xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปยางพาราไทย (ตอนที่ 4) ขบวนการขูดรีดชาวสวนยาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพจากอินเตอร์เน็ต)
โดย..สุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง

กว่า 50 ปี ยางพาราไทย ที่อำนาจในการกำหนดทิศทางของราคายางอยู่ในมือสิงคโปร์ ผ่านผู้ส่งออกไทย เรียกว่าอำนาจเหนือตลาด หรือกลไกตลาดที่ไม่เป็นธรรม ประกอบกับความโชคร้ายของชาวสวนยางไทยที่ไม่เคยมีนักการเมือง และข้าราชการคนไหนจะจริงใจ และต่อสู้เพื่อชาวสวนยางอย่างแท้จริง มีแต่หาประโยชน์บนความทุกข์ของชาวสวนยาง

พรรคการเมืองใหญ่ในภาคใต้ ก็ไม่เคยยืนหยัดเคียงข้างชาวสวนยาง มีแต่หาประโยชน์ และรับใช้ 5 เสือส่งออก เงินที่ใช้ในการเลือกตั้งทุกครั้งก็มาจากที่นี่ ส่วนพรรคการเมืองใหญ่อีกขั้ว ก็เอาการปลูกยาง 1 ล้านไร่ ที่ภาคเหนือ และอีสานมาเป็นเครื่องมือในการหาเสียง โดยใช้เงินก้นถุงหรือเงิน cess ของพี่น้องภาคใต้ และตะวันออก มาส่งเสริม และสนับสนุน

นี่คือความเจ็บปวด และความอยุติธรรมที่พี่น้องชาวสวนยางภาคใต้ได้รับ เราเตือนแล้วท่านไม่เคยฟังว่าอย่าปลูกมิหนำซ้ำยังด่ากลับว่าเราอยากรวยคนเดียวตอนนี้ยางล้นตลาด จนกันถ้วนหน้า เพราะราคายางตก มีแมวตัวไหนรับผิดชอบบ้าง...พวกทำนโยบายน่ะ

นี่อย่างไรที่มาของยางพารา กลายเป็นพืชการเมือง สมัยก่อนนักการเมืองไทยจะไถเงินจากสิงคโปร์ เขาพูดอยู่สองเรื่องคือ จะขุดคอคอดกระในภาคใต้ และการจะทำอุตสาหกรรมยาง และเมืองยาง รัฐมนตรีคนไหนทำท่าขึงขัง เห่าหนักๆ ไม่นานจะถูกตบปากด้วยเงินก้อนโต

ในยุคนั้นหากนักการเมืองในภาคใต้เลือกที่จะรับใช้ชาวสวนยางมากกว่าหาเศษหาเลยจากนายทุน ไทยคงเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยางล้อของโลกแล้ว และในปัจจุบันหากมีการใช้ยางในประเทศแค่ 20% เราจะมีมูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์ยางกว่า 1 ล้านล้านบาท จะไม่เกิดวิกฤตราคายางพาราตกต่ำ และสถานการณ์ที่ไร้ทางออกของชาวสวนยางอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้..อนิจจา

จากวิกฤตดังกล่าว ชาวสวนยางแทบไม่พอกินบางคนผูกคอตาย เผาตัวตาย หนีความทุกข์ถามว่าชาวสวนยางจะเปลี่ยนอาชีพหรือไม่ หรือจะหาทางออกจากวิกฤตนี้อย่างไร ต้องยอมรับว่าเราคือเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย ไม่ใช่สวนยางแปลงใหญ่เป็นหมื่นเป็นแสนไร่ ลักษณะ contact farming เหมือนประเทศเพื่อนบ้านที่มีนายทุนข้ามชาติจากจีน ได้รับสัมปทานพื้นที่ปลูกแต่เราก็ยังเป็นผู้ผลิตยางอันดับ 1 ของโลก

น่าเสียดายที่เรามีเครื่องมือ และกลไก อย่างกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) และองค์การสวนยาง (อสย.) ที่มีความพร้อมทุกด้านแทนที่จะทำตัวองค์กรเพื่อคานอำนาจกับผู้ส่งออก กลับถูกอำนาจทางการเมือง และอำนาจทุนครอบงำจนไม่สามารถมีศักยภาพอะไรพอจะเป็นที่พึ่งของพี่น้องชาวสวนยางได้ เช่น การรวบรวมยาง และการแปรรูปยางขั้นต้น และเลิกฝันที่จะให้องค์การสวนยางทำอุตสาหกรรมยาง

ข้อเสนอของชาวสวนยางจึงต้องทำให้การยางแห่งประเทศไทย เป็นเสือตัวที่ 6 เพื่อรวบรวมผลผลิตยางสร้างตลาดซื้อขายจริงเกิดขึ้นให้จงได้ และเป็นพี่เลี้ยงให้สหกรณ์ หรือสถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปยางพาราขั้นต้น รวมทั้งเป็นรัฐวิสาหกิจนำร่องอุตสาหกรรมยาง

