ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - คณะวิทย์ ม.อ. คิดค้นเครื่องกรองน้ำเทคโนโลยีเมมเบรนให้คุณภาพสูง แต่ราคาต่ำ เพื่อใช้ในการกรองสารปนเปื้อนในน้ำประปา พร้อมต่อยอดคิดค้นไส้กรองรุ่นใหม่ที่สามารถใช้กรองสารโลหะหนักได้
วันนี้ (24 ก.ค.) ผศ.ดรุณี ผ่องสุวรรณ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า สถานวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเมมเบรน เป็นหน่วยงานหนึ่งภายในคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีหน้าที่ในการศึกษาวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีเมมเบรน เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำ และจัดการคุณภาพน้ำดื่มที่กำลังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากแหล่งน้ำธรรมชาติหลายแห่งเกิดการปนเปื้อนของสารหนู และโลหะหนัก รวมทั้งปัญหาน้ำทะเลรุกแหล่งน้ำใต้ดินในพื้นที่ริมชายฝั่ง ซึ่งปัญหาดังกล่าวทำให้น้ำดื่มน้ำใช้ตามธรรมชาติไม่มีคุณภาพ ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน และคนในชุมชนโดยตรง จึงทำให้เกิดการคิดค้นงานวิจัยเครื่องกรองน้ำ เพื่อคุณภาพชีวิตชุมชนโดยใช้เทคโนโลยีเมมเบรนขึ้น
โดยเครื่องกรองน้ำของคณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. มีลักษณะพิเศษตรงที่ใช้ตัวไส้กรองที่ทำมาจากเซรามิก ซึ่งมีส่วนผสมตามสูตรที่ได้มาจากการพัฒนาองค์ความรู้ จากการวิจัยของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ทำให้มีความทนทาน และมีอายุการใช้งานประมาณ 1ปี-1 ปีครึ่ง โดยมีความละเอียดในการกรอง 0.3 ไมครอน ซึ่งสามารถกรองเชื้อโรคในน้ำ ทั้งเชื้อจุลินทรีย์ และแบคทีเรียหลายชนิด นอกจากนั้น รูปแบบของไส้กรองที่ถูกนำไปประกอบกับท่อพีวีซี ยังทำให้ง่ายต่อการประกอบ และทำความความสะอาดอีกด้วย
ทั้งนี้ เครื่องกรองน้ำดังกล่าวได้มีการคิดค้นรวม 3 ชนิด คือ ชนิดท่อเดี่ยว ชนิด 2 ท่อ และชนิด 3 ท่อ โดยชนิดท่อเดี่ยว จะมีเฉพาะไส้กรองเซรามิกเป็นส่วนประกอบเท่านั้น ส่วนชนิด 2 ท่อ และ 3 ท่อ จะมีการเพิ่มสารกรองคาร์บอน เพื่อใช้กรองตะกอน กลิ่น สี คลอรีน และสารอินทรีย์ รวมทั้งสารกรองเรซิน ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกรองหินปูน ลดความกระด้างในน้ำ และดูดซับสี ขณะที่ขีดความสามารถในการกรองน้ำอยู่ที่ประมาณ 30 ลิตรต่อชั่วโมง
“เครื่องกรองน้ำเทคโนโลยีเมมเบรนสามารถใช้กรองคลอรีน และเชื้อโรคที่ติดปะปนมากับน้ำประปาที่ใช้ในการบริโภคได้เป็นอย่างดี ซึ่งในปัจจุบัน ได้มีการนำไปติดตั้งเอาไว้ในชุมชนหลายแห่ง แต่ไม่แนะนำให้ใช้กับน้ำเน่าเสีย ส่วนการใช้กรองน้ำที่มาจากแหล่งน้ำตามธรรมชาตินั้น ต้องขึ้นอยู่กับว่าแหล่งน้ำดังกล่าวอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมหนักหรือไม่ และมีสารที่เป็นโลหะหนักเจือปนอยู่มากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้กำลังมีการวิจัยเกี่ยวกับส่วนผสมของไส้กรอง เพื่อให้สามารถใช้กรองสารโลหะหนักที่เจือปนอยู่ในน้ำได้” ผศ.ดรุณี กล่าว