xs
xsm
sm
md
lg

“อุเทน” ติง รบ.เทงบชดเชยสวนยาง โอนอ่อนตามที่ถูกกดัน ไม่ได้แก้แบบยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย (แฟ้มภาพ)
หน.พรรคคนไทย ไม่เข้าใจรัฐบาลแก้ปัญหาด้วยการเทงบ 1.2 หมื่นล้านชดเชยสวนยาง ย้อนนายกฯ บอกเองจะไม่แก้ด้วยวิธีนี้ ย้ำไม่ได้แก้แบบยั่งยืนเป็นภาระรัฐบาลไปตลอด ติงโอนอ่อนตามกระแสกดดัน จี้หยุดวิธีนี้ เหตุกระทบวินัยการคลัง แนะทำให้เกษตรกรวิเคราะห์ได้ปลูกพืชคุ้มทุนหรือไม่ พื้นที่ไหนควรปลูกอะไร

วันนี้ (4 พ.ย.) นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อชดเชยต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางว่า ส่วนตัวเข้าใจถึงความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง รวมทั้งภาคการเกษตรอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากทั้งราคาผลผลิตที่ตกต่ำ และภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยของโลก แต่ไม่เข้าใจสาเหตุที่รัฐบาลยังคงตัดสินใจแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการให้เงินอุดหนุนและชดเชยเช่นนี้อีก เพราะในช่วงที่รัฐบาลนี้เข้ามาก็เคยอนุมัติงบประมาณเพื่อชดเชยให้แก่ชาวสวนยางมาแล้ว รวมไปถึงเมื่อครั้งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาใหม่ๆ ก็เคยอนุมัติงบประมาณถึง 3 หมื่นล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราทั้งระบบ แต่ท้ายที่สุดก็ต้องมาใช้มาตรการชดเชยต้นทุนการผลิตให้อีก ทั้งๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.เองก็กล่าวย้ำมาตลอดช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาว่าจะไม่มีการชดเชยราคายางให้แก่เกษตรกร แต่จะใช้มาตรการอื่นช่วยเหลือแทน

“ไม่ว่าจะเป็นการชดเชยราคา หรือชดเชยต้นทุนการผลิต ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถาวรยั่งยืน รัฐบาลก่อนๆก็เคยทำแบบนี้มาก่อน แต่ปัญหาก็ยังไม่หมด เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลนี้เองก็ชดเชยให้ไปครั้งหนึ่งแล้ว มาปีนี้ก็ต้องชดเชยอีก สะท้อนว่าการนำเงินไปให้ การยกหนี้ให้ หรือนำสิ่งของไปให้ ไม่ได้ช่วยทำให้เกษตรกรหรือชาวบ้านเข้มแข็ง และสามารถยืนได้ด้วยตัวเองเลย สุดท้ายก็เป็นภาระของรัฐบาลไปตลอด” นายอุเทนกล่าว

นายอุเทนกล่าวต่อว่า สิ่งที่รัฐบาลควรจะทำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งชาวสวนยาง หรือสินค้าการเกษตรตัวอื่นๆ ก็คือ ต้องทำให้เกษตรกรคิดเองเป็น รู้ปัญหาได้เอง สามารถวิเคราะห์ได้ถึงความเหมาะสมในพืชที่จะปลูกว่าคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่ โดยหน่วยงานรัฐต้องทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำ ในส่วนของสวนยางนั้นต้องลดพื้นที่การปลูก เพราะเป็นพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวที่มีข้อจำกัดในการนำมาทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ภาครัฐต้องเข้าไปช่วยดูว่าพื้นที่ไหนควรปลูกหรือทำการเกษตรในรูปแบบใด สำหรับมาตรการที่จะส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้น ทั้งการทำถนน หรือสนามกีฬาต่างๆ ที่คนในรัฐบาลพูดถึงมาตลอดนั้น ในทางปฏิบัติทำได้ยากเนื่องจากมีต้นทุนที่สูงขึ้น และไม่เหมาะแก่การใช้งานด้วย หากทำได้จริงภาครัฐคงไม่ต้องกลับมาใช้การชดเชยต้นทุนผลิตเช่นนี้

“มีคนเคยกล่าวไว้ว่าสาเหตุแห่งปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศใดๆ มักเกิดจากไม่กี่กรณี สำหรับประเทศไทยนั้นเกิดจากความไม่เป็นธรรมในสังคม เป็นเพราะกฎหมายหรือองค์กรที่บังคับใช้กฎหมายอ่อนแอ กรณีการชดเชยต้นทุนการผลิตให้แก่ชาวสวนยางชี้ให้เห็นว่าผู้มีอำนาจไม่มีความเด็ดขาดในแนวทางของตัวเอง ยอมโอนอ่อนตามกระแสสังคมที่อาจจะมีการประท้วงกดดันรัฐบาล ทั้งที่ไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืน” นายอุเทนระบุ

นายอุเทนกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลมักใช้วิธีแจกแถมให้ประชาชน โดยส่วนใหญ่ก็จะใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อประโยชน์ของคนเพียงกลุ่มเล็กๆ หรือกลุ่มอาชีพเดียว ในทางกลับกันเมื่อรัฐช่วยเหลือไปแล้ว พอราคาผลผลิตดีขึ้น รายได้เพิ่ม หรือเมื่อครั้งขายได้ราคาดี ก็ไม่มีการเรียกเงินช่วยเหลือเหล่านี้คืนแต่อย่างใด แต่ถ้ามีปัญหาก็ออกมาเรียกร้องกันอีก ดังนั้นต้องหยุดการใช้งบประมาณแผ่นดินในลักษณะนี้ ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล เพราะสร้างปัญหาทางวินัยเศรษฐกิจการเงินการคลัง ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วน


กำลังโหลดความคิดเห็น