xs
xsm
sm
md
lg

จาก “เจ็บเล็กๆ” อาจกลายเป็น “ร้าวลึกๆ” ถ้าไม่เยียวยากรณีปิด KFC ที่ชายแดนใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
โดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
 
กรณีการปิดดำเนินการร้านอาหารฟาสต์ฟูดสัญชาติฝรั่งอย่าง “เคเอฟซี (KFC)” จำนวน 2 สาขาในพื้นที่ จ.ยะลา และ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 16 ที่ผ่านมา หลังจากที่เปิดให้กรณีมาเกือบ 10 ปี ซึ่งผู้บริหารยังไม่ได้ให้คำตอบแก่สังคมว่ามีสาเหตุมาจากอะไร
 
เพราะถ้าบอกว่า “ขาดทุน” ก็น่าจะไม่จริง เนื่องจากทั้ง 2 สาขามีผู้ใช้บริการอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง!!
 
โดยเฉพาะลูกค้าส่วนหนึ่ง และน่าจะเป็นส่วนใหญ่เป็นคนของ “สังคมใหญ่” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งให้ความนิยมกับไก่ทอดเคเอฟซีโดยไม่ได้ใส่ใจว่า อาหารดังกล่าวจะมีตรา “ฮาลาล” หรือไม่ก็ตาม
 
ขณะที่ข่าววงในระบุว่า สาเหตุการที่ผู้บริหารสั่งปิดเคเอฟซีทั้ง 2 สาขามาจากเรื่องความไม่ปลอดภัย กล่าวคือ กลัวถูกก่อวินาศกรรม หรือการถูกลอบวางระเบิดเหมือนกับที่เกิดขึ้นกับร้านสะดวกซื้อ และศูนย์การค้าอื่นๆ ในพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ
 
ส่วนเรื่องของตราฮาลาลเป็นเรื่องรองลงไป เพราะเท่าที่สังเกตเห็นเคเอฟซีในหลายจังหวัดในภาคใต้ โดยเฉพาะที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ก็ไม่มีตราฮาลาลเหมือนกับที่ จ.ปัตตานี และที่ จ.ยะลา แต่ก็เป็นแหล่งที่วัยรุ่น หนุ่มสาว นักเรียน นักศึกษา รวมถึงครอบครัวของผู้คนในพื้นที่ต่างเดินเข้าไปใช้บริการ และก้มหน้าก้มตาบริโภคอย่างเอร็ดอร่อยเป็นอย่างยิ่ง
 
ประเด็นของการปิดเคเอฟซีทั้ง 2 สาขา มีข่าวในทางลึกคือ เป็นเรื่องของการตกเป็นเป้าในการก่อวินาศกรรม เนื่องจากการที่ไม่มีเครื่องหมายฮาลาล แต่มีคนใน “สังคมใหญ่” ในพื้นที่เข้าไปใช้บริการชนิดที่ไม่มีใครฟังคำพูดของนักการศาสนา และนักวิชาการว่า เป็นสิ่งที่คนใน “สังคมใหญ่” ไม่ควรใช้บริการ
 
เรื่องนี้ได้กลายเป็นเหมือน “เม็ดทรายในรองเท้า” ของผู้คนส่วนหนึ่งในพื้นที่ และถูกนำไปเป็นเงื่อนไขของแนวร่วมสุดโต่งที่ต้องดำเนินการต่อเคเอฟซี เพื่อเรียกคะแนนนิยมจากผู้คนส่วนหนึ่งใน “สังคมใหญ่”
 
นี่อาจจะเป็นสาเหตุใหญ่ที่ผู้บริหารเคเอฟซี ซึ่งมีความเข้าถึงในเรื่องของ “ข่าวกรอง” อย่างดี ได้ตัดสินใจปิดการให้บริการทั้ง 2 สาขา ก่อนที่เรื่องฮาลาลของเคเอฟซีจะบานปลายไปยังสาขาอื่นๆ ในแผ่นดินด้ามขวาน รวมทั้งใช้วิธีการ “นิ่งเสียตำลึงทอง” ด้วยการปิดปากเงียบถึงสาเหตุทั้งหลายทั้งปวง
 
และนี่คือประเด็นแรกของการปิดเคเอฟซีที่หลายคนยังกังขา?!
 
ก่อนที่จะมีการปิดบริการเคเอฟซีอย่างเป็นทางการ ได้มีกลุ่มคนใน “สังคมเล็ก” ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เตรียมรวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ในชื่อกลุ่ม “ไทยพุทธกลุ่มน้อย” ที่ จ.ยะลา เพื่อทวงถามความชอบธรรม และเพื่อให้มีการตอบในข้อกังขาถึงสาเหตุการปิดกิจการ เพราะเห็นว่าเหตุผลที่ได้ยิน และได้ฟังเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล
 
แต่สุดท้ายความเคลื่อนไหวของคนใน “สังคมเล็ก” ดังกล่าวก็ถูกยกเลิกไป เพราะมีการร้องขอและการเตือนจากหลายๆ คนที่เป็น “คนส่วนใหญ่” ในพื้นที่ว่าอย่า “แกว่งเท้าหาเสี้ยน” เพราะจะกลายเป็นเรื่อง “ได้ไม่คุ้มเสีย”
 
