xs
xsm
sm
md
lg

5 เดือนไฟใต้ส่อโชนเปลวสู่ “สงครามเชื้อชาติ” หลัง คสช.ใช้แต่กำปั้นเหล็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
โดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
 
 
หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีต ผบ.ทบ.เป็นผู้นำได้ยึดอำนาจรัฐไว้ในมืออย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเมื่อ 5 เดือนที่แล้ว หลายคนมีความหวังว่า “วิกฤตไฟใต้” อาจจะคลี่คลายลง
 
เพราะที่ผ่านมา การแก้ปัญหาขาดความชัดเจน และไม่มีความเป็นเอกภาพระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายความมั่นคง รวมทั้งการไร้เอกภาพในพื้นที่ระหว่าง 17 กระทรวง กับ 66 หน่วยงาน ซึ่งมีร่องรอยของความไม่ลงรอยกันมาโดยตลอด นับตั้งแต่เกิดไฟใต้ระลอกใหม่ขึ้นเมื่อต้นปี 2547 เป็นต้นมา
 
ต้องยอมรับว่า 5 เดือนที่ผ่านมา ที่ คสช.เข้าบริหารประเทศ ความรุนแรงใน 3 จังหวัดคือ จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส กับอีก 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ อ.เทพา อ.นาทวี อ.สะบ้าย้อย และ อ.จะนะ ลดลงไปอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งทำให้กองทัพโดย “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” พอจะยิ้มกว้างได้บ้าง
 
โดยเฉพาะประชาชนเริ่มจะกลับไปมีความเชื่อมั่นในอำนาจรัฐ และเริ่มมีหวังจากการรัฐประหารครั้งนี้ว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า น่าจะ “เอาอยู่”
 
แต่หลังเหตุการณ์เผาโรงเรียน 6 โรงที่ อ.ทุ่งยางแดง และ อ.มายอ จ.ปัตตานีเกิดขึ้น ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เริ่มจะกลับตาลปัตร จากที่เห็นว่าน่าจะเอาอยู่ก็ดูเหมือนสถานการณ์จะเข้าสู่โหมดเดิมๆ อีกแล้ว โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ของขบวนการก่อการร้ายยังคงมุ่งเป้าไปที่โรงเรียน ครู พระ รถไฟ และเจ้าหน้าที่รัฐแบบไม่เปลี่ยนแปลง
 
ต่อเมื่อมีการนำเสนอ “ทุ่งยางแดงโมเดล” จาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อใช้เป็นหนทางนำไปสู่ชัยชนะต่อขบวนการ โดยยึดหลัก “เหตุเกิดที่หมู่บ้าน ชัยชนะต้องมาจากหมู่บ้าน” มีการใช้ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ (ศปก.อ.) เป็นตัวขับเคลื่อน โดยการบูรณาการภาครัฐทุกหน่วยงานและประชาชนทุกหมู่เหล่า เพื่อสร้าง “พื้นที่เข้มแข็ง” หรือ “หมู่บ้านเข้มแข็ง” ด้วยการติดอาวุธทางความคิด และติดอาวุธประจำกายให้แก่ภาคประชาชนในการร่วมปกป้องท้องถิ่นตนเอง
 
“ทุ่งยางแดงโมเดล” ที่ถูกนำมาใช้ในครั้งนี้แม้จะยังไม่เห็นผลว่าจะแก้ปัญหาความไม่สงบได้มากน้อยแค่ไหน แต่ก็ได้รับการกล่าวขวัญจากผู้นกกองทัพ และผู้นำประเทศมาโดยตลอดว่า จะเป็นโมเดลที่ใช้แก้ปัญหาความไม่สงบได้แน่นอน มีการตั้งเป้าหมายว่าจะมีการประเมินผลการปฏิบัติงานในทุก 3 เดือน และหากเป็นผลดีจะนำรูปแบบนี้ใช้กับอำเภออื่นๆ ที่มีหมู่บ้านสีแดงกระจายอยู่กว่า 160 หมู่บ้าน
 
