ศูนย์ข่าวภูเก็ต - อธิบดีกรมที่ดิน ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาเพิกถอนโฉนดที่ดินหาดฟรีดอมแล้ว 2 แปลง เนื้อที่ 65 ไร่ มูลค่ากว่าพันล้านบาท ให้เสร็จภายใน 60 วัน หลังกรมป่าไม้ มีหนังสือแจ้งให้เพิกถอนที่ดินดังกล่าว เหตุเพราะอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขานาคเกิด ไม่มีสิทธินำมาออกโฉนด ด้านทนายเจ้าของที่ดินยันคัดค้านการเพิกถอนถึงที่สุด มั่นใจโฉนดออกถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย หลังการตรวจสอบทำให้นักลงทุนที่จะมาซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวหายหมด เพราะไม่มั่นใจในโฉนดที่ดินว่าออกถูกต้องกฎหมายหรือไม่
เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (19 ส.ค.) นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายธรรมศักดิ์ ชนะ รองอธิบดีกรมที่ดิน พร้อมด้วย นายสมยศ เล่าชู เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต แถลงข่าวการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกไปโดยมิชอบบริเวณหาดฟรีดอม จ.ภูเก็ต ซึ่งการแถลงข่าวครั้งนี้ มีนายเอกชัย แซ่อิ๋ว เจ้าของที่ดิน แปลงที่หาดฟรีดอม และนายอัศม์ ศรีสมุทร ทนายความเจ้าของที่ดิน เข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าวด้วย ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต
นายธรรมศักดิ์ ชนะ รองอธิบดีกรมที่ดิน กล่าวว่า กรณีที่ผู้ไม่ประสงค์จะออกนามที่เป็นข้าราชการฝ่ายปกครองร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ตรวจสอบการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 98414 และ 98415 เนื้อที่ประมาณ 65 ไร่ ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขานาคเกิด (หาดฟรีดอม) และผู้ที่ใช้นามว่า ประชาชนจังหวัดภูเก็ต ร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ขอให้ตรวจสอบการออกเอกสารที่ดินโดยมิได้แจ้งการครอบครองที่ดิน จำนวน 2 แปลง ในพื้นที่หาดฟรีดอม ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และสำนักงาน ป.ป.ท.ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เบื้องต้นแล้วเชื่อว่ามีการกระทำผิดตามที่มีการร้องเรียนจริง ประกอบกับกรมป่าไม้ ได้มีหนังสือแจ้งให้กรมที่ดินพิจารณาดำเนินการเพิกถอนโฉนดทั้ง 2 แปลง เพราะพิสูจน์ได้ชัดเจนแล้วว่า ที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเทือกเขานาคเกิด
นายธรรมศักดิ์ กล่าวอีกว่า เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีของการเพิกถอนโฉนดที่ดิน ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ทางอธิบดีกรมที่ดิน จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2557 โดยมีเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต เป็นประธาน นายอำเภอเมืองภูเก็ต นายกเทศมนตรีตำบลกะรน ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 สาขากระบี่ เป็นกรรมการ และนายธงชัย สุวรรณพาหุ นักวิชาการที่ดินชำนาญการ สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต เป็นกรรมการและเลขานุการ
โดยคณะกรรมการดังกล่าวจะดำเนินการสอบสวน และพิจารณาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการในการสอบสวนและพิจารณาเพิกถอน หรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียน โดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ.2553 ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าว กำหนดไว้ว่า ให้คณะกรรมการดำเนินการสอบสวนพยานหลักฐานให้ได้ความว่า ได้มีการออกโฉนดที่ดินไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยในการสอบสวนคณะกรรมการจะมีอำนาจโฉนดที่ดิน หรือพยานหลักฐานมาประกอบการพิจารณา พร้อมทั้งมีหนังสือแจ้งผู้มีส่วนได้เสียเพื่อได้มีโอกาสในการคัดค้าน ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียสามารถทำหนังสือคัดค้านยื่นต่อประธานคณะกรรมการตรวจสอบภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้ง โดยระบุเหตุผลที่คัดค้าน พร้อมทั้งแสดงพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องด้วย