แต่ไม่ว่าจะเป็นการได้ไม่คุ้มเสีย หรือไม่มีได้ มีแต่เสีย ก็คิดว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ต้องนำมาถกแถลงกัน เพราะในอนาคตที่ยังยาวไกลอาจจะมีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นกับกิจการการค้ายี่ห้ออื่นๆ ที่เข้ามาเปิดกิจการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
ประเด็นที่ต้องนำเสนอให้ทุกฝ่ายขบคิดคือ เรื่องของสิทธิเสรีภาพของคน “สังคมเล็ก” ในพื้นที่ ซึ่งได้รับผลกระทบจากคนใน “สังคมใหญ่” ซึ่งมีผู้ที่อยู่ในบรรยากาศที่อึดอัดได้ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าสิ่งใดที่คนใน “สังคมใหญ่” ไม่ต้องการ แต่คนใน “สังคมเล็ก” ต้องการ ในอนาคตจะทำกันอย่างไรจึงจะอยู่ร่วมกันได้
 
อย่างกรณีของเคเอฟซีที่เป็นร้านฟาสต์ฟูดที่เป็นของต่างชาติ และไม่มีตราฮาลาล ซึ่งสาเหตุที่เขาไม่มีตราฮาลาลนั้น เขาอาจจะมีเหตุผลของความยุ่งยาก และกลุ่มเป้าหมายของเขาเป็นผู้คนอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ใช่คนใน “สังคมใหญ่” แต่เป็นคนใน “สังคมเล็ก” ที่ไม่ต้องใช้ตราฮาลาลก็สามารถรับประทาน หรือซื้อหาได้โดยไม่ผิดหลักศาสนา
 
เช่นเดียวกับเรื่องของเคเอฟซีทั้ง 2 สาขา เมื่อเขาไม่มีฮาลาล ก็ย่อมแสดงว่าเขาต้องการให้ลูกค้าที่เป็นกลุ่มคนใน “สังคมเล็ก” ได้ใช้บริการ อีกทั้งก็ไม่ได้มีการเรียกร้องให้คนใน “สังคมใหญ่” ไปใช้บริการ ถามว่าเป็นนี่ความผิดที่กิจการเหล่านั้นต้องรับผิดชอบ หรือใครส่วนไหนของสังคมที่ต้องรับผิดชอบ
 
ถ้าเจ้าของกิจการต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ในอนาคตจะต้องสร้างกฎระเบียบให้ชัดเจนว่า กิจการที่เป็นเรื่องของอาหารการกินทุกอย่างที่ต้องการไปลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องต่อวิถีชีวิตของคนใน “สังคมใหญ่” โดยที่คนใน “สังคมเล็ก” จะต้องยอมรับสภาพในเรื่องสิทธิเสรีภาพที่อาจจะต้องเว้าๆ แหว่งๆ เพื่อการที่จะได้อยู่ร่วมกันในสังคม “พหุวัฒนธรรม” หรือ “ดอกไม้หลากสี” ซึ่งที่สุดแล้ว อาจจะเป็นแค่คำกล่าวที่เลิศหรู แต่ไม่ใช่ของเท็จจริงก็เป็นได้
 
แน่นอนเรื่องของการปิดเคเอฟซีอาจจะเป็นเรื่องที่ “สังคมใหญ่” มองว่าเป็นความผิดของเคเอฟซีที่เข้าไปตั้งรกรากในพื้นที่ ซึ่ง “สังคมใหญ่” ต้องบริโภคอาหารที่ต้องมีฮาลาล และเคเอฟซีไม่พยายามที่จะทำให้เป็นไปตามความต้องการของ “สังคมใหญ่” จนสุดท้ายจึงต้องปิดกิจการ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจจะติดตามมา
 
ในขณะที่คนใน “สังคมเล็ก” รู้สึกลึกๆ ว่า ในเมื่อคนใน “สังคมใหญ่” ใช้บริการตรงนั้นไม่ได้ แต่ทำไมคนใน “สังคมเล็ก” จะยอมรับการถูกลิดรอนสิทธิจาก “สังคมใหญ่” ไปด้วยหรือ?!
 
ที่หยิบยกเรื่องการปิดสาขาเคเอฟซีในชายแดนใต้มาพูดถึง ไม่ใช่เรื่องแกว่งเท้าหาเสี้ยน แต่ต้องการเห็นบรรทัดฐานที่จะต้องมีในอนาคต เพื่อมิให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
 
สำหรับกรณีการปิดบริการเคเอฟซี 2 สาขาบนแผ่นดินชายแดนใต้ แม้มองอย่างผิวเผินอาจจะไม่เห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้นตามมา แต่ถ้าสัมผัสถึงความรู้สึกของคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นคนใน “สังคมเล็ก” แล้ว นั่นอาจจะความเจ็บปวดเพียงเล็กๆ แต่ถ้าปล่อยไว้ไม่มีการจัดการให้ดีก็อาจจะกลายเป็นประเด็นของการร้าวลึกๆ ไปได้นั่นเอง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น