ยะลา - เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุ คุณภาพ และราคาลองกองปีหน้าต้องดีกว่าปีนี้ สั่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ความช่วยเหลือปรับปรุงคุณภาพให้แก่ผลผลิตของเกษตรกร
วันนี้ (27 ต.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานการประชุมนโยบายบริหารจัดการผลไม้ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฤดูกาลผลิตปี 2558 โดยมี นายบุญธรรม มุณีกาญจน์ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กระทรวงพาณิชย์) น.ส.นฤมล นุตยะสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ผู้แทนจากเกษตรจังหวัด 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) ผู้แทนจากสมาคมผู้ส่งออกผลไม้ไทยจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาเกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด สำนักงานการค้าภายใน ผู้แทนจากศูนย์คัดแยกผลไม้ ผู้แทนสำนักส่งเสริมและพัฒนาเกษตร เขตที่ 5 จังหวัดสงขลา ผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เขต 9 จังหวัดสงขลา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้
นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ควรทำอย่างไรให้ลองกองมีบรรยากาศซื้อขายที่ดีขึ้น ไม่ใช่การบังคับซื้อเหมือนปัจจุบัน โดยเกษตรกรสามารถเข้าไปเก็บเกี่ยวผลผลิตลองกองได้อย่างปลอดภัย และมีคนดูแลสวน ส่วนในเรื่องราคาสามารถจูงใจเกษตรกร และมีตลาดรองรับที่แน่นอน รวมถึงมีคุณภาพดีตลาดยอมรับได้ และทำอย่างไรให้มีสวนเกษตรก้าวหน้าเกิดขึ้นในพื้นที่ ดังนั้น จึงควรจัดตั้งคณะทำงานลองกองโดยให้สำนักงานเกษตรจังหวัด 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นตัวหลัก
การประชุมสรุปผลได้ดังนี้ ให้สำนักงานเกษตรจังหวัด 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รับสมัครเกษตรกรให้เป็นสวนเกษตรก้าวหน้า เพื่อเข้าร่วมโครงการปรับปรุงคุณภาพลองกองให้เป็นเกรด A หรือเกรด B และให้มีมิสเตอร์ลองกองประจำจังหวัด รวมทั้งเครือข่ายในพื้นที่ เช่น บัณฑิตอาสา อาสาเกษตรกร และเครือข่ายของสภาเกษตรกร เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงที่จะดูแลแนะนำรายงานความก้าวหน้าการพัฒนาสวนของเกษตรกร ซึ่งคาดว่าราคาลองกองปีหน้า เกรด A ไม่ต่ำกว่า 35 บาท และเกรด B ไม่ต่ำกว่า 25 บาท
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาผลไม้ (ลองกอง) 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ได้อนุมัติงบประมาณจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการภายใต้แผนป้องกันและแก้ไขปัญหาผลไม้ภาคใต้ ปี 2557 ให้คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกร
อันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ดำเนิน 2 มาตรการ คือ มาตรการที่ 1 การกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต มังคุด ลองกอง เป้าหมาย จำนวน 7,800 ตัน แบ่งเป็น 2 กิจกรรม คือ การบริหารจัดการคุณภาพผลผลิต อัตรากิโลกรัมละ 2.50 บาท เพื่อจ่ายเป็นค่าจ้างแรงงานรวบรวมผลผลิตทำความสะอาด คัดแยกคุณภาพ บรรจุลงกล่องขึ้นรถยนต์ จำนวน 4,000 ตัน มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา เป็นหน่วยดำเนินการ
โดยมีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นหน่วยงานสนับสนุน กิจกรรมที่ 2 การกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตพื้นที่ภาคใต้ โดยเบิกค่าขนส่งในอัตรากิโลกรัมละ 2.50 บาท จำนวน 3,800 ตัน มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา) เป็นหน่วยดำเนินการ มาตรการที่ 2 คือ การเสริมสภาพคล่องในการซื้อขายผลไม้ สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแบบปลอดดอกเบี้ย เป้าหมายสถาบันเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์วิสาหกิจชุมชน ศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชน และกลุ่มปรับปรุงคุณภาพไม้ผล รวม 35 แห่ง มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา นอกจากนี้ ยังมีมาตรการตามโครงการส่งเสริมการจำหน่ายผลผลิตของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2557 มอบหมายให้สำนักงานการค้าภายใน (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล) เป็นหน่วยดำเนินการ โดยมีค่าบริหารจัดการผลผลิตให้แก่ศูนย์รวบรวมผลไม้ ในอัตราเหมาจ่ายไม่เกินกิโลกรัมละ 2.50 บาท และค่าจัดการกระจายผลผลิต เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตไปสู่จังหวัดปลายทาง และประเทศเพื่อนบ้าน
ในส่วนของจำนวนผลผลิตจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกรด A/B+ได้แก่ ลองกอง ราคาเฉลี่ยรับซื้อ กิโลกรัมละ 25-30 บาท ปริมาณ 47,105 ตัน/ปี ผลผลิตออกในช่วงกรกฎาคม-ตุลาคม มีปริมาณผลผลิตไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ มังคุด ราคาเฉลี่ยรับซื้อ กิโลกรัมละ 20-25 บาท ปริมาณ 19,221 ตัน/ปี ผลผลิตออกในช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม คุณภาพที่จะส่งออกมีจำนวนไม่มาก ส่วนใหญ่จะมีผลเล็ก ผิวแตกยางออก ทุเรียน ราคาเฉลี่ยรับซื้อ กิโลกรัมละ 20-30 บาท ปริมาณ 48,340 ตัน/ปี ผลผลิตออกในช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม ไม่มีปัญหาเรื่องผลผลิต