xs
xsm
sm
md
lg

ครบรอบ 27 ปี ท่าอากาศยานภูเก็ต ยันอาคารหลังใหม่เสร็จ 14 ก.พ.59 แน่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ครบรอบ 27 ปี การดำเนินงานท่าอากาศยานภูเก็ต พร้อมเป็นประตูสู่อันดามัน (Gateway to the Andaman) ขณะที่การสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่นั้น ผอ.การท่าฯ มั่นใจ 14 ก.พ. 59 เสร็จทัน และเริ่มทดลองเปิดใช้แน่นอน พร้อมยืนยันไม่มีการขยาย และสร้างรันเวย์ใหม่แน่

เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (8 ต.ค.) นางมนฤดี เกตุพันธุ์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต พร้อมด้วย นายอำนวย วาระชาติ ร.ต.ธานี ช่วงชู รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต ร่วมกันแถลงพลการดำเนินงานในระยะเวลา 1 ปี ว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินการภารกิจท่าอากาศยานภูเก็ต ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตเป็นประตูสู่การท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน โดยระหว่างเดือนตุลาคม 2557-กันยายน 2558 ท่าอากาศยานภูเก็ต มีจำนวนเที่ยวบินรวมทั้งสิ้น 81,997 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.06 แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 43,130 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.79 และเที่ยวบินภายในประเทศ 38,867 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.93 และมีผู้โดยสารใช้บริการรวมทั้งสิ้น 12.53 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.19 แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 6.84 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.29 และผู้โดยสารภายในประเทศ 5.68 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.29 โดยมีผู้โดยสารชาวจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย และอินเดีย เดินทางมาใช้บริการมากสุดตามลำดับ

ปัจจุบัน ท่าอากาศยานภูเก็ต อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างตามโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต เพื่อเพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสารจากเดิม 6.5 ล้านคนต่อปี เป็น 12.5 ล้านคนต่อปี ขณะนี้งานก่อสร้างส่วนใหญ่เสร็จเรียบร้อยแล้ว คงเหลืออีก 2 งาน คือ งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ทั้งนี้ มีความคืบหน้าประมาณร้อยละ 80 ซึ่งมั่นใจว่าการก่อสร้างจะเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้อย่างแน่นอน และตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 จะเริ่มเปิดรับเที่ยวบินที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ เพื่อเป็นการทดลองระบบเป็นเวลา 2 เดือน ก่อนที่จะมีการเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในเดือน พ.ค.59

ขณะที่ในส่วนของอาคารผู้โดยสารหลังเก่านั้นจะมีการปรับปรุงเป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศต่อไป และเนื่องจากอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศเป็นอาคารที่มีการก่อสร้างใหม่ทั้งอาคาร ประกอบกับมีการติดตั้งระบบสิ่งอำนวยความสะดวก วัสดุอุปกรณ์สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ดังนั้น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมการเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานภูเก็ตหลังใหม่ (Operational Readiness and Airport Transfer : ORAT) โดยมีหน้าที่เตรียมความพร้อมองค์ประกอบทุกด้านที่เกี่ยวข้อง เช่น ความพร้อมของการปฏิบัติการ การบริการสิ่งอำนวยความสะดวก บุคลากรของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการปฏิบัติงาน และประกอบการในอาคารผู้โดยสารให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ

ส่วนเรื่องของทางวิ่งที่ปัจจุบันมีระยะทางวิ่ง 3,000 เมตร เกี่ยวกับเรื่องนี้ นางมนฤดี กล่าวว่า จะไม่มีการขยายทางวิ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมแน่นอน เนื่องจากมีสถานที่จำกัด และไม่มีการสร้างทางวิ่งใหม่ด้วย แม่ว่าจะมีข้อจำกัดเรื่องของทางวิ่งที่มีเพียง 30,000 เมตร ทำให้รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่สุดไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรค เพราะทางสายการบินต่างๆ เปลี่ยนมาใช้เครื่องบินในขนาดที่สนามบินภูเก็ตรับได้ โดยเลือกเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น ส่วนกรณีที่มีเครื่องบินมาลงในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตแล้วเกิดมีปัญหาทำให้ไม่สามารถเคลื่อนย้ายออกจากรันเวย์ได้นั้น คิดว่าเรื่องนี้ไม่มีปัญหาเพราะมีแผนในการดำเนินการอยู่แล้ว ถ้าย้ายไม่ได้จริงๆ ก็จะต้องเปลี่ยนให้เครื่องบินไปลงที่สนามบินหาดใหญ่แทน แต่คาดว่าในปีหน้าประมาณเดือน มิ.ย. น่าจะมีการลงนามบันทึกความร่วมมือกับทางสนามบินกระบี่ ในการรองรับเหตุการณ์ดังกล่าว