ส่วนกองทุนพัฒนายาง ก็ต้องแสดงบทบาททางด้านวิชาการงานวิจัยยาง และงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาง ที่ก้าวหน้าทัดเทียมต่างประเทศยางพันธุ์ดีของมาเลเซีย เขาไปกันถึงไหนแล้วทั้งปริมาณผลผลิต และเปอร์เซ็นต์ความเข้มขั้นน้ำยาง ขบวนการขูดรีดชาวสวนยาง

ยังไม่หมดตัวละครครับ ยังมีเจ้าหน้าที่ สกย.ที่รับผลประโยชน์จากบริษัทปุ๋ยจ่ายเงินปลูกทดแทนไม่ครบ โดยบังคับจ่ายเป็นปุ๋ยยังร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ตรวจจับรีดไถ การโค่นไม้ยางที่มีอายุเกิน 25 ปี ยิ่งกรณีที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิที่อยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ ก็บังคับแบ่งครึ่งกับเจ้าของสวน (ปล้นมากกว่า)

ส่วนแปลงที่มีเอกสารสิทธิ เจ้าหน้าที่ สกย.ก็ขู่ว่าจะไม่ให้สงเคราะห์การปลูกทดแทนถ้าไม่แบ่งผลประโยชน์จากการตัดไม้ยาง ทำมาหากินบนคราบน้ำตาของชาวสวนยาง ทำธุรกิจเถื่อนกันเป็นล่ำเป็นสัน มูลค่าเป็นหมื่นล้านชาวสวนยางหลายคนวาดหวังจะได้เงินจากไม้ยางเพื่อลงทุนปลูกใหม่ ต้องอดอยากอีก 7 ปี กว่าจะได้กรีดเจอขบวนการทากดูดเลือด...ต้องสะอื้นในหัวอกมันเป็นเวรกรรมอะไรกันนักกันหนา..ชาวสวนยาง

สหกรณ์ชาวสวนยาง และสถาบันเกษตรกรก็เหมือนกัน แทนที่จะเป็นการรวมกลุ่มตามอุดมการณ์คือ สร้างอำนาจต่อรอง และสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อช่วยเหลือสมาชิก กลับเป็นที่แสวงหาผลประโยชน์ของเหลือบอีกฝูง เช่น พ่อค้ายาง นายทุนปลูกยางแปลงใหญ่ นักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการด้านการเกษตรคนเหล่านี้เข้ามาถือหุ้นในสหกรณ์และเป็นกรรมการ หรือผู้บริหารสถาบันเกษตรกรครอบงำ ผูกขาดอำนาจ และไม่ได้ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงให้แก่พี่น้องชาวสวนยาง กลับทำตัวเป็นแขนขาให้นักการเมือง ผู้มีอำนาจรัฐ และเป็นนายทุนน้อยกดขี่ชาวสวนยางอีกทอดหนึ่ง

เมื่อมีโครงการช่วยเหลือจากรัฐ กลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้จะเล่นพรรคเล่นพวกชาวสวนยางรายย่อยก็ถูกกลั่นแกล้ง กีดกัน เช่น โครงการแทรกแซงราคายางพารา ที่ผ่านมา ต้องแปรวิกฤตให้เป็นโอกาสหยุดคร่ำครวญ หยุดร้องไห้ เลิกโวยวาย และเลิกหวังพึ่งแบบขอทาน หรือรอคอยความช่วยเหลือแบบผู้ใต้ปกครองที่ดี ตั้งสติ ใช้ปัญญา หาทางออก เราต้องต่อสู้เพื่อลูกหลาน และเพื่อความยั่งยืนของอาชีพทำสวนยางไทย

ก่อนอื่นเริ่มต้นถอดบทเรียน เราเจ็บปวดเพราะอะไร เพราะเราไม่เคยกำหนดอนาคตของตัวเองได้เลยใช่ไหม... แล้วใครเป็นผู้กำหนด? คุณอุทัย สอนหลักทรัพย์ และคุณบุญส่ง นับทอง เป็นคนดีครับ แต่เป็นแกนนำยางที่ทำแทนเราทุกเรื่องมาตลอดเวลานับสิบๆ ปี ชาวสวนยางคนไหนเลือกเขา ใครบอกให้เขาไปทำ เขาเคยมาถามเราบ้างไหม? เขารู้ความต้องการของเราจริงหรือเปล่า เขาทำเพื่อชาวสวนยาง หรือทำเพื่อตัวเอง หรือเขาเป็นตัวแทนของทุนของนักการเมือง หรือเขารับใช้ผู้มีอำนาจรัฐ เช่น ข้าราชการ เพื่อให้ตัวเองได้แสวงหาอำนาจและผลประโยชน์หรือเขาจริงใจ แต่ไม่มีความสามารถหรือเขาซื่อแต่ไม่ทันเกมของคนอื่น

แล้วที่ผ่านมา...เขาทำหน้าที่เป็นตัวแทนชาวสวนยางสมบูรณ์หรือไม่ เขาได้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสวนยางดีขี้นหรือไม่ แล้วเราจะทำอย่างไร กับแกนนำอุปโลกน์พวกนี้เป็นคำถามปลายเปิด...ชาวสวนยางต้องตอบเองครับ

(อ่านต่อตอนที่ 5)
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น