ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กรรมการ ป.ป.ช.รับมอบสำนวนคดีของบริษัททรีดอลฟินซ์ จำกัด และข้อมูลสำคัญจากกรมอุทยานฯ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณากรณีการออกเอกสารสิทธิในเขต อช.สิรินาถ เผยเร่งสอบสวน จนท.รัฐที่เกี่ยวข้อง 16 ราย ให้แล้วเสร็จ แนะผู้เกี่ยวข้องคดีที่ประสงค์จะเข้าเป็นพยาน จะมีการคุ้มครองพยานทั้งพยาน ผู้ใกล้ชิด และทรัพย์สินตามกฎหมายใหม่
เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ ที่ห้องประชุมอุทยานแห่งชาติสิรินาถ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมด้วย นายประสาท พงษ์ศิวาภัย และ นายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนกรณีการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ร่วมฟังบรรยายสรุปข้อมูลความคืบหน้าการดำเนินการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ ในปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จากเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ พร้อมทั้งรับมอบสำนวนคดีของบริษัททรีดอลฟินซ์ จำกัด 1 ใน 5 ราย ที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรมที่ดิน นำโดย นายธรรมศักดิ์ ชนะ รองอธิบดีฯ และคณะทำงานชุดที่ 1 ของกรมอุทยานฯ เห็นพ้องกันว่า เป็นการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบตามกฎหมาย เพื่อให้คณะอนุกรรมการ ป.ป.ช.ใช้เป็นข้อมูลดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
โดยในทางกรมอุทยานฯ ได้รายงานความคืบหน้าภาพรวมการดำเนินการว่า ภายหลังส่งเอกสารหลักฐานให้กรมที่ดินตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิว่าถูกต้องหรือไม่ จำนวน 16 ราย ทางกรมที่ดินได้แจ้งกลับมาว่า มีการออกเอกสารสิทธิโดยชอบ จำนวน 8 ราย ได้แก่ บ.ภูเก็ต เพนนิซูล่าสปาแอนด์รีสอร์ต บ.เซ็นทรัล แอนด์ ซิตี้ ดีวีล็อปเม้น จำกัด บ.แลนสเตรท จำกัด บ.พาวิลเลี่ยน บีชรีสอร์ท จำกัด บ.ลายันภูเก็ต รายนางสุชาดา สังข์สุวรรณ โครงการลาคอลลีน และโครงการบ้านฝรั่ง แต่คณะทำงานชุดที่ 1 ได้มีความเห็นแย้งจากกรมที่ดิน และยืนยันว่า เป็นการออกเอกสารสิทธิไม่ถูกต้องตามที่ได้แจ้งความไว้ ขั้นตอนจึงอยู่ในกระบวนการยุติธรรม
นอกจากนี้ มี 5 ราย ที่กรมอุทยานฯ เห็นพ้องกับกรมที่ดินว่า อาจจะออกโฉนดโดยมิชอบด้วยระเบียบกฎหมาย คือ บ.ทรีดอลฟินซ์ จำกัด (บางส่วน) บ.โรงแรมพูลแมน ภูเก็ตอาคาเดีย (บางส่วน) บ.ในทอนบีช (บางส่วน) รายนายสุรชัย เหล่าสายเชื้อ รายนางชมชนก สุธรรมา บริษัทพินาเคิล เคป จำกัด ส่วนอีก 3 รายที่เหลือ อยู่ระหว่างรวบรวมเอกสารหลักฐาน เพื่อแจ้งความดำเนินคดีต่อไป
ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า บ.ทีรดอลฟินซ์ จำกัด มีที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ รวมเนื้อที่ 132-1-13.6 ไร่ โดยแยกเป็นโฉนดที่ดิน จำนวน 8 แปลง และ น.ส.3 ก. จำนวน 1 แปลง ซึ่งเดินยื่นไว้เพียง 37 ไร่ แต่เมื่อเปลี่ยนเอกสารสิทธิ มีเนื้อที่เพิ่มขึ้น 99-1-13.6 ไร่ จึงเชื่อว่าเป็นการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ
ด้านนายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช. และฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนกรณีการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ กล่าวว่า ทางคณะอนุกรรมการฯ ได้ลงมารวบรวมข้อมูลต่างๆทุกส่วนทั้งในส่วนของอุทยานฯ ที่ดินฯ ผู้ว่าราชการจังหวัด และพยานอีกหลายปากเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมดไปใช้ในการพิจารณาว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาหรือไม่ กับใคร ก็จะทราบได้หลังการพิจารณา
และกรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากที่อุทยานฯ ได้แจ้งความไปยัง สภ.ถลาง และ สภ.ถลางได้ส่งข้อมูลไปยัง ป.ป.ช.ตามมาตรา 89 ของกฎหมาย ป.ป.ช. เนื่องจากเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกกล่าวหา จากนั้นคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ จะทำหน้าที่ไต่สวนเจ้าหน้าที่ของรัฐ และบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายกลุ่มคือ 1.ข้าราชการสังกัดสำนักงานปลัดกกระทรวงมหาดไทย 2.ข้าราชการสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3.ข้าราชการสังกัดกรมที่ดิน และ 4.กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งสิ้น 16 คน โดยทั้งหมดถูกกล่าวหาว่ากระทำการทุจริตต่อหน้าที่ด้วยการออกเอกสารสิทธิที่ดินที่อยู่ในความครอบครองของเอกชน ซึ่งเริ่มจาก ส.ค.1 เลขที่ 429 กับ ส.ค.1 เลขที่ 389 ที่พบว่า แตกออกไปเป็นหลายโฉนด โดย ป.ป.ช.จะเข้ามาทำหน้าที่ค้นหาความจริง ซึ่งการดำเนินการนั้นได้ทำตามลำดับไปเเล้ว คือ 1.ได้มีการรวบรวบพยานหลักฐาน รวมถึงสอบปากคำเจ้าหน้าที่จากกรมที่ดิน เพื่อให้ทราบว่าออกเอกสารสิทธิโดยชอบหรือไม่ 2.หากพบว่ามีการออกโดยมิชอบนั้นมีใครเกี่ยวข้องบ้างก่อนขยายผลไปยังผู้เกี่ยวข้องที่ให้การสนับสนุน ทั้งหมดได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังได้ข้อมูลเอกสาร ทั้งภาพถ่ายทางอากาศ และข้อมูลประกาศ ประวัติเก่าจากฝั่งจากกรมอุทยานฯ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอีกด้วย รวมถึงการขอข้อมูลบุคคล ทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายของรัฐ และเอกชน ก่อนจะนำข้อมูลทั้งหมดไปวิเคราะห์ อย่างไรก็ตาม ได้ประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานอื่นทั้งกรมสอบสวนคดีพีเศษ เพื่อขอข้อมูลในส่วนที่ได้ดำเนินการไปแล้วเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาร่วมกัน
นอกจากนี้ ในอนาคตตามที่มีกฎหมายใหม่กำหนดให้มีการคุ้มครองพยาน ผู้ร้องทุกข์ ผู้เสียหายนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นสมควรที่จะคุ้มครองเพื่อให้เป็นพยานตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยานในคดีอาญา ซึ่งพยานทั้งหลายที่อาจเกรงกลัว หรือไม่แน่ใจเรื่องความปลอดภัย สามารถขอเข้ามาเป็นพยานในคดีนี้ได้ เพราะมีกฎหมายคุ้มครองเเล้ว ทั้งมาตรการทั่วไป และมาตรการพิเศษ ซึ่งคดีนี่ถือเป็นคดีสำคัญที่จะทวงป่าคืนมาให้ประเทศ ส่วนขอบเขตนั้นสามารถขยายการคุ้มครองให้ครอบคลุมถึงความเสียหายของทรัพย์สิน ชื่อเสียง ทั้งของพยาน รวมถึงบุคลที่มีความใกล้ชิด ส่วนพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่ หรือข้าราชการหากมีความเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด หากเข้ามาเป็นพยาน และสามารถให้ข้อมูลจนเอาผิดตัวการใหญ่ที่เกี่ยวข้องได้ ก็จะสามารถพิจารณาลดโทษ หรือพิจารณาเพิ่มขั้นได้ โดยใน 16 รายที่มีการไต่สวนก็สามารถเข้ามาเป็นพยานได้เช่นกัน
ขณะที่ นายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการ ป.ป.ช.ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา นโยบายของรัฐไม่จัดการกับปัญหา ส.ค.1 ที่มีอยู่ในประเทศเป็นจำนวนมาก และปล่อยให้ ส.ค.1 เป็นช่องทางในการหาผลประโยชน์ให้แก่คนบางกลุ่ม ไม่นานก็จะทำให้ผืนป่า และทรัพยากรต่างๆ ของประเทศไทยก็จะหมดไป วิงวอนขอให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งนำปัญหานี้มาพิจารณาให้รอบคอบ ทั้งนี้ ส.ค.1 นั้นมาจากมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ให้ใช้ตามประมวลกฏหมายที่ดิน ที่ให้ผู้ประสงค์จะได้ที่ดินมีการแจ้งการครอบครองต่อนายอำเภอ ปลัดอำเภอ ในช่วงปี 2497-2498 จึงมีการแจ้งการครอบครองอยู่เต็มไปหมด และในการแก้ปัญหานั้น เมื่อ ส.ค.1 ออกโดยกฎหมายก็ต้องยกเลิกด้วยกฎหมายเช่นกัน อาจต้องเสนอเข้าสภานิติบัญญัติที่มีอำนาจให้พิจารณาข้อกำหนด เช่น การเสนอให้ผู้ที่มีสิทธิมีการยื่นแจ้งความประสงค์ภายใน 60 วัน เพื่อจำกัดกรอบให้รัฐบาลสามารถควบคุม หรือกำหนดจำนวนพื้นที่ และขอบเขตเพื่อไม่ให้มีการนำไปใช้หาประโยชน์ได้อีก