แต่สุดท้ายสถานการณ์ความรุนแรงก็ไม่รอที่จะเห็นความสำเร็จของ “ทุ่งยางแดงโมเดล” เมื่อแนวร่วมขบวนการจำนวนหนึ่งใช้ระเบิดแสวงเครื่องต่อเป้าหมายที่เป็นร้านคาราโอเกะในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี 4 แห่งพร้อมๆ กันในค่ำวันศุกร์ที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา และแม้ว่าผลของปฏิบัติการจะทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 1 ราย แต่ผลข้างเคียงกลับทำให้บรรยากาศของเมืองปัตตานีมีสภาพเป็นเมืองร้างในทันที
 
ในขณะที่ ผลของ “ไปป์บอมบ์” ที่ปัตตานีฝุ่นยังไม่ทันจาง ปฏิบัติการของแนวร่วมขบวนการต่อชาวไทยพุทธที่บ้านหนองสาหร่าย ต.ท่าม่วง อ.เทพา จ.สงขลา ด้วยการกราดยิงด้วยอาวุธสงครามก็ตามมา ผลคือ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ศพ และบาดเจ็บ 8 ราย โดยกลุ่มผู้ปฏิบัติการได้ทิ้งใบปลิวไว้ในที่เกิดเหตุระบุว่า เป็นการตอบโต้เจ้าหน้าที่ที่วิสามัญคนมุสลิมที่ไม่มีความผิดใน จ.ยะลา
 
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน ต.ท่าม่วง อ.เทพา จ.สงขลา ยิ่งตอกย้ำให้คนในพื้นที่เห็นว่า สุดท้ายแล้ว 4 อำเภอของ จ.สงขลา ยังคงไม่มีความปลอดภัย และมีสภาพที่ไม่ต่างกับพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แต่อย่างใด เพราะยังเป็นพื้นที่ที่กลุ่มก่อการร้ายยังเคลื่อนไหวเพื่อปฏิบัติการได้อย่างเสรี และแม้จะเป็นหมู่บ้านไทยพุทธก็ตาม
 
ที่น่าเศร้าใจยิ่งไปกว่านั้น ในขณะที่น้ำตาของคน อ.เทพา ยังไม่ทันเหือดแห้ง หน่วยงานของรัฐยังไม่ทันที่จะจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ผู้สูญเสีย กลับตามมาด้วยอีกหลายเหตุการณ์สะเทือนขวัญกระจายไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นใน จ.นราธิวาส นักศึกษาสาวของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ตกเป็นเหยื่อยิงรายวัน การกราดยิงบ้านของชาวไทยพุทธใน อ.ตากใบ เผาศาลาที่พักใน อ.บาเจาะ และเผาเสาสัญญาณโทรศัพท์อีกหลายแห่ง ขณะที่ใน จ.ยะลา และ จ.ปัตตานี ก็มีประชาชน ผู้นำท้องที่ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐกลายเป็นเครื่องบัดพลีให้แก่การปฏิบัติการของขบวนการก่อการร้ายด้วยเช่นกัน
 
สถานการณ์โดยรวมทั้งหมดที่เกิดขึ้นระหว่างปลายเดือน ต.ค.คาบเกี่ยวต้น พ.ย. จึงส่งผลให้การเปิดเทอมในวันที่ 3 พ.ย.ของโรงเรียนในชายแดนใต้เป็นไปด้วยบรรยากาศที่เคร่งเครียด ทั้งครู ผู้ปกครอง และตัวนักเรียนเอง รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ต้องวางกำลังรักษาเส้นทาง รักษาโรงเรียน รักษาชีวิตของครู และของเจ้าหน้าที่เอง จนทำให้บรรยากาศที่ปลายด้ามขวานอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของสงคราม
 
ภาพเหล่านี้อาจจะเป็นภาพที่ชินชาสำหรับคนในชายแดนใต้ แต่สำหรับคนนอกพื้นที่ถ้ามาพบเห็นต้องเข้าใจว่า นี่เป็นแผ่นดินแห่งการสู้รบดีๆ นี่เอง
 
