คอลัมน์ : ใต้แสงหวัน
โดย..ณขจร จันทวงศ์
หลังประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป หรืออียู ประกาศระงับการนำเข้าสินค้าประมงจากประเทศไทย ตามมาตรการ IUU Fishing ซึ่งย่อมาจากคำว่า Illegal, Unreported and Unregulated Fishing แปลว่าการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม
ซึ่งลักษณะการทำประมงผิดกฎหมายที่พบมากที่สุดในประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2503 ที่เริ่มมีการใช้เรือประมงอวนลาก นั่นก็คือ การลักลอบเข้ามาจับปลาในเขตหวงห้ามใกล้ชายฝั่งและในแม่น้ำลำคลองสายต่างๆ โดยอาศัยแรงงานชาวต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ที่ถูกใช้งานเยี่ยงทาส และมีไม่น้อยที่กลายเป็นศพลอยอยู่กลางทะเล หรือถูกคลื่นพัดพามาเกยอยู่ตามชายหาดในฐานะศพนิรนาม
มาตรการของอียู ส่งผลให้กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหาการให้สินค้าประมงจากประเทศไทยสามารถส่งไปขายยังสหภาพยุโรปได้ต่อไป
ซึ่งแนวทางที่กรมประมงเตรียมเสนอให้ คสช.ลงนามประกาศใช้เป็นนโยบาย หรือมาตรการในการแก้ปัญหานี้คือ การเปิดโอกาสให้เรือประมงอวนลาก อวนรุน อวนล้อม และอื่นๆ จำนวนมากที่ไม่มีใบอนุญาตทำการประมง ได้ไปขอใบอนุญาตการทำประมง หรืออาชญาบัตรให้ถูกต้องตามกฎหมายภายในระยะเวลา 60 วัน นับแต่วันออกประกาศ
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเรือประมงพาณิชย์อวนลาก อวนรุน และอื่นๆ จำนวนเพียง 3,209 ลำเท่านั้นที่มีใบอนุญาตการทำประมงโดยถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่เรือประมงพาณิชย์อีกกว่า 12,826 ลำ ที่ลักลอบทำการประมงโดยผิดกฎหมาย และใช้มีการใช้แรงงานเยี่ยงทาส อันเป็นที่มาทำให้สหภาพยุโรปปฏิเสธนำเข้าสินค้าประมงจากไทย
เมื่อลูกค้าประกาศไม่รับซื้อสินค้าจากผู้ค้าที่ทำผิดกฎหมาย วิธีการแก้ปัญหาจึงทำกันอย่างง่ายดายด้วยการให้ผู้ค้า หรือเรือประมงพาณิชย์กว่า 1 หมื่นลำ เข้ามาจดทะเบียนอยู่ภายให้เงื่อนไขของกฎหมายเท่านั้นก็เป็นอันเรียบร้อยโรงเรียนประมงไทย
ความพยายามในการนิรโทษกรรมเรือประมงอวนลาก อวนรุน เป็นมาตรการที่มีมาอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนว่าจะเป็นวิธีการเดียวที่มันสมองของนักการเมือง หรือข้าราชการในหน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถคิดออกมาได้ และน่าแปลกใจเหลือเกินว่า กรมประมง มีตัวเลขเรือประมงผิดกฎหมายอย่างแจ่มแจ้งอยู่แก่ใจ แต่เหตุใดจึงไม่สามารถดำเนินการเอาผิดต่อเจ้าของเรือได้
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2555 จำนวนเรือประมงผิดกฎหมายที่อยู่ในข่ายจะได้รับการนิรโทษกรรมจากรัฐบาลมีเพียงกว่า 2 พันลำเท่านั้น แต่จนถึงขณะนี้ จำนวนเรือประมงผิดกฎหมายเหล่านี้กลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่าตัว นั่นแสดงให้เห็นว่า กฎหมายหรือมาตรการใดๆ ของกรมประมงมุ่งไปที่ผลสัมฤทธิ์เพื่อต้องการให้สินค้าประมงจะไม่ต้องถูกกีดกันจากประเทศคู่ค้า มุ่งตอบสนองเพียงผลกำไรของบริษัทแปรรูป และส่งออกสินค้าทางทะเล แต่ไม่ได้คำนึงถึงความมั่นคงทางทรัพยากรที่เป็นแหล่งอาหารของคนไทยแต่อย่างใด
สอดคล้องกับงานวิจัยของ ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ นักวิจัยอิสระด้านการจัดการประมง (26 พฤษภาคม พ.ศ.2555) ระบุว่า องค์ประกอบของผลผลิตที่ได้จากเรืออวนลากมีสัดส่วนของสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ต้องการมีเพียงร้อยละ 33.3 ที่เหลือเป็นปลาเป็ดร้อยละ 66.7 และร้อยละ 30.1 ของปลาเป็ดเป็นสัดส่วนของสัตว์น้ำวัยอ่อนแทบทั้งสิ้น (Chantawong, 1993)
