xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” ให้การปฏิเสธคดีสั่งทหารฆ่าเสื้อแดง สลายม็อบปี 53

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ
“อภิสิทธิ์” ให้การปฏิเสธคดีอัยการฟ้องสั่งกระชับพื้นที่ม็อบเสื้อแดงปี 53 ขณะที่ศาลขอสอบถามไปยัง ป.ป.ช.กรณีไต่สวนข้อเท็จจริงอดีตนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เหตุเกี่ยวเนื่องกัน ก่อนนัดคู่อีกครั้ง 23 มิ.ย.นี้

ที่ห้องพิจารณา 707 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (24 มี.ค.) ศาลนัดตรวจหลักฐานคดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83, 84, 90 จากกรณีร่วมกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีต ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาฯ ด้วยการออกคำสั่ง ศอฉ.ให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนิน และแยกราชประสงค์ จากกลุ่ม นปช.ที่ชุมนุมตั้งแต่เดือน เม.ย. - 19 พ.ค. 2553 กระทั่งนายพัน คำกอง ชาว จ.ยโสธร อายุ 43 ปี คนขับแท็กซี่ และ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือน้องอีซา อายุ 14 ปี เสียชีวิตบริเวณใกล้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ สถานีราชปรารภ วันที่ 15 พ.ค. 2553 และนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ถูกกระสุนยิงมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ที่รักษาการณ์ในพื้นที่ย่านราชปรารภ ที่มีการประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ จนได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยคดีนี้อัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2556 ที่ผ่านมา

โดยศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยยืนยันให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาตามคำให้การที่จำเลยยื่นต่อศาลในวันนี้ ขณะที่ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้นายสมร ไหมทอง ผู้ได้รับบาดเจ็บ และนางหนูชิด คำกอง ภรรยาของนายพัน ผู้ตายในคดีนี้เข้าเป็นโจทก์ ร่วมกับอัยการภายหลังจากทั้งสองยื่นคำร้อง เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา ขอเป็นโจทก์ร่วม ซึ่งอัยการโจทก์และจำเลยแถลงไม่คัดค้าน ซึ่งอัยการโจทก์แถลงรับรองว่าทั้งสองเป็นผู้เสียหายในคดีนี้จริง

ขณะที่ศาลสอบถามโจทก์เกี่ยวกับคำฟ้องคดีนี้แล้ว แถลงยืนยันว่าเหตุที่มีบุคคลถึงแก่ความตายและมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ทางทหารในการผลักดันผู้ชุมนุม กระชับพื้นที่หรือขอคืนพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธและกระสุนปืนจริง ยิงใส่ผู้ชุมนุมโดยมีเจตนาฆ่าตามคำสั่งของจำเลย ที่ให้ ศอฉ.ดำเนินการควบคุมการมุ่งเข้าสู่พื้นที่สีลมและมีการจัดวางเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อสกัดกั้นการเคลื่อนย้ายของกลุ่มผู้ชุมนุม และให้มีการกำหนดแนวห้ามผ่านเด็ดขาด โดยทำเครื่องหมายหรือประกาศให้ผู้ชุมนุมทราบ รวมทั้งกำหนดให้สามารถใช้อาวุธปืนประจำกาย กรณีจำเป็นเมื่อมีการบุกรุกแนวห้ามผ่านเด็ดขาด โดยก่อนหน้านั้นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะ ผอ.ศอฉ.มีคำสั่งอนุมัติให้เจ้าหน้าที่ของ ศอฉ.สามารถใช้อาวุธและกระสุนปืนจริง และให้ใช้พลแม่นปืน ในการปฏิบัติหน้าที่ได้ซึ่งต่อมาวันที่ 19 พ.ค. 2553 จำเลยมีคำสั่งให้ศอฉ.ดำเนินการตามมาตรการปิดล้อม สกัดกั้นกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อขอคืนพื้นที่บริเวณสวนลุมพินี และพื้นที่ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค.เวลา 03.00 น. โดยการออกคำสั่งของจำเลยดังกล่าวกระทำในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ใช้อำนาจสั่งการตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

