xs
xsm
sm
md
lg

14 ประเทศร่วมเวทีวิชาการ “สุขภาพจิตนานาชาติ” ชี้ประชากร 1 ใน 4 ของโลกมีปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - กรมสุขภาพจิตจัดประชุมวิชาการ “สุขภาพจิตนานาชาติ” ผู้เชี่ยวชาญ 14 ประเทศจากทั่วโลกเข้าร่วมกว่า 800 คน ระบุประชากร 1 ใน 4 ของโลกมีปัญหา แต่การเข้าถึงบริการยังอยู่ในระดับต่ำ ชี้ภาคเหนือมีอัตราการฆ่าตัวตายสูง เล็งผลักดันเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการและมาตรฐานที่ดีขึ้น

วันนี้ (5 ส.ค.) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการ “สุขภาพจิตนานาชาติ” ครั้งที่ 13 การประชุมวิชาการ “สุขภาพจิตและจิตเวชเด็ก” ครั้งที่ 11 และการประชุมวิชาการ “วิกฤตสุขภาพจิต” ครั้งที่ 5 ประจำปี 2557 เรื่อง สังคมเปลี่ยนไว ใส่ใจสุขภาพจิต ระหว่างวันที่ 4-6 สิงหาคม ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ โรงแรมดิ เอ็มเพรส จ.เชียงใหม่ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงาน และผู้สนใจทั้งในและต่างประเทศ ได้แลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี ทักษะ แนวคิด และประสบการณ์การทำงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ที่จะช่วยเตรียมความพร้อมด้านจิตใจให้ประชาชนเพื่อการมีสุขภาพจิตที่ดี อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคม

นายแพทย์ ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่พบบ่อย มีการคาดการณ์ว่าประชากรทั่วโลกถึง 1 ใน 4 หรือประมาณ 450 ล้านคน มีปัญหาจิตเวชในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต โดยจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และการอยู่ร่วมในสังคม การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคม นับเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดปัญหาสุขภาพจิต

ทั้งนี้ แม้ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่กลับพบว่าการเข้าถึงบริการยังคงอยู่ในระดับต่ำ เช่น โรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นโรคทางจิตเวชที่พบว่าจะจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า รวมทั้งจะก่อให้เกิดความสูญเสียด้านสุขภาพของประชากรโลกเป็นเท่าตัวในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

สำหรับประเทศไทยยังพบอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในภาคเหนือ แต่ก่อนจะกล่าวอ้างถึงข้อมูลเรื่องของการป่วยจาก HIV ทำให้ทางภาคเหนือมีอัตราการฆ่าตัวตายสูง แต่ปัจจุบันพบข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไป โดยพบว่าสาเหตุมาจากหลายปัจจัยทับซ้อนกัน ทั้งป่วย ซึมเศร้า วัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่างจากภูมิภาคอื่น รวมไปถึงเรื่องของการดื่มสุรา ที่ทางภาคเหนือมีสถิติของการดื่มสุราสูงกว่าพื้นที่อื่น

โรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุสำคัญอันดับ 4 ของการสูญเสียสุขภาวะในผู้หญิงไทย และเป็นอันดับ 10 ในผู้ชายไทย ซึ่งพบว่ามีอัตราการเข้าถึงเพียงร้อยละ 32.23 คาดว่ายังมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอีกกว่า 1.1 ล้านคนยังไม่ได้รับบริการ

ขณะเดียวกัน กรณีที่เด็กและสตรีในประเทศไทยยังประสบปัญหาด้านสุขภาพจิต ซึ่งในที่ประชุมมีการพูดคุยมากที่สุด คือ การกระทำรุนแรงในครอบครัว ทั้งต่อเด็กและสตรี รวมถึงผู้สูงอายุที่มีสาเหตุมาจากปัญหาในครอบครัวทั้งเรื่องของสารเสพติด และการดื่มสุรา ส่วนใหญ่จะเชื่อมโยงไปกับผู้ก่อเหตุซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝ่ายชาย ที่จะส่งผลไปถึงเรื่องสัมพันธภาพในครอบครัวที่แย่ลง จนนำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัว

ทั้งนี้ หนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงสาธารณสุข คือ การปฏิรูประบบบริการสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี เข้าถึงบริการได้ง่าย ได้รับบริการที่ดีกว่า มีคุณภาพและมาตรฐานเท่าเทียมกันทั่วประเทศ ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยทางจิตเพิ่มมากขึ้น โดยแต่ละปีพบว่ามีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาไม่น้อยกว่า 1.4 ล้านราย โรคจิตยังคงเป็นโรคทางจิตเวชที่พบมากที่สุด รองลงมาคือ โรควิตกกังวล ปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ โรคซึมเศร้า และติดสารเสพติด

สำหรับผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานและผู้สนใจ ทั้งในและต่างประเทศรวม 14 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย พม่า ไต้หวัน เวียดนาม เยอรมนี สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และประเทศไทย รวมกว่า 800 คน โดยมีการมอบรางวัล Mental Health Award รางวัลเกียรติยศ และรางวัล MCATT Award ให้แก่บุคคลและหน่วยงานที่มีผลงานด้านสุขภาพจิตดีเด่น ผู้ได้รับรางวัล Mental Health Award ประจำปีนี้ ได้แก่ ศ.เกียรติคุณ นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ ผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันกฎหมายสุขภาพจิต

กำลังโหลดความคิดเห็น