ดร.สุภาภรณ์ ระบุว่า งานวิจัยทัศนคติของชาวประมงชายฝั่งต่อผลกระทบของการทำประมงอวนลาก พบว่า ชาวประมงพื้นบ้านชายฝั่งได้รับความเดือดร้อนจากเรือประมงอวนลากอย่างหนักหนาสาหัสถ้วนหน้ากัน อวนลากไม่เพียงแต่ทำลายสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยและระบบนิเวศสัตว์น้ำชายฝั่ง แต่ยังได้ทำลายเครื่องมือประมงของชาวประมงพื้นบ้านที่วางทิ้งไว้ในทะเลเพื่อดักจับสัตว์น้ำให้เสียหายอีกด้วย
จึงกล่าวได้ว่า การทำประมงอวนลากส่งผลกระทบทางลบทั้งต่อตัวทรัพยากรทะเล และวิถีการทำประมงของชุมชนชายฝั่งซึ่งเป็นชาวประมงส่วนใหญ่ของประเทศ
ดร.สุภาภรณ์ กล่าวว่า ถึงแม้ว่าการทำประมงอวนลากจะถูกห้ามดำเนินการในเขตพื้นที่ชายฝั่ง 3,000 เมตรทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 เป็นต้นมา แต่ด้วยข้อจำกัดหลายประการของกรมประมง ทำให้การควบคุมการทำประมงอวนลากให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่ผ่านมาขาดประสิทธิภาพและเป็นไปได้ยาก ความพยายามของกรมประมงในการควบคุมจำนวนเรือประมงอวนลากก็ไม่ประสบความสำเร็จในทางปฏิบัติ
“ทำให้เห็นว่าการควบคุมจำนวนเรืออวนลากของกรมประมงที่ผ่านมา เป็นเพียงการควบคุมตัวเลขเรืออวนลากที่จดทะเบียนเท่านั้น แต่มีเรืออวนลากเถื่อนเต็มท้องทะเลที่กำลังรอวันนิรโทษกรรม”
ขณะที่ นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า แผนการนิรโทษกรรมเรือประมงอวนลาก อวนรุนในครั้งนี้ กรมประมงยังคงมุ่งวางมาตรการเพื่อตอบสนองกลุ่มทุนมากกว่าที่จะหันมามองให้เห็นถึงความเป็นจริงในท้องทะเลไทย เช่นเดียวกับที่ชาวประมงพื้นบ้านซึ่งหาปลาอยู่ใกล้ชายฝั่งกำลังเผชิญกับความจริงมาเป็นเวลานานว่า นับวันท้องทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามันมีแต่จะเสื่อมโทรมลง สาเหตุหลักมาจากการปล่อยปละละเลยของหน่วยงานที่รับผิดชอบ
“จริงๆ แล้วมาตรการทางการค้าของอียู มุ่งเรียกร้องให้ประเทศไทยจัดการอย่างเด็ดขาดกับเรือประมงผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานทาสบนเรือประมง ซึ่งหากรัฐเอาจริงเอาจังต่อการแก้ปัญหาเหล่านี้ ก็จะสามารถยุติต้นตอที่ทำให้เกิดการทำลายทรัพยากร การค้ามนุษย์ และละเมิดสิทธิของแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากเอาจริงกับปัญหาประมงแค่เรื่องเดียวก็จะสามารถแก้ปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ทั้งระบบ แต่การหลับหูหลับตาแก้ปัญหาอย่างที่เป็นอยู่ ไม่ได้ส่งผลดีอะไรต่อประเทศไทยแม้แต่น้อย คนที่ได้ประโยชน์มีเพียงนายทุนโรงงานปลาป่นซึ่งเป็นผู้ส่งออกปลาป่นรายใหญ่ของโลกที่ได้รับประโยชน์แต่เพียงผู้เดียว ขณะที่คนไทยทั้งหมดต้องแบกรับเคราะห์กรรมที่พวกเขาไม่ได้เป็นคนก่อ”
ความพยายามที่จะนิรโทษกรรมเรืออวนลาก อวนรุน ของกรมประมงครั้งนี้ เป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากจะยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า สายพานการผลิตในโรงงานปลาป่นที่กวาดต้อนสัตว์น้ำทุกชนิดทุกขนาดเข้าเครื่องบดป่นจนเป็นผงละเอียดไม่มีชิ้นดีนั้น จะไม่มีวันหยุดเดินเครื่องลงในเร็วๆ นี้ โดยพิจารณาจากเรืออวนลาก อวนรุน ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องต่อความต้องการใช้แรงงานชาวต่างด้าวผิดกฎหมายในภาคการประมง ซึ่งสอดคล้องกับท่าที และวิธีการแก้ปัญหาของผู้รับผิดชอบที่สอดคล้องต้องกันเป็นอย่างดี
นี่อาจเป็นโอกาสครั้งสุดท้ายสำหรับอนาคตของสัตว์น้ำวัยอ่อน อนาคตของชาวประมงพื้นบ้าน กับเรือลำเล็กริมชายฝั่ง รวมถึงผู้บริโภคทุกคนที่วาระสุดท้ายคล้ายจะจบลงด้วยการถูกกวาดต้อนเข้าโรงงาน สู่สายพานการผลิต ถูกเครื่องจักรบดขยี้ จนชีวิตป่นปี้แหลกลาญ กลายเป็นอาหารผสมสารเร่งการเติบโตของสัตว์ประเภท หมู วัว เป็ด ไก่ ที่ใช้เวลาเลี้ยงไม่นาน ก็จะถูกชำแหละขายเป็นอาหารให้คนรับประทานกันทั้งโลก พร้อมของแถมคือ โรคระบาดสายพันธุ์ใหม่ ที่ต้องใช้ยารักษา ซึ่งล้วนผลิตมาจากโรงงานในเครือเดียวกันนั่นเอง