ด้านจำเลยแถลงยืนยันว่า ขณะนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีที่จำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรีสั่งการให้ผลักดันผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ โดยจำเลยเคยไปให้ถ้อยคำต่อ ป.ป.ช.แล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่มีการชี้มูลความผิด โดยอัยการโจทก์แถลงด้วยว่า ป.ป.ช.เคยขอเอกสารในสำนวนการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในคดีนี้ไปใช้ประกอบการพิจารณาไต่สวนข้อเท็จจริงด้วย

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อกล่าวหาที่อัยการโจทก์ฟ้องมานั้น ล้วนเกิดจากการออกคำสั่งของจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรีในวาระต่างๆ กัน ภายหลังจากที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขต กทม.และปริมณฑลตามอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งหากการออกคำสั่งต่างๆ ของจำเลย ที่โจทก์ฟ้องนั้นไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติ การควบคุมฝูงชนหรือไม่สมควรแก่เหตุ การใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีนั้นก็อาจเข้าข่ายเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญาและเป็นการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และถ้าภายหลังการออกคำสั่งนั้น ส่งผลให้มีผู้ถึงแก่ความตายก็ถือเป็นคดีเกี่ยวเนื่องจากการใช้อำนาจโดยมิชอบ ดังนั้นเพื่อให้การตรวจพยานหลักฐานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในการจัดกลุ่มพยานที่จะนำสืบได้อย่างเหมาะสม ไม่ให้ต้องมีการสืบพยานฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจออกคำสั่งต่างๆ ให้มีการผลักดันการชุมนุมของจำเลย ในฐานะนายกรัฐมนตรีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่าเป็นการกระทำโดยชอบด้วยหน้าที่หรือไม่ซึ่งมีการระบุว่า ป.ป.ช.ได้รับเรื่องไว้ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วนั้น ศาลจึงเห็นสมควรที่จะให้มีหนังสือสอบถาม ป.ป.ช.ในเรื่องนี้เพื่อให้ได้ความชัดเจนก่อนที่จะตรวจหลักฐานในคดีนี้ จึงให้นัดพร้อมเพื่อฟังผลการสอบถามจาก ป.ป.ช.ในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ เวลา 09.00 น.

ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนพิจารณาแล้ว นายอภิสิทธิ์ จำเลยซึ่งวันนี้เดินทางมาพร้อมกับทีมทนายความ ได้ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใดๆ ขณะที่นายบัณฑิต ศิริพันธ์ ทนายความของนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คดีนี้เราได้ต่อสู้โต้แย้งประเด็นอำนาจการสอบสวนอยู่แล้วว่าเป็นอำนาจของ ป.ป.ช. อย่างไรก็ดี สุดท้าย ป.ป.ช.จะได้ชี้มูลและถ้าผลออกมาว่าการกระทำของนายอภิสิทธิ์ไม่เป็นความผิด ก็จะนำมาใช้ประกอบการต่อสู้คดีอย่างแน่นอน

นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความผู้ที่เสียชีวิตและโจทก์ร่วมในคดีนี้ กล่าวด้วยว่า นอกจากที่นายสมรและนางหนูชิดได้ยื่นขอเป็นโจทก์ร่วมแล้ว ในส่วนของญาติผู้เสียชีวิต 6 ศพวัดปทุมวนาราม ในช่วงสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 นั้นยังได้ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาฯ กปปส. ในฐานะอดีตผอ.ศอฉ.ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในความผิดเดียวกันนี้ด้วย ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้นัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 2 มิ.ย.นี้โดยวันนี้อัยการโจทก์ก็ได้แถลงให้ศาลอาญาทราบ พร้อมกับระบุว่าจะขอโอนคดีดังกล่าวมารวมกับคดีนี้ด้วย ซึ่งต้องรอติดตามผลการพิจารณาต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้นอกจากนายอภิสิทธิ์แล้ว นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด ได้มีความเห็นให้สั่งฟ้องนายสุเทพ ผอ.ศอฉ.ปี 2553 ด้วย แต่ที่ผ่านมายังไม่สามารถนำตัวนายสุเทพมายื่นฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลได้เนื่องจากติดการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยที่ผ่านมาดีเอสไอได้ขอศาลอาญาอนุมัติหมายจับนายสุเทพ เพื่อติดตามตัวมาส่งให้อัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามตัว ซึ่งคดีมีอายุความ 20 ปี
นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความผู้เสียชีวิต























กำลังโหลดความคิดเห็น