นางมนฤดี กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากการเร่งรัดการพัฒนาท่าอากาศยานดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ต่างๆ ที่จะมีผลกระทบต่อกิจการขนส่งทางอากาศของโลก และของประเทศ เช่น ภัยด้านการก่อการร้าย ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคระบาด และการประเมินการปฏิบัติงานตามมาตรฐานสากล เป็นต้น โดยในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ท่าอากาศยานภูเก็ต ได้จัดการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินเต็มรูปแบบประจำปีงบประมาณ 2558 ตลอดจนจัดให้มีการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) และแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Plan) เพื่อเตรียมความพร้อม และให้การดำเนินภารกิจของท่าอากาศยานเป็นไปอย่างต่อเนื่องหากประสบวิกฤตการณ์ต่างๆ

รวมทั้งประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานให้สอดคล้อง และสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อให้กิจการขนส่งทางอากาศของประเทศ และการดำเนินกิจการท่าอากาศยานเป็นไปอย่างราบรื่น เช่น กรณีมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 หรือเมอร์ส-โควี ท่าอากาศยานภูเก็ต ได้ร่วมมือใกล้ชิดกับกรมควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง การเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดสถานที่ การติดตั้งเทอร์โมสแกน การจัดหลุมจอดเฉพาะเพื่อรองรับเครื่องบินจากประเทศกลุ่มเสี่ยงตามโครงการตรวจสอบกำกับดูแลความปลอดภัยการบินพลเรือน และเตรียมความพร้อมในการรองรับโครงการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือน

ซึ่งในการทำงานจะมีการประสานกับกรมการบินพลเรือน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้งานบรรลุวัตถุประสงค์ต่อไป ในส่วนผลดำเนินงานด้านการปรับปรุงการให้บริการด้านต่างๆ ในรอบปีที่ผ่านมา ท่าอากาศยานภูเก็ตได้พัฒนาการให้บริการต่างๆ ภายในท่าอากาศยานให้มีความสอดคล้องต่อกลุ่มผู้ใช้ท่าอากาศยานดังกล่าว เช่น การจัดโครงการ HKT heart U ให้บริการข้อมูลแก่ผู้โดยสาร และผู้ใช้บริการนอกเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์จำนวน 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษารัสเซีย การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ การจัดทำป้ายบอกทิศทาง และป้ายแนะนำภายในอาคารผู้โดยสารเป็นภาษาต่างๆ

รวมถึงการดูแลด้านสุขอนามัย จนได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (OHSAS 18001:2007 หรือ มอก.18001:2554) จากบริษัท บูโรเวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และได้รับรางวัลสถานประกอบการดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ประจำปี 2558 ซึ่งท่าอากาศยานภูเก็ต ได้รับรางวัลนี้ติดต่อกันเป็นปีที่ 12 เป็นต้น นอกจากนี้ ท่าอากาศยานภูเก็ตยังให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานทางธุรกิจควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) โดยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการสนับสนุนคุณภาพชีวิต และกิจกรรมของชุมชนโดยรอบท่าอากาศยานภูเก็ต เช่น การจัดสร้างอาคารอเนกประสงค์ มัสยิดนูรุ้ลอิบาดียะส์ บ้านหมากปรก การจัดทำโครงการอาหารกลางวันจากท่าอากาศยานภูเก็ตสู่ชุมชนโรงเรียนบ้านแหลมทราย การสร้างรั้วโรงเรียนบ้านป่าครองชีพ การจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน และการจัดงานรวมน้ำใจสู่มัสยิดอัลอิสละห์ เป็นต้น อีกทั้งจะเร่งดำเนินการโครงการต่างๆ อีกมากมายในปีงบประมาณ 2559 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงการปรับปรุง Runway Strip และ Runway End Safety Area (RESA) โครงการก่อสร้างทางยกระดับเชื่อมกับถนนสาย 4031 โครงการเลนจักรยานเลียบชายฝั่งทะเล โครงการลงเรือ-ขึ้นเครื่อง และโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต เป็นต้น

นางมนฤดี กล่าวในตอนท้ายว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ท่าอากาศยานภูเก็ตไม่เคยหยุดนิ่งที่จะพัฒนาท่าอากาศยานให้เป็นประตูสู่อันดามัน (Gateway to the Andaman) และสามารถสนับสนุนกิจการขนส่งทางอากาศของประเทศ โดยท่าอากาศยานภูเก็ตมีความภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต และสร้างความเจริญให้สังคม และประเทศไทย ส่วนเรื่องของการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องของเสียง ซึ่งมีประชาชนได้รับผลกระทบหลายราย ทางท่าอากาศยานจะเร่งจ่ายเงินชดเชยให้ได้โดยเร็วที่สุด

 
 






กำลังโหลดความคิดเห็น