ศุนย์ข่าวหาดใหญ่ - มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดประชุมวิชาการแพทย์ภาคใต้ ครั้งที่ 30 ภายใต้หัวข้อ “Tracks & Trends in Healthcare” หรือ “วิถีแห่งยุค” พร้อมมอบรางวัลแพทย์ตัวอย่างภาคใต้ให้แก่ นพ.ซุลกิฟลี ยูโซะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลไม้แก่น จ.ปัตตานี ซึ่งมีความมุ่งมั่นในปณิธาน “หมอเพื่อมวลชน”
วันนี้ (6 ส.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมฯ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รศ.นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการประจำปี คณะแพทยศาสตร์ ครั้งที่ 30 ระหว่างวันที่ 6-8 ส.ค.57 ภายใต้หัวข้อ “Tracks & Trends in Healthcare” หรือ “วิถีแห่งยุค” โดยมีตัวแทนแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
รศ.นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ม.อ.กล่าวว่า การประชุมประจำปีคณะแพทยศาสตร์ถือเป็นงานใหญ่ของวงการทางการแพทย์ในภาคใต้ที่จัดขั้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 30 เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพ และความก้าวทางด้านการแพทย์ รวมทั้งเปิดโอกาสให้เพื่อนร่วมวิชาชีพได้มาพบปะกันเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และประสบการณ์ใหม่ๆ ผ่านการประชุม สัมมนา และการนำเสนอผลงานวิชาการทางการแพทย์ในด้านต่างๆ มากมาย ซึ่งทั้งหมดจะช่วยกระตุ้นให้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางด้านการแพทย์ และสาธารณสุข มีความตื่นตัว และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของสังคมในด้านการรักษาพยาบาลผู้ป่วยยุคใหม่ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
นอกจากนั้น ภายในงานยังได้มีการมอบรางวัลแพทย์ตัวอย่างภาคใต้ ประจำปี 2557 ให้แก่ นพ.ซุลกิฟลี ยูโซะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลไม้แก่น อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี ซึ่งทางคณะกรรมการฝ่ายคัดเลือกแพทย์ตัวอย่างภาคใต้ นำโดย รศ.พญ.ฐิติมา สุนทรสัจ ได้พิจารณาเห็นแล้วว่า เป็นผู้ที่มีความทุ่มเท และเสียสละในการทำหน้าที่ของแพทย์อย่างเต็มกำลังความสามารถ ท่ามกลางสถานการณความรุนแรงในพื้นที่ และความขาดแคลนในหลายๆ ด้าน โดยมีจุดมุ่งหวังที่แน่แน่วคือ ต้องการให้คนในพื้นที่รับผิดชอบทุกคนมีสุขภาพดีถ้วนหน้า และมีความตั้งมั่นที่จะ “ไม่เป็นหมอเพื่อตัวเอง แต่ต้องเป็นหมอของคนทุกคน”
นพ.ซุลกิฟลี ยูโซะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลไม้แก่น ในฐานะแพทย์ตัวอย่างภาคใต้ ประจำปี 2557 เปิดเผยว่า ตนรู้สึกดีใจที่สามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ จนทำให้เด็กบ้านนอกคนหนึ่งได้ทำหน้าที่ของแพทย์อย่างสมบูรณ์แบบ รวมทั้งภูมิใจที่ทำให้ พ่อ แม่ ญาติพี่น้อง และคนในหมู่บ้าน ตำบล ได้ชื่นชมโดยตนไม่ได้เป็นเพียงหมอเพื่อตัวของตัวเอง หรือของครอบครัวเท่านั้น แต่ต้องเป็นหมอของทุกคนที่ส่งแรงใจให้กำลังใจ และอยากที่จะทำงานให้ดีที่สุด โดยเฉพาะการให้บริการในสังคมที่ขาดโอกาสเข้าถึง หรือขาดแคลนบุคลากรด้านการแพทย์
“ในพื้นที่การทำงานมีหลากหลายเหตุการณ์ ทั้งในแง่ของการบริการรักษาพยาบาล และการอยู่ร่วมกันกับชุมชน สิ่งที่ประทับใจมาก คือ เมื่อเราเปิดใจ และทำงานเต็มที่ด้วยความจริงใจ ความศรัทธาก็จะเกิดขึ้น ชาวบ้านเชื่อถือ และให้เกียรติเรามาก คนไข้ที่ไม่ยอมรักษาในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน เมื่อเราได้เข้าไปคุย และอธิบาย ส่วนใหญ่มักจะยอมรักษา และผลการรักษาก็ออกมาดี ซึ่งเขาจะจำเราได้ดีมาก”
แพทย์ตัวอย่างภาคใต้ ประจำปี 2557 ยังกล่าวด้วยว่า หัวใจของการเป็นแพทย์ คือ การทำตัวให้เหมือนกับคนทั่วไป และใช้วิชาชีพให้เกิดประโยชน์มากที่สุดภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ต้องใช้ชีวิตร่วมกับชุมชน และเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนให้ได้ สุดท้ายก็จะเกิดเป็นความศรัทธา เราควรทำตัวเป็นตะเกียงให้ความสว่างท่ามกลางความมืด ดีกว่าเป็นหลอดไฟท่ามกลางความสว่างของหลอดไฟอีกหลายดวง