รองอธิบดีกรมที่ดิน ระบุว่า คณะกรรมการดังกล่าวจะต้องทำการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน หลังจากนั้น ก็ต้องเสนอข้อมูลทั้งหมดไปยังอธิบดีกรมที่ดิน เพื่อพิจารณาเพิกถอนที่ดินทั้ง 2 แปลง ซึ่งการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนที่ดินหาดฟรีดอมในครั้งนี้ เนื่องจากทางกรมป่าไม้มีหนังสือแจ้งมายังกรมที่ดินให้เพิกถอนที่ดินทั้ง 2 แปลง เนื่องจากอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเทือกเขานาคเกิด
สำหรับโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลง ประกอบด้วย โฉนดที่ดินเลขที่ 98414 เนื้อที่ 45 ไร่ 3 งาน 87.3 ตารางวา และโฉนดที่ดินเลขที่ 98415 เนื้อที่ 19 ไร่ 3 งาน 04 ตารางวา ตั้งอยู่ที่ ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต (หาดฟรีดอม) ทางกรมที่ดิน ออกโฉนดให้แก่ นายเอกชัย แซ่อิ๋ว เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 ที่ได้มีการยื่นขอมาตั้งแต่ปี 2533 เป็นการออกโดยเฉพาะรายไม่มีการแจ้งการครอบครองที่ดิน มาตรา 59 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยสอบรวมสิทธิการรังวัดออกโฉนดที่ดินของ นายพานทอง ณ ระนอง ซึ่งยื่นคำขอไว้เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2533 ปัจจุบันยังคงมี นายเอกชัย แซ๋อิ๋ว เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ได้มีการจดจำนองกับบุคคลธรรมดาไว้ 400 ล้านบาท
โฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลง ออกไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นการออกเฉพาะรายไม่มีหลักฐานสำหรับที่ดินมาตรา59 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เมื่อวันที่ 12 เม.ย.2554 โดยสอบรวมสิทธิรังวัดออกโฉนด เมื่อ 18 ก.ค.2533 โดยนายพานทอง ณ ระนอง และได้มีรังวัดทำแผนที่ เนื่องจากมีลำเหมืองสาธารณะตัดผ่าน และที่ดินตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เทือกเขานาคเกิด ซึ่งทางกรมป่าไม้ได้ยืนยันมายังกรมที่ดินว่าที่ดินทั้ง 2 แปลงอยู่ในเขตป่าไม้ ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ แต่ต่อมา ทางกรมป่าไม้ได้ทำหนังสือแจ้งมายังกรมที่ดินเมื่อวันที่ 28 ก.ย.2553 ว่าที่ดินดังกล่าวสามารถออกโฉนดที่ดินได้เพราะไม่ได้อยู่ในเขตป่าฯ ทางกรมที่ดิน จึงได้ออกโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลง
ต่อมา เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2557 กรมป่าไม้ ได้แจ้งมายังกรมที่ดินว่าการแจ้งยืนยันการกันพื้นที่ออกจากป่าสงวนแห่งชาติต้องดำเนินการตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ 2507 โดยการออกเป็นกฎกระทรวงเปลี่ยนแปลงแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ และมีแผนที่แสดงแนวเขตที่เปลี่ยนแปลงนั้นแนบกฎกระทรวงด้วย การขีดเขต และระบุว่าเป็นพื้นที่กันออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ ในระวางแผนที่ เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกรมที่ดินไม่สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้อ้างอิงได้ จึงถือว่าโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลง อยู่ในเขตป่าเทือกเขานาคเกิด ซึ่งถูกกำหนดเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ.2501 แม้ผู้ขอได้อ้างว่าได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวมาจากเจ้าของที่ดินเดิมที่ครอบครองมาก่อนการประกาศประมวลกฎหมายที่ดินมีผลยังคับใช้ก็ตาม
ด้านนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การเข้ามาตรวจสอบที่ดินของหน่วยงานราชการเป็นการตอกย้ำความโปรงใส่ในการทำงานของระบบราชการ ซึ่งทางจังหวัดภูเก็ตพยายามที่จะดำเนินการในการแก้ปัญหาโดยการทำของใหม่ให้ถูกต้องตรงไปตรงมาและแก้ปัญหาเก่าๆ ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ให้ถูกต้องทั้งหมด
นายสมยศ เล่าชู เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ว่า โฉนดที่ดินที่ออกในภูเก็ตนั้น มีการตรวจสอบ และตั้งคณะกรรมการมาสอบสวนเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น โฉนดที่ดินที่เหลือร้อยละ 99 เป็นโฉนดที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น นักลงทุนที่สนใจจะเข้ามาลงทุนซื้อที่ดินในภูเก็ต เพื่อการลงทุนก็สามารถที่จะตรวจสอบเอกสารสิทธิที่ดินต่อทางสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต หรือที่ส่วนแยกถลาง และกะทู้ได้ เพื่อให้การเกิดความมั่นใจในการลงทุน
