xs
xsm
sm
md
lg

จวก"บิ๊กตู่"เทงบชดเชยสวนยาง สร้างปัญหาศก.การเงินการคลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงกรณีที่ครม.มีมติอนุมัติงบ 1.2 หมื่นล้านบาท ชดเชยต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ว่า ส่วนตัวเข้าใจถึงความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง รวมทั้งภาคการเกษตรอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากทั้งราคาผลผลิตที่ตกต่ำ และภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย แต่ไม่เข้าใจสาเหตุที่รัฐบาลยังคงตัดสินใจแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการให้เงินอุดหนุนและชดเชยเช่นนี้อีก เพราะในช่วงที่รัฐบาลนี้เข้ามา ก็เคยอนุมัติงบเพื่อชดเชยให้แก่ชาวสวนยางมาแล้ว รวมไปถึงเมื่อครั้งที่ คสช. เข้ามาใหม่ๆ ก็เคยอนุมัติงบถึง 3 หมื่นล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราทั้งระบบ แต่ท้ายที่สุด ก็ต้องมาใช้มาตรการชดเชยต้นทุนการผลิตให้อีก ทั้งๆที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เองก็กล่าวย้ำมาตลอดช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า จะไม่มีการชดเชยราคายางให้แก่เกษตรกร แต่จะใช้มาตรการอื่นช่วยเหลือแทน
“ไม่ว่าจะเป็นการชดเชยราคา หรือชดเชยต้นทุนการผลิต ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถาวรยั่งยืน รัฐบาลก่อนๆ ก็เคยทำแบบนี้มาก่อน แต่ปัญหาก็ยังไม่หมด เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลนี้เองก็ชดเชยให้ไปครั้งหนึ่งแล้ว มาปีนี้ก็ต้องชดเชยอีก สะท้อนว่า การนำเงินไปให้ การยกหนี้ให้ หรือนำสิ่งของไปให้ ไม่ได้ช่วยทำให้เกษตรกรหรือชาวบ้านเข้มแข็ง และสามารถยืนได้ด้วยตัวเองเลย สุดท้ายก็เป็นภาระของรัฐบาลไปตลอด” นายอุเทน กล่าว
ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลควรจะทำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งชาวสวนยาง หรือสินค้าการเกษตรตัวอื่นๆ ก็คือ ต้องทำให้ เกษตรกรคิดเอง เป็น รู้ปัญหาได้เอง สามารถวิเคราะห์ได้ถึงความเหมาะสมในพืชที่จะปลูกว่า คุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่ โดยหน่วยงานรัฐต้องทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ ในส่วนของสวนยางนั้นต้องลดพื้นที่การปลูก เพราะเป็นพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวที่มีข้อจำกัดในการนำมาทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งภาครัฐต้องเข้าไปช่วยดูว่าพื้นที่ไหนควรปลูกหรือทำการเกษตรในรูปแบบใด สำหรับมาตรการที่จะส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้น ทั้งการทำถนน หรือสนามกีฬาต่างๆ ที่คนในรัฐบาลพูดถึงมาตลอดนั้น ในทางปฏิบัติทำได้ยาก เนื่องจากมีต้นทุนที่สูงขึ้น และไม่เหมาะกับการใช้งานด้วย ซึ่งหากทำได้จริง ภาครัฐคงไม่ต้องกลับมาใช้การชดเชยต้นทุนผลิตเช่นนี้
“มีคนเคยกล่าวไว้ว่า สาเหตุแห่งปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศใดๆ มักเกิดจากไม่กี่กรณี สำหรับประเทศไทยนั้นเกิดจากความไม่เป็นธรรมในสังคม ซึ่งก็เป็นเพราะกฎหมาย หรือองค์กรที่บังคับใช้กฎหมายอ่อนแอ กรณีการชดเชยต้นทุนการผลิตให้แก่ชาวสวนยาง ชี้ให้เห็นว่า ผู้มีอำนาจไม่มีความเด็ดขาดในแนวทางของตัวเอง ยอมโอนอ่อนตามกระแสสังคมที่อาจจะมีการประท้วงกดดันรัฐบาล ทั้งที่ไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืน” นายอุเทน ระบุ
นายอุเทน กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลมักใช้วิธีแจก แถม ให้ประชาชน โดยส่วนใหญ่ก็จะใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อประโยชน์ของคนเพียงกลุ่มเล็กๆ หรือกลุ่มอาชีพเดียว ในทางกลับกันเมื่อรัฐช่วยเหลือไปแล้ว พอราคาผลผลิตดีขึ้น รายได้เพิ่ม หรือเมื่อครั้งขายได้ราคาดี ก็ไม่มีการเรียกเงินช่วยเหลือเหล่านี้คืนแต่อย่างใด แต่ถ้ามีปัญหาก็ออกมาเรียกร้องกันอีก ดังนั้นต้องหยุดการใช้งบประมาณแผ่นดินในลักษณะนี้ ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล เพราะสร้างปัญหาทางวินัยเศรษฐกิจการเงินการคลัง ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วน
กำลังโหลดความคิดเห็น