xs
xsm
sm
md
lg

“จันทบุรี” ชูระบบส่งเสริมเกษตรมิติใหม่ แก้ปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - เกษตรจังหวัดจันทบุรี โชว์ฝีมือแก้ปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำ จากการกระจุกตัวในพื้นที่ปี 2557 ด้วยการตั้งวอร์รูมเฝ้าระวัง ควบคู่ส่งเสริมเกษตรมิติใหม่จนเกษตรกรได้รับผลตอบแทนดีขึ้น

นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร เกษตรจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า จากการที่จันทบุรีเป็นแหล่งเพาะผลไม้สำคัญของประเทศ โดยมีพื้นที่ปลูกรวม 792,035 ไร่ หรือร้อยละ 36.48 ของพื้นที่การเกษตร และมีไม้ผลสำคัญ ได้แก่ ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง กล้วยไข่ ลำไย และสละ ทำให้ในแต่ละปีมีผลไม้ออกสู่ตลาดพร้อมกันจำนวนมาก จนผลผลิตกระจุกตัว ล้นตลาด และราคาตกต่ำ ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเตรียมการรับมือเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

และจากการติดตาม รวมทั้งประเมินสถานการณ์ผลไม้ของจังหวัดปี 2557 พบว่า ผลไม้ 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน เงาะ มังคุด และลองกอง ออกดอกล่าช้ากว่าปกติประมาณ 1 เดือน จากผลกระทบด้านสภาพอากาศที่หนาวเย็นยาวนาน และหนาวสลับร้อนช่วงเดือนธันวาคม 2556 ถึงมกราคม 2557 ทำให้ผลไม้ติดดอกออกผลหลายรุ่น

โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี ได้เตรียมแก้ปัญหาด้วยการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลไม้จังหวัด หรือวอร์รูมติดตาม และเฝ้าระวังสถานการณ์ผลไม้อย่างใกล้ชิด ทำให้การป้องกันและแก้ปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ทันสถานการณ์ ที่สำคัญยังได้นำเสนอข้อมูลสถานการณ์การผลิตผลไม้ ต่อคณะทำงานการจัดทำแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2557 รวมทั้งคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ เพื่อหามาตรการรองรับปัญหาผลไม้ราคาตกต่ำ

เช่น การปรับสมดุลของอุปทานและอุปสงค์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการผลผลิตส่วนเกิน ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพ การกระจายผลผลิตภายในประเทศ ส่งเสริมการแปรรูป และผลักดันการส่งออก เป็นต้น

นายอาชว์ชัยชาญ กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี ได้ใช้แนวปฏิบัติระบบส่งเสริมเกษตรมิติใหม่ (MRCF System) มาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาผลไม้ ซึ่งเป็นนโยบายหลักของนายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ในการบริหารจัดการข้อมูลไม้ผล โดยการใช้ข้อมูลเชิงแผนที่ (Mapping) เพื่อการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และกำหนดเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน

และใช้การติดต่อสื่อสารระยะไกล (Remote Sensing) มาประยุกต์ใช้ระหว่างสำนักส่งเสริมการเกษตร กับเกษตรกร และทุกภาคส่วน ให้สะดวกรวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์ ในการรายงานปริมาณ และราคาผลผลิตที่ผันแปรทุกวัน รวมทั้งบูรณาการการทำงานในพื้นที่ เพื่อให้ภาคีเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการคิด การทำ และตัดสินใจร่วมกัน (Community Participation) ทำให้สามารถกำหนดจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดการพัฒนา และแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด

“การทำงานอย่างเป็นระบบทำให้ในฤดูกาลผลิตผลไม้ปี 2557 ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ชาวสวนได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งความสำเร็จนี้เกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ตั้งแต่กรมส่งเสริมการเกษตร จังหวัดจันทบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัด ภาคราชการ ภาคเอกชน และสำคัญที่สุด คือ ตัวเกษตรกรเอง ที่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการผลไม้ด้วย”

กำลังโหลดความคิดเห็น