ธีรวุฒิ อ่อนดำ
ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่
เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจภาคใต้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจ และเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคใต้ เพราะยางพาราถือเป็นอาชีพที่สร้างรายได้หลักให้แก่คนในพื้นที่มาอย่างยาวนาน
มาวันนี้ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในพื้นที่เริ่มสั่นคลอน เมื่อปริมาณผลผลิตยางในระบบ รวมถึงในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปริมาณความต้องการใช้ยังคงถูกจำกัดด้วยปัญหาเศรษฐกิจโลก ส่งผลกดดันต่อระดับราคายางในปัจจุบัน และอนาคต ประกอบกับภาระต้นทุนค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ด้าน สร้างความเดือดร้อน กระหน่ำซ้ำเติมเศรษฐกิจของประเทศทั้งระบบ
ปัญหาราคายางในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลพวงจากการดำเนินนโยบายส่งเสริมเกี่ยวกับการขยายพื้นที่ปลูกยางในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยาง และปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับปัญหาจากเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ หลายประเทศมีการปลูกยางเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นผู้บริโภครายใหญ่ของโลก และเป็นประเทศส่งออกยางพาราที่ใหญ่ที่สุดของไทย หันไปปลูกยางเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ส่งผลต่อปริมาณผลผลิต ความต้องการ และกดดันระดับราคายางในปัจจุบัน และอนาคตอย่างมาก
การแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ หลายต่อหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา อาศัยการแทรกแซงกลไกราคาเพื่อพยุงราคาให้สูงขึ้น และการจ่ายเงินโดยตรงเพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมไปถึงการจัดหาแหล่งเงินทุนให้แก่เกษตรกร
มาวันนี้คงเป็นที่แน่ชัดว่า วิธีการเหล่านั้นไม่เพียงแต่จะไม่ยั่งยืน เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้นที่ปลายเหตุ แต่ยังจะนำมาซึ่งความหายนะทางการคลังให้แก่ประเทศ และสูญเสียโอกาสในการพัฒนาด้านอื่นๆ ที่จำเป็น ในส่วนของการจัดหาแหล่งเงินทุนให้แก่เกษตรกรก็มีแต่จะสร้างภาระทางการเงินไม่มีที่สิ้นสุดให้แก่เกษตรกรเพิ่มมากขึ้น
วันนี้หากจะแก้ไขปัญหาเพื่อให้เห็นผลเชิงรูปธรรม และมีความยั่งยืนอย่างแท้จริง ก็คงต้องกลับไปที่สาเหตุของปัญหา นั่นคือ ทำอย่างไรให้ปริมาณผลผลิต และจำนวนพื้นที่ปลูกยางพารามีจำนวนลดลง หรือจะทำอย่างไรให้ปริมาณความต้องการใช้ และความต้องการซื้อทั้งใน และจากต่างประเทศกลับมาเพิ่มขึ้น ซึ่งคงเป็นไปได้ยาก
ในทางปฏิบัติ หากประเทศไทยลดพื้นที่ปลูกยางพาราลงเพื่อลดปริมาณผลผลิต แต่ประเทศอื่นยังคงเดินหน้าขยายพื้นที่ปลูกอย่างต่อเนื่อง การแก้ปัญหาราคายางตกต่ำก็คงสัมฤทธิผลได้ยาก ขณะที่การกระตุ้นให้ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมทั้งใน และต่างประเทศเกิดความต้องการใช้และความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น ก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งนี้ เพราะความต้องการใช้ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และอำนาจซื้อของผู้บริโภคเป็นสำคัญ
ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้เกษตรกรต้องเรียนรู้วิธีการในการปรับตัว และหาทางลดต้นทุนเพื่อเพิ่มรายได้ และหันมาสร้างรายได้เสริมอื่นๆ จากการทำสวนยาง โดยการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ มุ่งใช้พื้นที่การเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดการพึ่งพาราคายางที่ไม่แน่นอน เสริมสร้างความมั่นคงด้านรายได้ในอนาคต ในลักษณะของการปลูกพืชเชิงผสม รวมไปถึงการเลี้ยงสัตว์ในสวนยางเพื่อเป็นอาชีพเสริม
อีกทั้งภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทำการศึกษา วิจัย และนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอด ขยายผลไปสู่การปฏิบัติที่เกิดผลสัมฤทธิ์ และเกิดความยั่งยืนต่อเกษตรกร