ยะลา - “นายนิมุ มะกาเจ” ผู้นำศาสนาอิสลามในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แนะ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีคนใหม่ จริงจังต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ เน้นปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ปัญหายาเสพติด ลดสร้างเงื่อนไขความรุนแรง บังคับใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม
วันนี้ (22 ส.ค.) นายนิมุ มะกาเจ ผู้นำศาสนา และผู้ทรงคุณวุฒิในจังหวัดยะลา ได้แสดงความยินดีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะ คสช. ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย โดยในนามของผู้นำศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงขอเสนอแนะนำ และขอให้ นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ซึ่งเป็นผู้ติดตามการปฏิบัติ และการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง
โดยนายนิมุ มะกาเจ ระบุว่า ตนเองมีข้อเสนอแนะอย่างเร่งด่วน สำหรับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 ข้อหลัก ๆ คือ 1.การแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชัน 2.ลดการสร้างเงื่อนไขในทุกกรณี 3.การแก้ไขปัญหายาเสพติดในกลุ่มเยาวชนอย่างเร่งด่วน
นอกจากนี้ นายนิมุ มะกาเจ ผู้ทรงคุณวุฒิจังหวัดยะลา ยังระบุว่า ที่ผ่านมา เคยส่งข้อเรียกร้องในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ ถึง คณะ คสช. เพื่อจัดคืนความสุขให้คนใต้ 7 ประการ คือ ดังนี้
1.กำจัดการคอร์รัปชัน การรับสินบน การใช้เงินซื้อตำแหน่ง
2.สร้างความศรัทธา ความเชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องจริงใจ จริงจัง ยุติธรรม เข้าหาเข้าพบง่าย สะดวกรวดเร็ว
3.กำจัด หรือลดจำนวนกลุ่มต่างๆ ที่มีในพื้นที่ (ชายแดนใต้) ให้เหลือน้อยลง หรือหมดไป โดยเฉพาะกลุ่มอิทธิพล เพื่อสู่เอกภาพด้านความคิด กำจัดการคิดร้าย
4.สร้างเครือข่าย หรือคงไว้ซึ่งเครือข่ายหน่วยงานรัฐที่มีในพื้นที่ เพื่อจะได้ช่วยเหลือและนำความจริงที่มีจากเจ้าหน้าที่รัฐไปสู่ชุมชนคนในพื้นที่
5.สนับสนุนคนในพื้นที่ที่ดี ที่เก่ง มีความสามารถ ให้มีตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ พนักงานรัฐทุกส่วนที่มีอยู่แล้วต้องรับยศตำแหน่งสูงขึ้น และคงอยู่ในพื้นที่ต่อไป ป้องกันอย่าให้บุคคลต่างภูมิภาคมารับตำแหน่งเพื่อการไต่เต้า ซึ่งไม่ได้มาแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างแท้จริง
6.สนับสนุนคนทำความดีในพื้นที่ทุกฝ่ายอย่างครอบคลุม
7.จริงจังต่อการป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติด ลงโทษรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ผิด อบายมุขทั้งปวงต้องไม่มีในพื้นที่
นอกจากนั้น นายนิมุ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ต้องชัดเจน และจริงใจในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการมุ่งเน้นคดีความมั่นคงมีทั้งผิดจริง และไม่ผิดจริง ให้เน้นที่ผิดจริง บางคนแค่คิดต่างก็มีความผิด ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องปลอดอาวุธ จะต้องไม่สร้างเงื่อนไขเพิ่มในพื้นที่ เงื่อนไขเดิมต้องแก้ไขให้หมดไป และต้องจริงจังในลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ทำผิดอย่างจริงจัง และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้
ในการปฏิบัติเชิงรุก อย่าให้มีการทำร้ายเด็ก และสตรี และหน่วยงานรับผิดชอบต้องให้ความกระจ่างต่อเหตุการณ์ ไม่โยนความผิดให้โจรใต้เพียงฝ่ายเดียว ความจริงปรากฏภายหลังมีความต่างกัน จะต้องมีความเป็นธรรมแก่ชนทุกศาสนิกอย่างเท่าเทียม และสุดท้ายต้องสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยคนในพื้นที่มีส่วนร่วม