“ประยุทธ์” ยันเดินหน้าประมูลคลื่นความถี่ 4G การฟ้องร้องไม่กระทบ แนะคนในองค์กรดูที่ผ่านมาประสบความสำเร็จหรือไม่ ย้ำไม่ได้อิสระอย่างเดิม ใครขวางผิด กม.อย่าใช้กฎหมู่ ลั่น ปชช.ต้องได้ประโยชน์ เผยธนาคารโลกประเมินไทยเกณฑ์ดี เร่งสร้างความเชื่อถือ ดึงนักลงทุน วอนสื่ออย่ากระพือขัดแย้ง ยันปฏิรูปสร้างความเข้มแข็ง พร้อมลดขั้นตอน EIA-EHIA
วันนี้ (6 พ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการประมูลคลื่นความถี่ 900 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ว่าตามนโยบายของรัฐบาลต้องเดินหน้าประมูล ส่วนเรื่องการฟ้องร้องนั้นเป็นเรื่องของทางกฎหมายก็ฟ้องกันไป แต่จะตัดสินเมื่อไหร่นั้นตนก็ไม่รู้ ถ้าหากตัดสินมาแล้วจะแพ้ชนะอย่างไรนั้นก็ไม่มีปัญหาสำหรับการประมูล เมื่อวานนี้ (5 พ.ย.) ก็มีการพูดคุยมาแล้ว ได้มีการอธิบายว่าถ้าฟ้องร้องแล้วจะได้หรือไม่ได้อะไร ถ้าเขาอยากจะทำก็ทำไปเป็นสิทธิของเขา แต่ตนอยากจะให้ประมูล
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการออกคำสั่งมาตรา 44 ออกมาเพื่อป้องกันหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถ้าตนออกก็จะหาว่าตนใช้ทุกอย่างเกินไป บางเรื่องให้ตนออก ตนก็ไม่ออกเพราะเป็นเรื่องของความขัดแย้งสูง เป็นเรื่องของคนในองค์กร แต่ตนต้องการสอนให้ทุกคนเรียนรู้ในองค์กรโดยเฉพาะหน่วยงานที่จะฟ้องร้องกัน กลับไปดูว่าที่ผ่านมาเราประสบความสำเร็จหรือไม่ ถ้าดีอยู่แล้วก็แล้วแต่ แต่ถ้ายังไม่ดีท่านก็ต้องยอมรับว่า ท่านต้องให้ความร่วมมือกับการแก้ไขตรงนี้ว่าทำอย่างไรองค์กรของท่านจะมีรายได้เข้ามา จะกลับไปที่เดิมอีกหรือ ตนว่านั้นคือปัญหาของเรา ถ้าทุกคนคิดที่เดิมจะเอาอย่างเดิมให้ได้ ตนอยากจะบอกว่าอะไรก็ตามไม่ว่าจะประมูลโดยใครที่ไหนอย่างไร วันนี้ไม่ได้อิสระเหมือนอย่างเดิม ถ้าคิดว่าฟ้องแล้วจะได้กลับมาบริหารงบประมาณเอง ขอบอกว่าไม่ใช่ แม้กระทั่งลอตเตอรี่ และเงินจากกองทุนน้ำมัน ทุกอย่างที่มีรายได้ต้องส่งรัฐหมด ทุกอย่างจะแบ่งให้แค่ไหนมันมีสัดส่วนของมันว่าให้ไปบริหารจัดการแก้ปัญหาเท่าไหร่ ที่เหลือใช้เป็นงบบริหารแผ่นดินทั้งสิ้น ไม่ใช่คิดว่าจะเอาไปให้บริหารองค์กรทั้งหมด วันนี้เราต้องไปแก้ไขปัญหาทั้งหมดตรงนี้ให้ได้
“ค่าใช้จ่ายบริหารต่างๆ ของประเทศ ไม่ใช่ไปรีดแต่มันควรเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่อิสระกันมากนัก ยังไงก็ประมูลแน่ และใครขัดขวางก็ผิดกฎหมาย ประมูลก็เรื่องของประมูล คุณฟ้องก็ฟ้องไป ถ้าฟ้องจะใช้กฎหมายก็ใช้กฎหมาย อย่ามาใช้กฎหมู่กับผมเท่านั้นเอง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และว่าสิ่งที่ตนกำชับไป คือ การประมูลไม่ใช่เอารายได้หลักเข้ารัฐอย่างเดียว แต่ประชาชนต้องเป็นผู้ได้รับประโยชน์ ค่าใช้บริการจะต้องถูกลง นี่คือสิ่งที่รัฐบาลทำให้ท่านเห็น ถ้าท่านเอารายได้สูงอย่างเดียวมันก็จะเป็นการผูกปัญหาไว้กับประชาชนผู้ใช้บริการที่ต้องใช้ค่าบริการแพง
พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงผลการประชุมเพื่อมอบนโยบายและแนวทางในการขับเคลื่อนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้เกิดความมั่นใจให้แก่ภาคเอกชนในการสนับสนุนให้สามารถดำเนินธุรกิจได้โดยสะดวกว่า วันนี้เราต้องสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประเทศโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เพราะผลจากการประเมินของธนาคารโลกบอกว่าไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ซึ่งอนาคตต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้นตามลำดับ รวมทั้งเกณฑ์ในการลงทุน ความเชื่อมั่น ทั้งเรื่องการขออนุญาตในการลงทุน และในแง่ของข้อกฎหมาย สิทธิประโยชน์ โดยตนเน้นย้ำในที่ประชุมให้ผลการประเมินจากธนาคารโลกดีขึ้นในปีต่อๆไป ซึ่งปีนี้มีการประเมินก่อนที่รัฐบาลจะเข้ามาจึงอยู่ในเกณฑ์ที่อาจจะต่ำลงไปบ้าง ซึ่งประเทศเพื่อบ้านรอบประเทศไทยมีอันดับที่สูงขึ้นเพราะเพิ่งเริ่มพัฒนาจึงสามารถเห็นความแตกต่างได้เร็ว ในขณะที่ประเทศไทยมีการทรงตัวในเรื่องการลงทุนและเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลแก้ไขทั้งในข้อกฎหมาย ครอบคลุมเรื่องผังเมือง การกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรม รวมทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและการกำหนดมาตรฐานขององค์การอาหารและยา (อย.) กรมศุลกากร การขนส่งทางอากาศ ขนส่งทางน้ำ ซึ่งวันนี้การแก้ไขปัญหาต่างๆ มีความก้าวหน้าไปพอสมควร ซึ่งต่อไปจึงอยู่ในขั้นตอนของการปฏิบัติ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ทั้งหมดนี้จะทำไม่ได้เลยหากประเทศไทยขาดเสถียรภาพ มีความขัดแย้ง เราเห็นต่างกันได้แต่อย่ากระพือจนนอกประเทศแตกตื่นกันไปหมด ซึ่งตนมีอารมณ์กับสื่อมวลชนก็เพราะเรื่องเหล่านี้ เนื่องจากเป็นกังวลถึงความเข้าใจของต่างประเทศต่อเมืองไทย เพราะต้องการให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ขณะที่เพื่อบ้านแม้ว่าจะมีความขัดแย้งบ้างแต่ก็ไม่มีการกระพือ โหมข่าวอย่างเรา เรื่องดังกล่าวนั้นอันตราย จึงต้องขอฝากและขอความร่วมมือกับสื่อมวลชนด้วย ทั้งหมดที่รัฐบาลทำนั้นคือการปฏิรูปโดยเน้นการบูรณาการ สร้างความเข้มแข็ง โดยโร้ดแม็ประยะที่สอง คือจากนี้ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2560 เป็นการวางพื้นฐานทั้งกฎหมาย การบริหารจัดการ โดยแบ่งงานให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), สภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งปัญหาไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลเพียงอย่างเดียวแต่ยังอยู่ในระดับท้องถิ่นรวมทั้งการกระจายอำนาจ ดังนั้นจึงต้องใช้ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกให้เกิดประโยชน์
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สำหรับการศึกษาเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และผลกระทบด้านสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ที่ต้องปรับปรุงในเรื่องระยะเวลาดำเนินการเพื่อลดอุปสรรคความล่าช้าในการลงทุนนั้นจะไม่ทำเลยก็ไม่ได้ แต่เราจะพยายามย่นระยะเวลาลงให้ได้ เพราะต้องการให้ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นในปี 2560 โดยจะมีการประชุในเรื่องดังกล่าวให้มากขึ้นๆ เพราะที่ผ่านมาใน 1 ปี มีเรื่องเหล่านี้เข้ามากว่า 2,000 เรื่องดังนั้นจึงต้องประชุมกันบ่อยขึ้น โดยนำเรื่องสำคัญขึ้นมาหารือก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนนั้นได้นำกระดาษโน้ตขนาดเอ 4 ที่เขียนด้วยลายมือของนายกฯ เองโชว์ให้ผู้สื่อข่าวดู พร้อมระบุว่า “เป็นความต้องการ หรือเจตนารมณ์ของผมเองที่ต้องการสื่อถึงประชาชน และจะให้โฆษกรัฐบาล (พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด) เป็นคนแถลงให้ทราบถึงรายละเอียดต่อไป”