xs
xsm
sm
md
lg

หน่วยงานความมั่นคง 3 ฝ่าย ถกแผนเชิงปฏิบัติการบูรณาการดับไฟใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัตตานี - สมช. กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต.ร่วมประชุมบูรณาการแผนงานเชิงปฏิบัติการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พื้นที่มีความปลอดภัย ลดความรุนแรง เกิดความเข้าในระหว่างประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ พร้อมทั้งร่วมกำหนดเป้าหมาย 29 ข้อ ให้แต่ละภาคส่วนนำไปปฏิบิตเพื่อสันติสุขอย่างยั่งยืน ณ ปลายด้ามขวาน

วันนี้ (26 ส.ค.) ที่ห้องน้ำพราว โรงแรมซีเอสปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี นายอนุสิษฐ คุณากร รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการแผนงาน/โครงการ ตามคำของบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ให้สอดคล้องต่อพื้นที่เป้าหมาย และกลุ่มเป้าหมายของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า โดยมีสำนักเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สล.คปต.) ชี้แจงกรอบแนวทางการบูรณาการ

โดยมีตัวแทน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย นายนันทพงศ์ สุวรรณรัฐ รักษาการผู้เชี่ยวชาญ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.อ.สิทธิ ตระกูลวงศ์ ศูนย์ปฏิบัติการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ส่วนกลาง) และนายไกรศร วิสิษฐวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาบุคลากร ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วย พล.ต.ปราการ ชลยุทธ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า/รองแม่ทัพภาคที่ 4 ตลอดจนผู้แทนจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้แทนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้แทนจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และผู้แทนจากกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เข้าร่วมรับฟัง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการประชุมในครั้งนี้

นายอนุสิษฐ คุณากร รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2558 เป็นต้นไป ยังคงใช้กรอบนโยบายการบริหาร และการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ตามที่ได้ขออนุมัติจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อนำไปสู่วิสัยทัศน์ “มุ่งให้จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัย ปราศจากเงื่อนไขการใช้ความรุนแรง มีสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติ ทุกภาคส่วนมีความเข้าใจ ไว้วางใจ และมีส่วนร่วมในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ”

ทั้งนี้ สมช.ร่วมกับ กอ.รมน. และ ศอ.บต.กำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ร่วม จำนวน 29 ข้อ เพื่อให้กระทรวง กรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยึดถือดำเนินงาน โดยให้ความสำคัญลำดับแรกต่อเป้าหมายยุทธศาสตร์ร่วม 15 ข้อ ซึ่งสอดคล้องต่อวัตถุประสงค์ของนโยบาย ในเรื่องสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัย และปกติสุข การอำนวยความยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การเสริมสร้างความเข้าใจ และฟื้นคืนความไว้วางใจ การเรียนรู้และตระหนักในคุณค่าของการอยู่ร่วมกัน การสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม และเอื้อต่อการพูดคุย การแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง และการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน

สำหรับแผนปฏิบัติการฯ ฉบับนี้ ดำเนินไปภายใต้การปรับโครงสร้างกลไกการบริหารจัดการปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามดำริของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่แบ่งการขับเคลื่อนงานออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับนโยบาย ซึ่งมีหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้รับผิดชอบสูงสุด โดยมีสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหน่วยดำเนินการด้านนโยบาย ระดับการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ให้จัดตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยมีรองผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานคณะทำงานฯ รับผิดชอบการขับเคลื่อนงานให้มีเอกภาพ และมีประสิทธิภาพร่วมกับกลไกที่มีอยู่เดิม เช่น คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) และคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) เป็นต้น

ส่วนในระดับปฏิบัติการ ซึ่งกำหนดให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เป็นหน่วยรับผิดชอบหลักในระดับพื้นที่ เพื่อให้งานด้านความมั่นคง และด้านการพัฒนาดำเนินการได้ตรงตามพื้นที่เป้าหมาย โดยมีวัตถุประสงค์ของแผนปฏิบัติการที่มีความมุ่งหมายให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินงาน เพื่อให้บรรลุผลที่สำคัญ 4 ประการ คือ เพื่อลดการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ และแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข เพื่อให้สังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีความเข้มแข็ง และเพื่อให้ประชาชนไทยทั้งใน และนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งประชาคมระหว่างประเทศมีความเข้าใจ และสนับสนุนแนวทางดำเนินการของฝ่ายรัฐ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น