xs
xsm
sm
md
lg

“เชฟรอน” จัดโครงการพัฒนาชุนชนเข้มแข็ง สร้างอาชีพชาวบ้านอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
นครศรีธรรมราช - บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สรุปผลโครงการ “โครงการเชฟรอน พลังใจ พลังคน เพื่อชุมชนเข้มแข็ง” ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา พบประชาชนใน 50 หมู่บ้าน ใน จ.นครศรีฯ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีกลุ่มส่งเสริมอาชีพกว่า 80 กลุ่ม เปิดโอกาสให้ชาวบ้านกว่า 4,000 คน ได้เข้าถึงเงินทุน เกิดการออมเงินในพื้นที่กว่า 70 ล้านบาท

วันนี้ (11 ต.ค.) บริษัทเอกชนหลายแห่งในประเทศไทย เลือกที่จะดูแลสังคมผ่านกิจการโครงการต่างๆ ซึ่งทางเลือกที่สำคัญอีกทางเลือกนั่นคือ การสร้างฐานรากของชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งหมายถึงชุมชนนั้นจะสามารถเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพที่มั่นคงผ่านความร่วมมือของแต่ละกลุ่มที่พัฒนาความเชื่อมโยงจนเป็นเครือข่ายที่สามารถเกื้อหนุนซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี ผลพวงที่ตามมาคือ ความเข้มแข็งของสมาชิกในชุมชน จะเป็นฐานให้ชุมชนเข้มแข็งย่อมที่จะส่งผลต่อสังคมโดยรวม

อมรรัตน์ จินดานิล ตัวแทนกลุ่มสตรีบ้านตลาดพฤหัส (แปรรูปกล้วยน้ำว้า) หมู่ที่ 9 ตำบลปากพูน อำเภอเมือง นครศรีธรรมราช หนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม ที่เริ่มต้นขึ้นจากการรวมตัวกัน และนำเอากล้วยน้ำว้าที่มีอยู่ดาษดื่นในชุมชนของตัวเอง และใกล้เคียงมาพัฒนาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายจนได้ผลดีจากการเรียนรู้ต่อยอด

“แรกเริ่มเดิมทีชุมชนบ้านตลาดพฤหัสของเราไม่ค่อยมีกลุ่มอาชีพอะไร จนเมื่อได้เข้าร่วมกันพัฒนาตัวเองในรูปของกลุ่มคนที่ทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยการหนุนของธนาคารพัฒนาหมู่บ้าน เราก็ได้รับการแนะนำให้รวมกลุ่มกันเพื่อประกอบอาชีพ ดำเนินการมาประมาณ 11 เดือน กิจกรรมหลักของกลุ่มคือ การแปรรูปกล้วยน้ำว้าเป็นกล้วยฉาบรสบาร์บีคิว และรสอื่นๆ ที่แปลกใหม่ จนปัจจุบันนี้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป็นที่ยอมรับของตลาด มีคำสั่งซื้อเข้ามาจนแทบผลิตไม่ทัน มีรายได้เข้ากลุ่มจากยอดขายตอนเริ่มเดือนละประมาณ 10,000-15,000 บาท แต่ตอนนี้มีประมาณ 35,000-45,000 บาท เรากำลังมองถึงวิธีการที่จะขยายการผลิตในอนาคตอันใกล้นี้” เธออธิบาย

อมรรัตน์ บอกอีกว่า ตอนนี้นอกเหนือจากรายได้ของกลุ่มแล้ว การผลิตกล้วยฉาบของกลุ่มยังช่วยให้ชาวบ้านที่ปลูกกล้วยในชุมชน และใกล้เคียงได้เกิดรายได้ด้วย เมื่อก่อนกล้วยน้ำว้าจะไม่ค่อยมีราคา ซื้อขายกันเพียงหวีละ 5 บาท ตลาดหลักคือ กลุ่มผู้เลี้ยงนก แต่ตอนนี้ทางกลุ่มจะรับซื้อกล้วยน้ำว้าจากเกษตรกรโดยตรงจากสวนอยู่ที่หวีละประมาณ 7-8 บาท ปกติเขาต้องเอากล้วยน้ำว้าไปส่งขายในตลาดในเมือง เสียค่าขนส่งอีก แต่ตอนนี้ไม่ต้องเสียค่าขนส่งแล้ว สามารถนำมาขายที่กลุ่มของเราได้เลย เรารับซื้อหมด

หทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ เชฟรอนประเทศไทย ได้สรุปภาพรวมถึงการจัดทำการพัฒนาสังคม ชุมชน ที่เราเข้าไปมีส่วนร่วมผ่าน “โครงการเชฟรอน พลังใจ พลังคน เพื่อชุมชนเข้มแข็ง” ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 ซึ่งบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้ร่วมมือกับสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (พีดีเอ) ในการศึกษาปัญหาสภาพชุมชน ค้นหาศักยภาพชุมชน และจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนครอบคลุม 50 หมู่บ้าน ใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเอท่าศาลา และอำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช

