xs
xsm
sm
md
lg

น่าห่วง! วัยรุ่นยังเสพยาบ้า/ดูดไอซ์มากสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถาบันธัญญารักษ์เผยสถิติพบวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ติดยาเสพติดมากที่สุด 44.54% เป็นผู้ว่างงาน เสพยาบ้าดูดไอซ์มากที่สุด 66% เกินครึ่งที่เสพเพราะเพื่อนชวน เร่งจัดประชุมวิชาการแก้ปัญหา รับลูกคำสั่ง คสช. จี้แก้ปัญหายาเสพติด

วันนี้ (11 มิ.ย.) ที่ห้องประชุม อิมแพ็ค คอนเวนชันเซ็นเตอร์ ฮอลล์ 9 เมืองทองธานี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังการประชุมวิชาการยาเสพติดแห่งชาติครั้งที่ 15 หัวข้อ “ความท้าทาย : การบำบัดรักษาการติดยาเสพติดในอนาคต” ว่า จากสถิติของผู้เข้ารับการบำบัดรักษาที่สถาบันธัญญารักษ์ ปี 2556 พบว่า มีผู้ป่วยทั้งหมด 7,960 คน แบ่งเป็นเพศชายคิดเป็นร้อยละ 86.11 เพศหญิงร้อยละ 13.89 มีอายุช่วง 15-19 ปี มากที่สุดจำนวน 1,422 คน คิดเป็นร้อยละ 18.12 ส่วนใหญ่พบในผู้ว่างงาน คิดเป็นร้อยละ 44.54 และยาเสพติดที่ใช้มากที่สุดคือ ยาบ้าและไอซ์ คิดเป็นร้อยละ 66.74 สาเหตุที่เสพยามากที่สุด เพื่อนชวนเสพยาเสพติด คิดเป็นร้อยละ 58.33 รองลงมาคืออยากทดลองเสพยา คิดเป็นร้อยละ 34.85 จะเห็นได้ว่าปัญหายาเสพติด เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

นพ.สุพรรณ กล่าวอีกว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้ความสำคัญปัญหายาเสพติด โดยออกคำสั่งฉบับที่ 41/2557 ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนและต้องดำเนินการอย่างเข้มแข็ง จริงจัง โดยเฉพาะ 1 เดือน และ 3 เดือนนี้ วัตถุประสงค์หลักคือ ลดปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติด ขจัดความเดือดร้อนของประชาชน สถาบันธัญญารักษ์ จึงจัดให้มีการประชุมวิชาการยาเสพติดแห่งชาติ เพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ได้รับทราบสถานการณ์ปัญหา และทิศทางนโยบายในการดำเนินงาน รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้ เพื่อพัฒนางานและผลักดันนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากทุกภาคส่วนจำนวน 1,400 คน

มาตรการของกรมการแพทย์ในการบำบัดรักษาฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาการติดยาเสพติด มีดังนี้ 1. พัฒนารูปแบบและกลไกที่เหมาะสมกับสถานการณ์ 2. เสริมสร้างศักยภาพบุคลากรในการแก้ไขปัญหาผู้ติดยาเสพติดระดับตติยภูมิ โดยสถาบันธัญญารักษ์เปิดอบรมหลักสูตรเวชศาสตร์ยาเสพติดสำหรับแพทย์ และหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้ใช้ยาและสารเสพติด 3. สร้าง/พัฒนาระบบบริการ service plan การรับส่งต่อผู้ติดยาเสพติดทุกระดับ และ 4. พัฒนาสถานพยาบาลยาเสพติดให้ผ่านเกณฑ์การรับรองคุณภาพ เพื่อสร้างหลักประกันว่า ผู้ป่วยยาเสพติดทุกระบบการบำบัดรักษา จะได้รับบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานที่ดี” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวและว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติดควรเริ่มจากครอบครัว ผู้ปกครองควรแนะนำบุตรหลานในการเลือกคบเพื่อน เพื่อให้เยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงห่างไกลจากยาเสพติดและเป็นอนาคตที่ดีของชาติต่อไป

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น