“ศรีรัตน์” สั่งตั้งคณะกรรมการด้านการค้าและแรงงาน หวังแก้ปัญหาแรงงานทั้งระบบ ป้องกันผลกระทบด้านการค้า เผยจะมีส่วนช่วยหนุนการทำงานของ คสช. ยันไม่ว่าผลรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ จะออกมาอย่างไรไทยจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทั้งร่วมมือภาครัฐ เอกชน และสั่งหน่วยงานพาณิชย์ในต่างประเทศเร่งชี้แจง
นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งคณะกรรมการด้านการค้าและแรงงาน ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้ไทยสามารถดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาและผลกระทบทางการค้าอันเนื่องจากปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์อย่างรอบด้านตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้มีประสิทธิภาพ และสามารถสื่อสารต่อสาธารณะและผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งคณะทำงานชุดนี้จะมีส่วนสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวที่จัดตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวในภาพรวมของประเทศไทยต่อไปด้วย
“ขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังรอผลการพิจารณารายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2557 ที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จะประกาศในวันที่ 20 มิ.ย. หรือเช้าวันที่ 21 มิ.ย. ตามเวลาในไทย ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร กระทรวงฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ แบบบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่มีนัยสำคัญ และแสดงความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาของไทยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพื่อสกัดกั้นผลกระทบทางการค้าที่อาจจะลุกลามตามมา”
นางศรีรัตน์กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และไม่สนับสนุนการใช้แรงงานผิดกฎหมาย โดยได้ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมประมง กระทรวงการต่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย และสมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เป็นต้น เพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด
ขณะเดียวกัน ได้สั่งการให้เครือข่ายของกระทรวงฯ ในต่างประเทศ ทั้งสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ที่กรุงวอชิงตัน และบรัสเซลส์ และสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่อยู่ในสหรัฐฯ และยุโรป ทำการชี้แจงและทำความเข้าใจกับภาครัฐ และภาคเอกชนในตลาดสหรัฐฯ และยุโรป โดยเฉพาะบริษัทค้าปลีก ค้าส่ง ด้วยการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของไทยในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน เพื่อให้คู่ค้าเกิดความเข้าใจและนำไปสู่การยกเลิกการใช้มาตรการที่กระทบต่อการค้าไทย
นางศรีรัตน์กล่าวว่า ภาครัฐและเอกชนไทยได้ร่วมกันเตรียมการที่จะยื่นข้อเสนอถอดถอนสินค้า 5 รายการ ได้แก่ กุ้ง เครื่องนุ่งห่ม อ้อย สื่อลามก และปลา ที่ถูกสหรัฐฯ กล่าวหาว่ามีการใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับ และเตรียมการที่จะยื่นถอดถอนสินค้าดังกล่าวแล้ว
ทั้งนี้ นอกจากประเด็นด้านสังคมและแรงงาน ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นเรื่องสำคัญที่อาจจะมีผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศของประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย ซึ่งในเรื่องนี้ สหภาพยุโรปถือเป็นผู้นำในการผลักดันนโยบายและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของตนให้ประเทศคู่ค้าต้องปฏิบัติตามหากต้องการจะส่งสินค้าเข้าตลาดสหภาพยุโรป ทั้งนี้ มาตรการสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรปที่ผู้ประกอบการไทยควรจะตระหนัก เช่น การห้ามทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม (illegal, unreported and unregulated - IUU fishing) การห้ามนำเข้าสินค้าไม้ที่ผิดกฎหมาย (EU Timber Regulation) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (EU ETS)
“มาตรการเหล่านี้ล้วนมีวัตถุประสงค์ให้กระบวนการผลิตและจำหน่ายสินค้าและบริการจะต้องคำนึงด้านสิ่งแวดล้อม มิเช่นนั้นไทยก็อาจจะสูญเสียตลาดสำคัญให้กับสินค้าและบริการของประเทศอื่นที่มีระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า ดังนั้น อนาคตการค้าของไทยจึงขึ้นอยู่กับเรื่องใหม่ๆ ที่มาจากนโยบายด้านสังคมของประเทศคู่ค้าสำคัญ ทั้งแรงงาน สิทธิมนุษยชน สุขภาพ สิ่งแวดล้อม การประมง การจัดการป่าไม้ ที่อาจจะมีผลกระทบต่อการค้า ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด โดยมอบให้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าเป็นศูนย์กลางของกระทรวงฯ ในการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าและเศรษฐกิจของไทยอย่างยั่งยืนต่อไป” นางศรีรัตน์กล่าว