xs
xsm
sm
md
lg

ศาลยกฟ้อง"อภิสิทธิ์-สุเทพ"ฟ้อง"ธาริต"กลั่นแกล้งคดีสลายแดง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ศาลอาญา วันนี้ (8 ส.ค.) ศาลนัดฟังคำสั่งคดี ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ในฐานะอดีตหัวหน้าชุดคดีการเสียชีวิตของประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553 พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นร่วมกันเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 90 157 200
กรณีเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 - 13 ธันวาคม 2555 ได้มีการสรุปสำนวนนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ในข้อหาก่อให้ผู้อื่นฆ่า และพยายามฆ่าโดยเจตนาและเล็งเห็นผล จากการที่ออกคำสั่ง ศอฉ.ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ซึ่งโจทก์เห็นว่า การแจ้งข้อหาบิดเบือนจากข้อเท็จจริง และดีเอสไอไม่มีอำนาจ ต้องเป็นการวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า สืบเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2551 – เดือน พ.ค. 2553 มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมหลายหมื่นคน ต่อมามีความรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีจึงได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าปฏิบัติการขอคืนพื้นที่บริเวณแยกผ่านฟ้า และถนนราชดำเนิน จนเกิดการปะทะกับกลุ่มที่อ้างว่า เป็นชายชุดดำ มีเจ้าหน้าที่ทหารและผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต หลังจากนั้นโจทก์ที่ 2 ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารสามารถใช้อาวุธปืนและจัดให้มีหน่วยพลทหารซุ่มยิงระยะไกลได้ ซึ่งการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ดำเนินเรื่อยมา และได้ยุติลงเมื่อเหตุการณ์วันที่ 19 พ.ค. 2553 มีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย มีผู้เสียชีวิตบางรายเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร หลังจากนั้นพนักงานอัยการได้ยื่นไต่สวนชันสูตรสาเหตุการตายต่อศาลอาญา และศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งศาลได้มีคำสั่งว่าผู้เสียชีวิตบางราย โดยเฉพาะ นายพัน คำกอง ที่เสียชีวิตจากกระสุนปืนความเร็วสูง ที่ยิงมาจากฝั่งของเจ้าหน้าที่ทหาร
ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสี่ จึงเป็นการดำเนินการไปตามพยานหลักฐาน กระทำไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย พยานหลักฐานที่นำสืบของโจทก์ จึงยังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่ มีเจตนาบิดเบือนแจ้งข้อกล่าวหา หรือกลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใด
ส่วนที่โจทก์ระบุว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ทั้งสองมีตำแหน่งทางการเมือง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจการสืบสวนสอบสวนของ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และฉบับแก้ไขนั้นเห็นว่า คดีที่จำเลยได้ดำเนินการทำสำนวนและสั่งให้พนักงานอัยการนั้นเป็นคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งอัยการสูงสุดก็ได้มีคำสั่งให้ฟ้องโจทก์ ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ไม่ได้บิดเบือนหรือกลั่นแกล้ง จึงพิพากษายกฟ้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น