ้าหน้าที่ทำถูกต้องแล้ว เพราะคนร้ายมีอาวุธ และยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่โดยไม่ยอมมอบตัว ทั้งที่มีการใช้ผู้นำศาสนาเข้าเกลี้ยกล่อมแล้วด้วย จึงชอบด้วยกฎหมายที่จะทำการวิสามัญคนร้ายทั้ง 2 คน
 
แต่ในขณะเดียวกัน คนส่วนหนึ่งที่เป็นคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นคนหมู่มากยังมีความเห็นต่างว่า เจ้าหน้าที่ยังมีทางหลีกเลี่ยงได้โดยไม่ต้องใช้วิธีวิสามัญ เพราะคนร้ายที่ออกมามอบตัว 5 คนย่อมให้ข้อเท็จจริงต่อเจ้าหน้าที่ได้ว่า คนร้ายอีก 2 คนมีอาวุธปืนอะไร มีเครื่องกระสุนเท่าไหร่ ถ้ารอให้คนร้ายกระสุนหมดก็อาจจะบุกเข้าไปจับเป็นได้
 
ซึ่งหากมีการจับเป็นได้ทั้งหมด ปฏิบัติการครั้งนี้จะเป็นการยืนยันคำพูดของ พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า รวมถึง พล.ต.ท. อนุรุต กฤษณะการเกตุ ผบช.ศชต.ได้ดีว่า กอ.รมน.ภาค 4 และ ศชต.ยุคใหม่จะไม่ใช้ความรุนแรงในการปฏิบัติการดับไฟใต้อย่างแท้จริง
 
หลังเกิดเหตุวิสามัญครั้งนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงทราบในทันทีว่าคนร้าย หรือแนวร่วมต้องมีการเอาคืนแน่ โดยผู้ที่ต้องตกเป็นเหยื่อคือ “เป้าหมายอ่อนแอ” นั่นคือ ประชาชน จึงได้มีการแจ้งเตือนประชาชน และเพิ่มการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่
 
แต่สุดท้ายก็ป้องกันไม่ได้ ซึ่งการป้องกันไม่ได้ไม่ใช่ความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ แต่เป็นเพราะจำนวนของเป้าหมายอ่อนแอที่เป็นประชาชนมีมากมายเกินไป ต่อให้เพิ่มทหารเข้าอีก 50,000 คน ก็ไม่สามารถป้องกันได้ เพราะเจ้าหน้าที่เองก็ไม่รู้ว่าใครจะตกเป็นเหยื่อ และผู้ที่ลงมือคือใคร
 
ตรงนี้ต่างหากที่เป็นปัญหา และเป็นสิ่งที่แก้ไม่ตก เพราะเมื่อไหร่ที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรง ซึ่งถูกต้องตามกฎหมาย หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็แล้วแต่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือความสูญเสียของคนไทยพุทธที่เหมือนกับเป็นตัวประกันเพื่อตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐ
 
โดยข้อเท็จจริงสถานการณ์ในพื้นที่เริ่มปรากฏ “ลางดี” ขึ้นมาตามลำดับ การก่อเหตุเริ่มลดจำนวนลง การก่อการร้ายใหญ่ๆ แบบคาร์บอมบ์ลดน้อยลง การใช้วิธีการ “พูดคุย” ในพื้นที่กำลังปรากฏผลในด้านบวกเป็นลำดับ การใช้ “ทุ่งยางแดงโมเดล” ได้รับการจับตามองเพื่อรอดูผลสำเร็จจากผู้คน แต่สุดท้ายเมื่อมีการใช้ความรุนแรงของทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ และฝ่ายขบวนการ
 
หลายอย่างที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ทำมาก็เหมือนกับการ “ตักน้ำถมทะเล” อีกครั้งหนึ่ง
 
ที่ได้หยิบเรื่องที่เกิดขึ้นมาเขียนถึงไม่ได้บอกว่าปฏิบัติการวิสามัญของเจ้าหน้าที่ต่อคนร้ายเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง หรือเขียนเข้าข้างโจร เพียงแต่อยากจะบอกว่าสถานการณ์ต่อไปนี้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ซึ่งเป็นระยะ “เปลี่ยนผ่าน” ยังจะมีเหตุการณ์อย่างที่เกิดขึ้นที่บ้านโคกโหนด อีกมากมาย เพราะยังมีแนวร่วม หรือคนร้ายที่ยอมตาย แต่ไม่ยอมให้จับเป็นอีกมาก ที่จะเกิดขึ้นในการปิดล้อม และตรวจค้นสถานที่ต่างๆ
 
หากทุกครั้งที่มีการวิสามัญคนร้ายเกิดขึ้น และคนร้ายเอาคืนด้วยการฆ่าผู้บริสุทธิ์ เพื่อเป็นการแก้แค้นที่ไม่สามารถทำรายเจ้าหน้าที่ได้ ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับการเกิดขึ้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ที่มีอาสาสมัคร นายฮากิม ดาราเซะ เป็นเงื่อนไข กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะให้การดูแลชีวิตของชาวไทยพุทธในพื้นที่อย่างไร
 
เชื่อเถอะไม่มี ผบ.ทบ.คนไหนทำได้ ไม่มีแม่ทัพคนไหนทำการคุ้มครองชีวิตของคนในพื้นที่ได้ หากยังคิดว่าจำเป็นต้องใช้ความรุนแรงที่ถูกต้องตามกฎหมายในการจัดการต่อคนร้ายหัวแข็งด้วยการวิสามัญ
 
นั่นหมายถึงว่า ทั้ง ผบ.ทบ. ทั้งแม่ทัพนายกองจะต้องทำใจที่จะเห็นเลือดของคนไทยพุทธผู้บริสุทธิ์นองแผ่นดิน เพื่อแลกต่อการวิสามัญที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือที่ได้พยายามทำตามขั้นตอนจากเบาไปหาหนักแล้วนั่นเอง
 
และแน่นอนว่า การแก้ปัญหาไฟใต้ไม่ใช่การ “เล่นหมากฮอส” ที่จะผลัดกันกินได้จนกว่าจะหมดกระดาน เพราะชีวิตคนบริสุทธิ์ไม่ใช่วัตถุสิ่งของ แต่เป็นชีวิตที่มีค่าเท่าเทียมกัน และมีความหมายต่อครอบครัวผู้สูญเสียทุกครอบครัว ซึ่งเงินเยียวยา 500,000 บาทที่ครอบครัวผู้บริสุทธิ์ได้รับนั้น ไม่เคยมีครอบครัวไหนอยากเอาชีวิตของคนในครอบครัวของเขาไปแลกมาหรอก
 
สุดท้ายนี้ ทั้งๆ ที่ยังใช้อาวุธ ใช้ความรุนแรงเพื่อการแก้ปัญหา เวทีการ “พูดคุยสันติสุข” ที่กำลังจะเริ่มต้นใหม่ อาจจะเป็นการสูญเปล่าเหมือนกับหลายๆ ครั้งที่เกิดขึ้นก็เป็นได้ ซึ่งสาเหตุมาจากเราไม่สามารถที่จะหยุดความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้นั่นเอง

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น