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 เดือนที่ คสช.เข้าควบคุมอำนาจบริหารประเทศนั้น บนแผ่นดินไฟใต้ได้เกิดการโครงสร้างหลายๆ อย่างเปลี่ยนแปลงไป เช่น หน่วยงานหลักฝ่ายพลเรือนอย่าง “ศอ.บต.” ถูกย่อให้เล็กลง และขึ้นอยู่ภายใต้การสั่งการของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
 
บทบาทของภาคประชาชนลดน้อยถอยลง มีการใช้ ศปก.อ.เป็นแกนหลักในการบูรณาการแผนงาน ทั้งด้านการพัฒนา และด้านการรักษาความปลอดภัย มีการติดอาวุธให้แก่ประชาชน เพื่อสร้างหมู่บ้าน อพปร. มีการเพิ่มจำนวนอาสาสมัครในรูปแบบต่างๆ เช่น อส.อ. อส.จ. และเพิ่มค่าตอบแทนให้แก่กองกำลังพลเรือนเหล่านี้เพื่อให้มีขวัญ และกำลังใจในการป้องกันหมู่บ้าน
 
และในขณะเดียวกัน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็มีการส่งชุดปฏิบัติการเข้าสู่ทุกพื้นที่ ซึ่งมี “อาเยาะ” หรือ “แกนนำ” ระดับหมู่บ้านของขบวนการร่วมด้วย เพื่อสลายกองกำลังของขบวนการก่อการร้าย รวมทั้งการจู่โจมเข้าปิดล้อม และตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายเพื่อยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ และจับกุมบุคคลที่อยู่ในขบวนการ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการที่ถูกต้องต่อสถานการณ์ปัจจุบัน
 
ดังนั้น สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันนี้คือการตอบโต้ของฝ่ายขบวนการที่สงบนิ่งในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดเกมรุกในด้านการทหาร โดยอาศัยเงื่อนไขจากการที่เจ้าหน้าที่พลาดพลั้งฆ่าเด็กชายคนหนึ่งที่ จ.นราธิวาส เพราะความประมาท และการวิสามัญคนสติไม่ดีที่ จ.ยะลา รวมทั้งการจับกุมแบบเหวี่ยงแหที่ จ.ปัตตานี
 
การรุกกลับของฝ่ายขบวนการครั้งนี้ก็เพื่อต้องการให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า หยุดปฏิบัติการในพื้นที่ เพราะเกรงประชาชนผู้บริสุทธิ์จะตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ เช่นเดียวกับทุกครั้งที่ปฏิบัติการของกองทัพเริ่มได้ผลก็จะถูกสั่งให้หยุด เพราะฝ่ายขบวนการใช้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะชาวไทยพุทธที่เปรียบเหมือนตัวประกันตลอดมา
 
ทั้งนี้ ก็ด้วยหลักการง่ายๆ คือ ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่หยุดปฏิบัติการรุกรานแกนนำ และแนวร่วมขบวนการในพื้นที่ ขบวนการก็จะรุกรานชาวไทยพุทธด้วยวิธีการฆ่าผู้บริสุทธิ์ ซึ่งมีทั้งกราดยิงบ้านเรือน ตัดฟันต้นยางพารา และอื่นๆ
 
ดังนั้น ต้องจับตาดูว่า ในครั้งนี้กองทัพ และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะมีการประเมินสถานการณ์อย่างไร และจะมีการใช้ยุทธวิธีใหม่ๆ อีกหรือไม่
 
ในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมาที่ คสช.ใช้ “กำปั้นเหล็ก” แทนถุงมือ “กำมะหยี่” ต่อขบวนการก่อการร้ายที่ชายแดนใต้ ซึ่ง คสช.เองเชื่อว่าเป็นยุทธการที่ “เดินมาถูกทางแล้ว” นั้น
 
สิ่งที่เห็นอาจจะเป็นแค่ “ภาพลวงตา” เท่านั้นเอง ส่วน “ของจริง” ได้เกิดขึ้นระหว่างปลายเดือน ต.ค.คาบเกี่ยวต้น พ.ย.ที่เพิ่งผ่านมาแล้วนั่นไง และนั่นอาจจะเป็นแค่ปฏิบัติการเอาคืนแบบจิ๊บๆ เอาเสียด้วย
 
แฟ้มภาพ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น