ขณะที่ นายอัศม์ ศรีสมุทร ทนายความเจ้าของที่ดิน กล่าวต่อผู้สื่อข่าวภายหลังการแถลงข่าวของนายธรรมศักดิ์ ชนะ รองอธิบดีกรมที่ดิน ว่า หลังจากนี้ทางเจ้าของที่ดินก็ต้องรอหนังสือแจ้งจากทางกรมที่ดิน เมื่อได้รับหนังสือแจ้งก็จะทำเรื่องคัดค้านการตั้งคณะกรรมการการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ดังกล่าว รวมทั้งจะต้องฟ้องศาลปกครองให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว เพราะเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้อง ประกอบกับเรื่องของที่ดินทั้ง 2 แปลงจะอยู่ในเขตป่าหรือไม่ขณะนี้เรื่องนี้กำลังมีการฟ้องร้องกันในศาลอยู่แล้ว เมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนในประเด็นเดียวกัน อาจจะทำให้ความเห็นของทั้ง 2 ฝ่ายไม่ตรงกันก็ได้ เช่น ถ้าคณะกรรมการที่กรมที่ดินแต่งตั้งเห็นว่าอยู่ในเขตป่า แต่หากศาลตัดสินถึงที่สุดว่าที่ดินไม่อยู่ในเขตป่า จุดนี้ทางกรมที่ดินจะว่าอย่างไร เพราะคำสั่งศาลถือว่าใหญ่ที่สุดแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องคดีในชั้นศาลจนถึงขณะนี้ยังมีมีการสรุปว่าจะออกมาอย่างไร แต่ตอนนี้เรื่องอยู่ในชั้นของการสืบพยาน
นายอัศม์ กล่าวต่อว่า ถึงการขอยื่นออกโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าว ว่า เจ้าของที่ดินคนปัจจุบันได้ซื้อที่ดินต่อมาจากชาวบ้านก่อนปี 2533 และได้ทำเรื่องขอยื่นออกโฉนดที่ดินเมื่อปี 2533 โดยอ้างสิทธิครอบครองทำประโยชน์ที่ดินโดยใช้ใบเสียภาษีในการยื่นขอออกเอกสารสิทธิในที่ดินดังกล่าวเป็นการเฉพาะราย ซึ่งในช่วงปี 2533 กรมที่ดิน ได้เปิดโอกาสให้ยื่นขอออกเอกสารสิทธิที่ดินได้ ซึ่งการดำเนินดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินของทั้ง 2 แปลงนั้นได้ดำเนินการมาเป็นระยะ และมาหยุดชะงักเมื่อปี 2540 เนื่องจากมีกฎกระทรวง 43 เข้ามาเกี่ยวข้องเรื่องของห้ามออกโฉนดที่ดินบนเกาะ แต่หลังจากนั้นก็มีคำสั่งของศาลสูงสุดที่สั่งว่า ให้ผู้ที่ยื่นขอออกโฉนดที่ดินก่อนปี 2533 สามารถดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินได้ เจ้าของที่ดินก็ดำเนินการต่อจนได้โฉนดมา 2 แปลง เนื้อที่รวม 65 ไร่
นายอัศม์ กล่าวต่อไปว่า ถึงแม้ที่ผ่านมาที่ดินทั้ง 2 แปลง จะมีการตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆ หลายหน่วยงาน รวมทั้งดึงเข้าไปเป็นเรื่องของการเมือง ก็ยังมั่นใจว่าการขอออกโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลง ทำโดยถูกต้อง และการออกโฉนดก็ออกอย่างถูกต้อง เพราะขบวนการออกโฉนดผ่านการตรวจสอบทั้งจากอธิบดีกรมป่าไม้ และอธิบดีกรมที่ดินในสมัยนั้นมาแล้ว ส่วนสาเหตุที่ที่ดินทั้ง 2 แปลงถูกตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ก็เชื่อว่าน่าจะเกิดจากคนบางคน คนบางกลุ่มที่ต้องการเรียกร้องผลประโยชน์ ทั้งนักการเมือง และข้าราชการ พยามยามที่จะร้องเรียนมาทุกหน่วยงานแล้ว และมีการมาตรวจสอบอย่างต่อเนื่องแต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบไปเพราะไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากที่ดินถูกต้อง ทำให้มีการร้องเรียนมาเรื่อย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทางเจ้าของจะมั่นใจว่าที่ดินทั้ง 2 แปลงมีการออกโฉนดอย่างถูกต้อง แต่ก็ยังได้รับผลกระทบจากการร้องเรียนอยู่ ทำให้ไม่มีใครกล้าที่จะเข้ามาซื้อที่ดินทั้ง 2 แปลง เพราะคนซื้อไม่มั่นใจว่าถูกต้องหรือไม่ ซึ่งตอนนี้เจ้าของที่ดินได้รับความเสียหายมากต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยที่ติดจำนองอยู่กับบุคคลธรรมดา ประมาณ 400 ล้านบาท ส่วนราคาซื้อขายที่ดินแปลงนี้ไม่ทราบว่าถ้ามีการขายจะมีราคาเท่าไหร่ แต่คิดว่าไม่น่าจะต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งพื้นที่ทั้ง 2 แปลง รวมเนื้อที่ 65 ไร่ ติดทะเล เดิมเจ้าของจะทำโครงการสร้างรีสอร์ต แต่ตอนนี้โครงการนั้นต้องพักไปแล้ว ส่วนพื้นที่ปัจจุบันก็มีการปลูกพืชผลทางการเกษตร