ศูนย์ข่าวขอนแก่น - อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อส่งเสริมเกษตรมิติใหม่ในภาคอีสาน ถอดบทเรียนนำแนวปฏิบัติระบบส่งเสริมเกษตรมิติใหม่ (MRCF System) ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดการพัฒนามากที่สุด ทั้งต่อเกษตรกร ตัวสินค้า และพื้นที่ทำกิน
วันนี้ (22 ก.ค.) ที่ห้องมงกุฎเพชร โรงแรมโฆษะ อำเภอเมืองขอนแก่น นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบส่งเสริมการเกษตรมิติใหม่ของหน่วยงานในภาคอีสาน (MRCF System) โดยสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 ขอนแก่น
ทั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลดำเนินงาน การถอดบทเรียนเพื่อนำองค์ความรู้สู่การพัฒนาแนวทางการดำเนินงาน การประสานการเชื่อมโยงส่งเสริมการเกษตรและงานวิชาการจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กิจกรรมในงานประกอบด้วย นิทรรศการผลการดำเนินงานตามระบบส่งเสริมการเกษตรมิติใหม่ (MRCF System) จากสำนักงานเกษตรจังหวัด 12 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบด้วย จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม นครพนม บึงกาฬ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร หนองคาย อุดรธานี และหนองบัวลำภู
รวมถึงนิทรรศการจากศูนย์ปฏิบัติการ 8 แห่งในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน นิทรรศการจากศูนย์การศึกษาพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร และนิทรรศการโครงการพัฒนาสำนักงานเกษตรอำเภอ (Smart Office) ของสำนักงานเกษตรอำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การพัฒนาทรัพยากรบุคคลภายในองค์กรให้เป็น Smart Extension Officer ต้นแบบในทุกพื้นที่ ควบคู่กับระบบส่งเสริมการเกษตรมิติใหม่ (MRCF System) จะเน้น 3 เป้าหมายหลักในการทำงาน ได้แก่ การพัฒนาเกษตรกร พัฒนาสินค้า และพัฒนาพื้นที่ให้มีการเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีที่สุด หรือ Chang to the Best
สำหรับการบริหารจัดการงานส่งเสริมการเกษตรในแต่ละพื้นที่ จะยึดตามการจัดพื้นที่เขตเกษตรเศรษฐกิจ หรือโซนนิ่ง เป็นสำคัญ ซึ่งจะมีนักส่งเสริมการเกษตร หรือ Smart Extension Officer ต้นแบบเป็นผู้ขับเคลื่อนกระบวนการทำงาน บริหารจัดการข้อมูลให้สมบูรณ์ถูกต้อง เป็นที่ยอมรับ เพื่อส่งเสริมให้เกิดเกษตรกรที่มีความรู้ความสามารถในทุกพื้นที่ จึงกำหนดนโยบายการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรในระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนให้แก่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด และศูนย์ปฏิบัติการ 8 แห่งในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
โดยนำระบบส่งเสริมการเกษตรมิติใหม่ (MRCF System) ไปปฏิบัติในพื้นที่นั้น เริ่มจากการบริหารจัดการข้อมูลของนักส่งเสริมการเกษตร จะต้องใช้ข้อมูลในการทำงาน โดยสามารถใช้ข้อมูลแผนที่ (Mapping) ในการทำงาน เพื่อการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และกำหนดเป้าหมายการทำงาน และมีการจัดระบบการใช้ข้อมูลสื่อสารระยะไกล (Remote Sensing) มาประยุกต์ใช้ระหว่างนักส่งเสริมการเกษตรกับเกษตรกรให้สะดวกรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์
รวมทั้งบูรณาการการทำงานในพื้นที่ให้ภาคีเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมเกิดการเรียนรู้ร่วมกันหรือ (Community Participation) และที่สำคัญนักส่งเสริมจะต้องเข้าใจในการเตรียมข้อมูลให้พร้อมสำหรับการให้บริการแบบเจาะจง (Specific Field Service) เพื่อให้การบริการตรงตามความต้องการ และใช้แก้ปัญหาของพื้นที่และเกษตรกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง