xs
xsm
sm
md
lg

สถานการณ์และแนวโน้มยางพาราไทยในตลาดโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพจากอินเตอร์เน็ต)
โดย..ธีรวุฒิ อ่อนดำ ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่
 
ราคาท้องถิ่น (ยางแผ่นดิบ) ณ ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่
 
*** สถานการณ์ผลิต ความต้องการใช้ และสต๊อกของไทย

จากข้อมูลสถิติของสถาบันวิจัยยาง ประกอบกับการประมาณการเปรียบเทียบข้อมูลไตรมาส 3/2014 พบว่า สถานการณ์ผลิต การส่งออก และสต๊อกยางธรรมชาติของไทย มีจำนวน 831, 767 และ 1,396 พันตัน เพิ่มขึ้น 27.7%, 16.9% และ 10.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสล่าสุด ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศมีจำนวน 136 พันตัน (คิดเป็น 16.5% ของปริมาณผลผลิตทั้งหมดในประเทศ) ลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสล่าสุด โดยมีประเทศส่งออกที่สำคัญคือ จีน รองลงมาคือ มาเลเซีย และญี่ปุ่น จำนวน 356 94 และ 47 พันตัน คิดเป็นสัดส่วน 50.7%, 13.4% และ 6.8% เมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกทั้งหมด

***สถานการณ์ราคาภายในประเทศ

จากข้อมูลสถิติ ณ ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ พบว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ราคายางพาราปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคาเฉลี่ยรายเดือน ยางแผ่นดิบชั้น 3 และน้ำยางสด ณ โรงงาน (ราคาท้องถิ่น) อยู่ที่ 46.7 และ 46.2 บาท/กก. และยางแผ่นรมควันชั้น 3 (ราคาประมูล) อยู่ที่ 51.0 บาท/กก. ลดลง 32.4%, 23.9% และ 26.8% ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับราคาเฉลี่ยช่วงเดือนมกราคม ต้นปีที่ผ่านมา และลดลง 74.3%, 72.5% และ 73.1% เมื่อเทียบกับราคาสูงสุด ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2554

***แนวโน้มผลผลิต ความต้องการใช้โดยรวมของโลก

สำหรับแนวโน้มผลผลิตยางธรรมชาติโดยรวมของโลกไตรมาสที่ 4/2014 ประกอบกับการประมาณการโดยใช้ข้อมูลสถิติที่ผ่านมา คาดว่าปริมาณผลผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ ไม่เพียงอินโดนีเซีย มาเลเซีย และหลายประเทศในทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ เช่น ไนจีเรีย ไลบีเรีย แคมเมอรูน บราซิล และกัวเตมาลา ต่างหันมาปลูกยางพาราเพิ่มขึ้น ขณะที่บทบาทของกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) เริ่มมีมากขึ้น อันเป็นผลจากนโยบายของจีนที่ส่งเสริมให้ขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราทั้งใน และต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงต่อการจัดหายางพาราให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ

ด้านแนวโน้มความต้องการใช้ยางธรรมชาติ ไตรมาสที่ 4 ปี 2014 คาดว่าปริมาณความต้องการใช้โดยรวมของโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากสัญญาณเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง และความกังวลในเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจโลกที่สะท้อนผ่านการปรับลด GDP โลก ปี 2014 ลงเหลือ 3.3% จากเดิม 3.4% และปรับลด GDP ปี 2015 ลงเหลือ 3.8% จากเดิม 4.0% ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ขณะที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ปรับลด GDP ของ EU ลงเหลือ 0.8% จากเดิม 1.2% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และอุปสงค์ที่หดตัว ส่วนธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ของจีนลงเหลือ 7.4% ในปี 2557 และ 7.2% ในปี 2558

แม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมของโลกเริ่มชะลอตัวลง แต่เศรษฐกิจอเมริกาเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนผ่านการปรับลดวงเงิน QE ต่อเดือนลง และน่าจะสิ้นสุดโครงการในการประชุมเดือนตุลาคมนี้ ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ของอเมริกา ปี 2014 เป็น 2.2% จากเดิม 1.6% เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ อเมริกาถือเป็นประเภทผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ยางพาราขั้นสุดท้ายที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะยางล้อ และผลิตภัณฑ์ยาง (ถุงมือยาง) ผ่านการนำเข้าสินค้าจากจีน ดังนั้น แม้ว่าเศรษฐกิจจีนเริ่มแผ่วลง แต่ภาพรวมความต้องการยางพาราจากจีนเชื่อว่าไม่ได้รับผลกระทบทั้งหมด

***แนวโน้มผลผลิต ความต้องการใช้โดยรวมของไทย

สำหรับแนวโน้มผลผลิตของไทย แม้ว่าในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ (คิดเป็นร้อยละ 62 เทียบกับพื้นที่กรีดยางพาราทั้งหมดของประเทศ) เผชิญกับช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จึงส่งผลต่อการกรีดยางพาราในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ช่วงไตรมาส 4 พื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะฝั่งตะวันออก (คิดเป็นร้อยละ 72.8 เทียบกับพื้นที่กรีดยางพาราทั้งหมดในภาคใต้) เข้าสู่ช่วงมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคาดว่าผลกระทบหนักสุดจะอยู่ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ซึ่งจะส่งผลทำให้ในหลายพื้นที่ไม่สามารถกรีดยางพาราได้ ดังนั้น ในภาพรวมปริมาณผลผลิตทั้งหมดของไทยยังถูกจำกัดด้วยมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในฝั่งจังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออก

ขณะที่แนวโน้มความต้องการใช้ยางพาราในประเทศ ในระยะสั้นอาจได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลผ่านการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่องค์กรสถาบันเกษตรกร ตลอดจนภาคเอกชนในการแปรรูปยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่ในระยะยาวผลผลิตที่ได้อาจถูกจำกัดเพียงในประเทศเท่านั้น หากไม่มีมาตรการอื่นตามมาที่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการส่งเสริมมาตรฐานคุณภาพสินค้า และการจัดหาตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน ธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ของไทย ปี 2014 เหลือ 1.5% จากเดิม 3% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในอาเซียน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบริโภค และการลงทุนในประเทศที่ฟื้นตัวช้า ส่วนธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้ปรับลดประมาณการ GDP ไทย ปี 2014 เหลือ 1.2% เช่นกัน

***แนวโน้มการส่งออกของไทย และราคาในประเทศ

สำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยไตรมาสที่ 4/2014 คาดว่าปริมาณการส่งออกของไทยขยายตัวในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสล่าสุด ขณะที่บทบาทของไทย ในการเป็นผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก อาจลดความสำคัญลงจากการที่หลายประเทศหันไปปลูกยางพารา และเริ่มเก็บผลผลิตได้เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อปริมาณการส่งออกของไทยเป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันสัดส่วนผลผลิตของไทยลดลงเหลือเพียง 25.6% ของปริมาณผลผลิตโลก (จากเดิม ไตรมาส 4/2013 เท่ากับ 38.72%) นอกจากนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัวลงย่อมส่งผลต่อปริมาณการส่งออกของไทยเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทิศทางค่าเงินบาทที่ถือว่ายังอ่อนค่า เมื่อเทียบกับช่วงกลางปีที่ผ่านมา น่าจะเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยหนุนการส่งออกของไทย

สำหรับแนวโน้มราคายางในประเทศ คาดว่าจะยังคงเคลื่อนไหวขึ้นลงอยู่ในกรอบจำกัด โดยมีแนวโน้มขยับขึ้นในช่วงต้นไตรมาส ระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน จากปริมาณผลผลิตโดยรวมที่ลดลง ด้วยมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในฝั่งจังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออก และอาจทำสถิติต่ำสุดใหม่ในรอบ 5 ปีกว่า ต่ำกว่าระดับ 43.2/40.0 บาท/กก. (ยางแผ่นดิบ @ราคาท้องถิ่น) ในครึ่งหลังไตรมาส 4 ช่วงเดือนธันวาคม จากปริมาณผลผลิตที่กลับมาออกสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยมีปัจจัยกดดัน และสนับสนุนที่สำคัญคือ

*** ปัจจัยบวก

การแพร่ระบาดของโรคไวรัสอีโบลาในแถบแอฟริกาตะวันตก และความกังวลว่าการแพร่ระบาดอาจจะลุกลามไปยังทวีปอื่น ส่งผลให้ดีมานด์ถุงมือยางในตลาดโลกเพิ่มขึ้น

International Rubber Study Group (IRSG) ปรับลดคาดการณ์ปริมาณผลผลิตส่วนเกินของอุตสาหกรรมยางพารา ลงเหลือ 0.2 ล้านตัน จากเดิมที่คาดว่าว่าใน 2015 จะมีปริมาณผลผลิตส่วนเกินจากปี 2014 จำนวน 0.3 ล้านตัน

***ปัจจัยลบ
บทบาทของไทย ในการเป็นผู้ผลิตหลักในตลาดโลก อาจลดความสำคัญลง

ปริมาณผลผลิตยางธรรมชาติที่จะออกสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น ในช่วงปลายมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนธันวาคม ส่งผลกดดันราคายางพาราโดยรวมภายในประเทศ

ปริมาณสต๊อกยางสังเคราะห์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาจส่งผลต่อราคายางสังเคราะห์ และกดดันราคายางพาราเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ปริมาณสต๊อกยางธรรมชาติของโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าอาจแตะระดับ 3.2 ล้านตัน ในช่วงไตรมาส 4 ก็จะยิ่งเป็นปัจจัยกดดันราคายางเพิ่มมากขึ้น

กองทุนการเงินระหว่งประเทศ (IMF) ปรับลด GDP โลก ปี 2014 ลงเหลือ 3.3% จากเดิม 3.4% และปรับลด GDP ปี 2015 ลงเหลือ 3.8% จากเดิม 4.0%

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ปรับลด GDP ของ EU ลงเหลือ 0.8% จากเดิม 1.2% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และอุปสงค์ที่หดตัว

ธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ของจีนลงเหลือ 7.4% ในปี 2557 และ 7.2% ในปี 2558 และปรับลดคาดการณ์ GDP ของไทย ปี 2014 ลงเหลือ 1.5% จากเดิม 3% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในอาเซียน ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบริโภค และการลงทุนในประเทศที่ฟื้นตัวช้า

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ปรับลดประมาณการ GDP ไทย ปี 2014 เหลือ 1.2%

แนวโน้มผลผลิตยางธรรมชาติโดยรวมของโลกไตรมาสที่ 4/2014 ประกอบกับการประมาณการโดยใช้ข้อมูลสถิติที่ผ่านมา คาดว่าปริมาณผลผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ขณะที่แนวโน้มความต้องการใช้ยางธรรมชาติ คาดว่ามีแนวโน้มชะลอตัวลงจากสัญญาณเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง และความกังวลในเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจโลก ที่สะท้อนผ่านการปรับลด GDP โลก ปี 2014 ลงเหลือ 3.3% จากเดิม 3.4% และปรับลด GDP ปี 2015 ลงเหลือ 3.8% จากเดิม 4.0% ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ขณะที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ปรับลด GDP ของ EU ลงเหลือ 0.8% จากเดิม 1.2% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และอุปสงค์ที่หดตัว ส่วนธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ของจีนลงเหลือ 7.4% ในปี 2557 และ 7.2% ในปี 2558

ส่วนแนวโน้มผลผลิตของไทย ในภาพรวมคาดว่าปริมาณผลผลิตทั้งหมดของไทยยังถูกจำกัดด้วยมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในฝั่งจังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออก ขณะที่แนวโน้มความต้องการใช้ยางพาราในประเทศ ในระยะสั้นอาจได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลผ่านการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่องค์กร สถาบันเกษตรกร ตลอดจนภาคเอกชนในการแปรรูปยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่ในระยะยาวผลผลิตที่ได้อาจถูกจำกัดเพียงในประเทศเท่านั้น หากไม่มีมาตรการอื่นตามมาที่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการส่งเสริมมาตรฐานคุณภาพสินค้า และการจัดหาตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน ธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ของไทย ปี 2014 เหลือ 1.5% จากเดิม 3% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในอาเซียน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบริโภค และการลงทุนในประเทศที่ฟื้นตัวช้า ส่วนธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้ปรับลดประมาณการ GDP ไทย ปี 2014 เหลือ 1.2% เช่นกัน

สำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยไตรมาสที่ 4/2014 คาดว่าปริมาณการส่งออกของไทยขยายตัวในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสล่าสุด ขณะที่บทบาทของไทยในการเป็นผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก อาจลดความสำคัญลงจากการที่หลายประเทศหันไปปลูกยางพารา และเริ่มเก็บผลผลิตได้เพิ่มขึ้น ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัวลง ส่งผลกดดันต่อทิศทางการส่งออกของไทยเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทิศทางค่าเงินบาทที่ถือว่ายังอ่อนค่า เมื่อเทียบกับช่วงกลางปีที่ผ่านมา น่าจะเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยหนุนการส่งออกของไทย

ส่วนแนวโน้มราคายางในประเทศ คาดว่าจะยังคงเคลื่อนไหวขึ้นลงอยู่ในกรอบจำกัด โดยมีแนวโน้มขยับขึ้นในช่วงต้นไตรมาส ระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน จากปริมาณผลผลิตโดยรวมที่ลดลง ด้วยมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในฝั่งจังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออก และอาจทำสถิติต่ำสุดใหม่ในรอบ 5 ปีกว่า ต่ำกว่าระดับ 43.2/40.0 บาท/กก. (ยางแผ่นดิบ @ราคาท้องถิ่น) ในครึ่งหลังไตรมาส 4 ช่วงเดือนธันวาคม จากปริมาณผลผลิตที่กลับมาออกสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับปัจจัยลบทางด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ และแนวโน้มผลผลิตโลกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณสต๊อกยางธรรมชาติของโลกที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าอาจแตะระดับ 3.2 ล้านตัน ในช่วงไตรมาส 4 ก็จะยิ่งเป็นปัจจัยกดดันราคายางเพิ่มมากขึ้น

***สถานการณ์ผลิต ความต้องการใช้ และสต๊อกของโลก

จากข้อมูลสถิติของ International Rubber Study Group (IRSG) ประกอบกับการประมาณการ เปรียบเทียบข้อมูลไตรมาส 3/2014 พบว่า ปริมาณผลผลิต ความต้องการใช้ และสต๊อกยางธรรมชาติของโลกมีจำนวน 3,242, 2,983 และ 2,985 พันตัน เพิ่มขึ้น 17.9%, 1.3% และ 9.5% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสล่าสุด และเพิ่มขึ้น 0.9%, 2.5% และ 23.3% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า

ขณะที่ปริมาณผลผลิต และสต๊อกยางสังเคราะห์ของโลกมีจำนวน 3,951 และ 4,224 พันตัน เพิ่มขึ้น 1.3% และ 0.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสล่าสุด และเพิ่มขึ้น 2.8% และ 0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยที่ปริมาณความต้องการใช้ยางสังเคราะห์ของโลกมีจำนวน 3,935 พันตัน ลดลง 0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสล่าสุด และเพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น