ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง คดีอัยการฟ้อง “อภิสิทธิ์-สุเทพ” สั่งสลายม็อบเสื้อแดง ชี้เป็นอำนาจวินิจฉัยของศาลฎีกาฯ นักการเมือง
ที่ห้องพิจารณา 707 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (28 ส.ค.) ศาลนัดฟังคำสั่งการวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมาย คดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 และ อ.1375/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อายุ 50 ปี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือพระสุเทพ ปภากโร อายุ 64 ปี เลขาธิการ กปปส. อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีต ผอ.ศอฉ. เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83 และ 84 กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 7 เม.ย. - 19 พ.ค. 2553 ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำผิดโดยร่วมกันใช้หรือสั่งการให้เจ้าหน้าที่หน่วยทหารต่างๆ ใช้อาวุธปืนชนิดร้ายแรง ปฏิบัติการผลักดัน ควบคุมพื้นที่ เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตามคำสั่ง ศอฉ.ซึ่งทำให้เห็นมีผู้ถึงแก่ความตาย และบาดเจ็บจำนวนมาก
สืบเนื่องคดีนี้พระสุเทพ จำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมายเช่นเดียวกับที่นายอภิสิทธิ์ จำเลยที่ 1 ได้ยื่นไปก่อนหน้านี้เกี่ยวกับอำนาจฟ้อง ซึ่งจำเลยทั้งสองเห็นว่าดีเอสไอไม่มีอำนาจสอบสวน ขณะที่ผ่านมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ได้รับเรื่องที่มีการกล่าวหานายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบในเรื่องเดียวกันนี้ไว้ เบื้องต้นศาลได้สอบถามจำเลยทั้งสองแล้วทราบว่า ป.ป.ช.ก็เคยเรียกจำเลยทั้งสองไปชี้แจง แต่ยังไม่เคยแจ้งข้อกล่าวหา ขณะที่อัยการโจทก์และทนายความของญาติผู้เสียชีวิต โจทก์ร่วมได้แถลงคัดค้านคำร้องของจำเลยทั้งสองดังกล่าว
โดยวันนี้นายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และพระสุเทพ เดินทางมาศาลตามนัด พร้อมนายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความ และคณะผู้ติดตาม
ขณะที่ศาลพิจารณาพฤติการณ์จำเลยทั้งสองตามคำฟ้องอัยการโจทก์แล้วเห็นว่า แม้อัยการโจทก์ จะกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองได้ออกคำสั่ง ศอฉ.ที่ให้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ อาวุธและกระสุนจริง รวมทั้งพลแม่นปืนในการผลักดันผู้ชุมนุม หรือกระชับพื้นที่ หรือสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในปี 2553 ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 19 พ.ค. 53 โดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวนั้นก็เกี่ยวพันกับการที่จำเลยทั้งสองใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ผอ.ศอฉ.ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ด้วย ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ ดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการด้วย เป็นการกระทำกรรมเดียวที่ควรพิจารณาไปในวาระเดียว ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดก็ต้องยื่นฟ้องคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.บ.ว่าการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 66 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 (1) และประกาศ คสช. ฉบับที่ 11/2557 และ 24/2557 ที่ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลนี้ จึงพิพากษายกฟ้อง ญาติผู้ตายที่เป็นเสียหายไม่อาจเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในคดีนี้นายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ยังได้มีความเห็นแย้งไว้ในสำนวนด้วย โดยเห็นว่าศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และญาติผู้ตายที่เป็นเสียหายไม่อาจเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ เนื่องจากมูลเหตุที่นำมาฟ้องคดีซึ่งเกิดจากการไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญาจากเหตุสลายการชุมนุม และพนักงานสอบสวนดีเอสไอได้ดำเนินการสอบสวนมากระทั่งอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง ก็เป็นการปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่ในการฟ้องหากคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็จะมีเฉพาะข้อหากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น ดังนั้นเมื่อมีการกล่าวหาจำเลยทั้งสองในความผิดอาญาฐานร่วมกันมีเจตนาฆ่าผู้อื่น กรณีจึงไม่ใช่เรื่องศาลทั้งสองมีอำนาจขัดแย้งกัน อีกทั้งปัจจุบันคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการกล่าวหาจำเลยทั้งสองก็ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช.ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา 66 ซึ่ง ป.ป.ช.ยังไม่ได้มีคำสั่งไปทางหนึ่งทางใด หากไต่สวนได้ข้อยุติว่าไม่มีมูลก็ย่อมมีผลเฉพาะต่อข้อกล่าวหาทำผิดในตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น ไม่ได้มีผลต่อความผิดใช้หรือก่อให้ฆ่าผู้อื่นตามฟ้องอัยการโจทก์นี้ จึงเห็นควรว่าศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
ภายหลังฟังคำสั่ง นายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และพระสุเทพ ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ โดยนายอภิสิทธิ์ได้เดินทางกลับพรรคทันทีเพื่อประชุมหารือกับทีมทนายความ
นายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความของนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เมื่อศาลมีคำสั่งชี้ว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจ ตนก็จะนำคำสั่งดังกล่าวไปประกอบเป็นพยานหลักฐานนำสืบคดีที่ได้ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีต อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กับพวกซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน ปฏิบัติหน้าที่มิชอบต่อศาลอาญาด้วย ขณะที่คำสั่งชี้อำนาจฟ้องของโจทก์วันนี้ ฝ่ายอัยการโจทก์ ก็ยังมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ได้อีกตามขั้นตอนกฎหมาย
นายวันชัย รุจนวงศ์ รักษาการอธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ กล่าวว่า กรณีนี้เป็นกรณีใหม่ที่ไม่ค่อยได้เกิด ดังนั้นตนยังกล่าวอะไรไม่ได้ ต้องให้เวลาคณะทำงานอัยการที่รับผิดชอบสำนวนดังกล่าวปรึกษาหารือกันก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปตามขั้นตอนกฎหมาย หากได้ข้อสรุปตนจะแถลงให้ทราบอีกครั้ง
นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ที่ปรึกษาอัยการสูงสุด อดีตอัยการสูงสุด ที่สั่งให้ฟ้องคดีดังกล่าวตามสำนวนการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ปฏิเสธที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับคำสั่งศาลดังกล่าว โดยระบุเพียงสั้นๆ ว่าขอให้ไปสอบถามผู้รับผิดชอบสำนวนขณะนี้ดีกว่า
ด้านนายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความของญาติผู้เสียชีวิต ที่ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีด้วยนั้นกล่าวว่า จะตรวจสอบข้อกฎหมายเพื่อเตรียมยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลอาญาวันนี้ต่อไป