xs
xsm
sm
md
lg

โจ๋15-19 ปีติดยามากสุด ยาบ้า-ไอซ์ระบาดหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (11 มิ.ย.) ที่ห้องประชุม อิมแพ็ค คอนเวนชันเซ็นเตอร์ ฮอลล์ 9 เมืองทองธานี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังการประชุมวิชาการยาเสพติดแห่งชาติครั้งที่ 15 หัวข้อ “ความท้าทาย: การบำบัดรักษาการติดยาเสพติดในอนาคต” ว่า จากสถิติของผู้เข้ารับการบำบัดรักษาที่สถาบันธัญญารักษ์ ปี 2556 พบว่า มีผู้ป่วยทั้งหมด 7,960 คน แบ่งเป็นเพศชาย คิดเป็นร้อยละ 86.11 เพศหญิง ร้อยละ 13.89 มีอายุช่วง 15- 19 ปี มากที่สุดจำนวน 1,422 คน คิดเป็นร้อยละ 18.12 ส่วนใหญ่พบในผู้ว่างงาน คิดเป็นร้อยละ 44.54 และยาเสพติดที่ใช้มากที่สุดคือ ยาบ้า และไอซ์ คิดเป็นร้อยละ 66.74 สาเหตุที่เสพยามากที่สุด เพื่อนชวนเสพยาเสพติด คิดเป็นร้อยละ 58.33 รองลงมาคืออยากทดลองเสพยา คิดเป็นร้อยละ 34.85 จะเห็นได้ว่า ปัญหายาเสพติด เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

นพ.สุพรรณ กล่าวอีกว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้ความสำคัญปัญหายาเสพติด โดยออกคำสั่งฉบับที่ 41/2557 ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนและต้องดำเนินการอย่างเข็มแข็ง จริงจัง โดยเฉพาะ 1 เดือนและ 3 เดือนนี้ วัตถุประสงค์หลักคือ ลดปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติด ขจัดความเดือดร้อนของประชาชน สถาบันธัญญารักษ์ จึงจัดให้มีการประชุมวิชาการยาเสพติดแห่งชาติ เพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ได้รับทราบสถานการณ์ปัญหาและทิศทางนโยบายในการดำเนินงาน รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้ เพื่อพัฒนางานและผลักดันนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากทุกภาคส่วนจำนวน 1,400 คน

"มาตรการของกรมการแพทย์ในการบำบัดรักษาฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาการติดยาเสพติด มีดังนี้ 1.พัฒนารูปแบบและกลไกที่เหมาะสมกับสถานการณ์ 2.เสริมสร้างศักยภาพบุคลากรในการแก้ไขปัญหาผู้ติดยาเสพติดระดับตติยภูมิ โดยสถาบันธัญญารักษ์เปิดอบรมหลักสูตรเวชศาสตร์ยาเสพติดสำหรับแพทย์ และหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้ใช้ยาและสารเสพติด 3.สร้าง/พัฒนาระบบบริการ service plan การรับส่งต่อผู้ติดยาเสพติดทุกระดับ และ 4.พัฒนาสถานพยาบาลยาเสพติดให้ผ่านเกณฑ์การรับรองคุณภาพ เพื่อสร้างหลักประกันว่า ผู้ป่วยยาเสพติดทุกระบบการบำบัดรักษา จะได้รับบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานที่ดี" อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวและว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติดควรเริ่มจากครอบครัว ผู้ปกครองควรแนะนำบุตรหลานในการเลือกคบเพื่อน เพื่อให้เยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงห่างไกลจากยาเสพติดและเป็นอนาคตที่ดีของชาติต่อไป

**กทม.หารือปปส.แก้ปัญหายาเสพติด

วานนี้ นายพีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกทม. เป็นประธานการประชุมเพื่อหารือแนวทาง การดำเนินการพัฒนาระบบข้อมูลยาเสพติดของกรุงเทพมหานคร โดยมีนายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) นางวันทนีย์ วัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุม
นายพีะพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีชุมชนที่มีความเสี่ยงต่อปัญหายาเสพติดจำนวนกว่า 300 ชุมชน จากจำนวนชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด 2,054 ชุมชน โดย ชุมชนคลองเตย ยังติดในอันดับต้นๆ ที่ถือเป็นแหล่งแพร่ระบาดยาเสพติด ทั้งแหล่งเสพ แหล่งค้าขาย และแหล่งพักยาเสพติดเพื่อรอการขนย้ายไปยังนอกพื้นที่ และประชาชนกลุ่มอายุที่พบว่ามีการเสพยาติด มากที่สุด คือ ระหว่าง 19-29 ปี สาเหตุส่วนใหญ่ เนื่องจากเพื่อนชวน และอยากลอง ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานของกทม. อาทิ สำนักอนามัย สำนักพัฒนาสังคม สำนักงานเขต ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจปัจจัย และข้อมูลภาคสังคมของชุมชนต่างๆ อยู่เสมอ และได้ทำการส่งข้อมูลให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามที่มีร้องขอ แต่เนื่องจากฐานข้อมูลของกทม.ทั้งหมดยังไม่มีการรวบรวมให้เป็นระบบ และยังไม่มีจุดศูนย์กลางในการควบคุม ดูแล และส่งผ่านข้อมูล
ทั้งนี้ กทม.จึงได้หารือร่วมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเพื่อหารือแนวทางการดำเนินการพัฒนาระบบข้อมูลยาเสพติดของกรุงเทพฯทั้งข้อมูลด้านชุมชน สังคม และอนามัย เพื่อให้การดำเนินงานของทั้งสองหน่วยงานเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และสะดวกมากยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น