โดย..สุดเฉลิม ศัสตราพฤกษ์
อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี
soodchalerm.s@gmail.com
ปัจจุบันอุตสาหกรรมการบินมีการพัฒนา และการแข่งขันกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุกวันนี้มีการเดินทางที่เชื่อมโยงได้อย่างทั่วถึง และรวดเร็ว รวมทั้งทำให้สามารถช่วยลดระยะเวลาของการเดินทางได้อีกด้วย และการเกิดขึ้นของสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost) ทำให้การเดินทางโดยใช้อากาศยานไม่ได้เป็นเรื่องยากลำบาก หรือต้องเสียค่าใช้จ่ายมากอีกต่อไป ผู้โดยสารไม่ว่าจะมีฐานะทางสังคม ตำแหน่งทางสังคม อาชีพ เพศ เชื้อชาติ ศาสนาใด ฯลฯ ก็สามารถเลือกใช้บริการอากาศยานได้โดยอิสระ และเสรีตามความประสงค์ของผู้ใช้บริการ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาผู้เขียนก็มีโอกาสใช้บริการการขนส่งทางอากาศในหลายครั้ง เพราะเหตุผล และเงื่อนไขที่ได้แสดงไว้ข้างต้น
แต่ผู้เขียนได้สังเกตเห็นถึงความบกพร่อง และความขาดความรับผิดชอบหลายประการทั้งจากผู้ให้บริการ คือ สายการบิน ผู้รับบริการ คือ ผู้โดยสาร และผู้อำนวยความสะดวก คือ การท่าอากาศยาน โดยในส่วนของสายการบิน (Airline) เนื่องการการประกอบธุรกิจใดๆ ก็ตามเจ้าของกิจการต้องการผลกำไรจากการดำเนินการ เราจะเห็นได้ว่าปัจจุบันการขยายเส้นทางการบินของสายการบินที่จำนวนอากาศยาน หรือเครื่องบินมีไม่มากพอก็อาจจะเกิดปัญหา เช่น กรณีเครื่องบินลำหนึ่งเกิดไม่พร้อมที่จะทำการบินก็อาจทำให้กระทบต่อการเดินทางของผู้โดยสาร เช่น การยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล้าช้า ฯลฯ
อีกทั้งการควบคุม และการอำนวยความสะดวกของเจ้าหน้าที่ประจำสายการบินทั้งภาคพื้นดิน และบนอากาศยานก็อาจไม่สามารถให้ความสะดวกได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากอ่อนล้าจากภาระงานและจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของการท่าอากาศยาน หลายครั้งที่เห็นความบกพร่องตรงจุดตรวจค้นเพื่อรักษาความปลอดภัย บางครั้งผู้เขียนสังเกตเห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ตรวจสอบในจอภาพเอกซเรย์ (X-Ray) แต่อย่างใด ส่วนนี้พูดในภาพรวมหลายๆ สนามบินที่เคยได้ใช้บริการอาจไม่ทั้งหมดไม่บ่อยมากนัก แต่ก็สามารถสังเกตเห็นได้ในบางโอกาส และรวมถึงอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่การท่าอากาศยานควรจัดเตรียมให้แก่ผู้โดยสาร เพราะมีการเก็บภาษีสนามบินต่อผู้โดยสารทุกคนที่ใช้บริการการเดินอากาศยาน ซึ่งรวมอยู่ในอัตราค่าโดยสาร
แต่ในส่วนที่จะนำเสนอในวันนี้ และถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญสามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเองก็คือ ในส่วนของผู้โดยสาร หรือพวกเรานั่นเอง บ่อยครั้งที่ขณะอยู่บนอากาศยานก่อนที่เครื่องบินจะทำการบินหรือ Take Off ก็จะมีประกาศจากสายการบินว่า ให้ผู้โดยสารปฏิบัติตามกฎรักษาความปลอดภัยการเดินอากาศยาน สิ่งหนึ่งที่ทุกคนคุ้นเคยก็คือ การปิดอุปกรณ์สื่อสาร เพราะเป็นอุปกรณ์ที่มีคลื่นแม่เหล็กเป็นสิ่งรบกวนระบบการนำทางของเครื่องบิน และสิ่งนั้นที่ทุกคนมีเป็นปัจจัยที่ 5 ก็คือ โทรศัพท์มือถือนั่นเอง
หลายครั้งที่ผู้เขียนสังเกตเห็นผู้โดยสารหลายท่านที่เมินเฉยต่อกฎดังกล่าว อาจเป็นทั้งตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจ บางท่านเป็นผู้สูงอายุที่อาจจะไม่รู้วิธีใช้งาน ซึ่งบางครั้งหากผู้เขียนสามารถอธิบายขั้นตอนการปิดเครื่อง (Turn Off) ให้ได้ หรืออาจจะขออนุญาตปิดเครื่องมือสื่อสารให้และเมื่อถึงจุดหมายปลายทางก็จะเปิดให้อีกครั้งหนึ่ง แต่มีอีกหลายท่านที่ไม่ได้ปฏิบัติตามทั้งที่เข้าใจดี อาจเป็นเพราะพวกเขาไม่ทราบถึงภัยที่อาจจะทำให้ผู้โดยสารทั้งอากาศยานอาจเป็นอันตรายจากความประมาท และไม่มีความรับผิดชอบต่อบุคคลอื่น
จากที่ได้เล่ามาก็คงสามารถทำให้สังคมได้ตระหนังถึงความปลอดภัยในการใช้บริการขนส่งทางอากาศ เพื่อไม่ให้เราเป็นต้นเหตุของการสูญเสีย หรืออันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อบุคคลอื่นโดยที่ตั้งใจ หรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ อาจจะสะท้อนไปถึงสายการบินให้เพิ่มการประกาศถึงบุคคลที่ไม่สามารถทำการปิดเครื่องมือสื่อสารได้ด้วยตนเองอาจต้องการความช่วยเหลือจากพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน (Flight Attendances) คอยให้คำแนะนำ ส่วนท่านอื่นๆ ก็คงขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของแต่ละท่านแล้วนะครับ
ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่าปัจจุบันเราพูดถึงหลัก Corporate Social Responsibility (CSR) ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร ซึ่งคือการดำเนินกิจการภายใต้หลักจริยธรรม และการจัดการที่ดี แต่เราก็อย่ามองข้ามการที่ปัจเจกบุคคลต้องรับผิดชอบต่อเพื่อนร่วมสังคมอีกทางหนึ่งด้วย