“จากการมีส่วนร่วม และความต้องการของชุมชน โดยได้รับคำแนะนำด้านการพัฒนาศักยภาพของชุมชน การพัฒนาทักษะ และการบริหารจัดการ จากสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน เรายินดีที่ได้ให้การสนับสนุนเพื่อความเป็นอยู่ของชุมชนที่ดีขึ้น ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา การดำเนินงานร่วมกับชุมชนทั้ง 50 หมู่บ้าน ได้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม จนสามารถจัดตั้งธนาคารพัฒนาหมู่บ้าน กองทุน และกลุ่มอาชีพต่างๆ ปัจจุบันนี้เรามีกลุ่มส่งเสริมอาชีพมากกว่า 80 กลุ่ม มีเครือข่ายธนาคารพัฒนาหมู่บ้านทั้ง 50 หมู่บ้าน ที่จะคอยแลกเปลี่ยนความรู้ และสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อเป็นแหล่งทุนที่มั่นคง และเป็นที่พึ่งของชุมชนได้ นอกจากนั้น ยังมีการจัดตั้งสหกรณ์ชุมชน ซึ่งสามารถต่อยอดให้ก้าวหน้ามากขึ้นขยายการประกอบเป็นธุรกิจหลักได้ในอนาคต” ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ เชฟรอนประเทศไทย อธิบาย

เธอยังบอกอีกว่า ใช่ว่า 3 ปีแล้วจะจบเพียงเท่านี้ แต่เรายังส่งเสริมต่อไปอย่างต่อเนื่อง เชฟรอนประเทศไทย และสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน จึงเห็นพ้องที่จะเดินในทิศทางการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนต่อไป เราจึงสนับสนุนโครงการนี้อย่างต่อเนื่องจนถึงปี พ.ศ.2559 ด้วยงบประมาณที่สูงขึ้น เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเดินไปสู่เป้าหมายของโครงการที่ตั้งไว้

ศิวพร สุภาผล หนึ่งในสมาชิกธนาคารพัฒนาหมู่บ้านบ้านป่าไหม้ ตำบลอินคีรี อำเภอพรหมคีรี อธิบายถึงกิจการของธนาคารหมู่บ้านว่า ธนาคารพัฒนาหมู่บ้าน ทำให้คนในชุมชนเกิดการมีส่วนร่วม มีเงินออม มีความสามัคคี คนในชุมชนมีที่พึ่งด้านเงินทุนในการกู้ไปทำประโยชน์ และยังทำให้มีกลุ่มอาชีพเกิดขึ้น เช่น กลุ่มจักสาน กลุ่มเลี้ยงด้วงสาคู ซึ่งช่วยให้คนในชุมชนมีอาชีพเสริม มีรายได้เพิ่มขึ้น

“นอกจากธนาคารพัฒนาหมู่บ้านจะช่วยคนในชุมชนมีแหล่งเงินทุนสำหรับใช้ในด้านอาชีพแล้ว ในด้านการศึกษาถือว่าช่วยได้มาก เพราะผู้ปกครองที่เดือดร้อนเรื่องเงินในช่วงเปิดเทอม ยังสามารถกู้เงินไปใช้จ่ายค่าเทอมให้บุตรหลานได้ ทั้งช่วยให้คนในชุมชนไม่ต้องเป็นหนี้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อเดือน สมาชิกสามารถกู้เงินจากธนาคารพัฒนาหมู่บ้านในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียงร้อยละ 1 ต่อเดือนเท่านั้น ลดภาระของคนในชุมชนได้มากเลยทีเดียว” สมาชิกธนาคารหมู่บ้านรายนี้กล่าว

เมื่อหันไปดูตัวเลขในภาคขยายของโครงการเชฟรอน พลังใจ พลังคน เพื่อชุมชนเข้มแข็ง ส่งผลให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน เช่น ด้านเศรษฐกิจที่เกิดการออมเงินรวมในพื้นที่กว่า 70 ล้านบาท และมีแนวโน้มของการเติบโตที่ขยายต่อไปได้อย่างมั่นคง เปิดโอกาสให้ชาวบ้านกว่า 4,500 คน ได้เข้าถึงแหล่งทุน ด้านคุณภาพชีวิต ที่ชาวบ้านกว่า 2,300 คน มีรายได้เสริมจากการรวมกลุ่มอาชีพ และชุมชนยังได้ร่วมสร้างสถานที่ออกกำลังกายใน 30 หมู่บ้าน และนำเงินทุนมาปรับปรุงและพัฒนาระบบประปาหมู่บ้าน 15 หมู่บ้าน ด้านการศึกษา ซึ่งมีการสนับสนุนการเรียนการสอนแก่โรงเรียน 35 โรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 23 แห่ง และด้านสิ่งแวดล้อม ที่เยาวชนและคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกต้นไม้ และปลูกป่าชายเลน ในพื้นที่ 220 ไร่ ซึ่งสะท้อนความเข้มแข็งของชุมชนได้เป็นอย่างดี
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น