xs
xsm
sm
md
lg

“สุรพงษ์” คาดหวังสหรัฐฯ ปรับอันดับค้ามนุษย์ไทยดีขึ้น เผยจับลูกเรือฆ่าทหารอินโดฯ จ่อส่งผู้ร้ายข้ามแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ (ภาพจากแฟ้ม)
รองนายกฯ-รมว.ต่างประเทศ เผยรายงาน รมว.สหรัฐฯ แจงไทยถูกจับตามองด้านการค้ามนุษย์ ยันปรับการบังคับใช้กฎหมาย ช่วยเหลือแล้ว คาดหวังสหรัฐฯ พอใจไม่จัดอันดับลดอีกระดับ ส่วนกรณีลูกเรือประมงไทยฆ่าทหารอินโดนีเซียกลางทะเล เผยให้ดำเนินคดีในไทยถึงที่สุดก่อนส่งผู้ร้ายข้ามแดน เตือนไปน่านน้ำประเทศอื่นขอให้เคารพกฎหมาย

วันนี้ (27 มี.ค.) นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่ลูกเรือ ส.นาฏยา 7 หรือ เรือเคเอ็ม มุเทียร่า มินา-39 ก่อเหตุฆ่าทหารอินโดนีเซีย 2 นายแล้วโยนศพทิ้งบริเวณหมู่เกาะนาทูนา แทบทะเลใต้ ใกล้น่านน้ำทะเลใต้ ว่า ขณะนี้ตนได้รับรายงานว่าได้จับกุมตัวลูกเรือที่กระทำความผิดได้แล้ว แต่จะให้ฝ่ายไหนดำเนินการทางกฎหมายต่อไประหว่างอินโดนีเซีย หรือไทย อยู่ในระหว่างการตรวจสอบกฎหมายระหว่างประเทศ โดยในวันพรุ่งนี้ (28 มี.ค.) นายมาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย จะเดินทางมายังประเทศไทย ตนจะได้พูดคุยเรื่องนี้ต่อไป

ต่อมาในช่วงบ่าย นายสุรพงษ์ แถลงถึงการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในประเทศไทย ว่า จากการที่ไทยถูกจัดอันดับรายงานการค้ามนุษย์ หรือ เทียร์ (Tier Watch List) ซึ่งจัดอันดับโดยสหรัฐอเมริกา ให้อยู่ในระดับเทียร์ 2 มาเป็นเวลา 4 ปีเต็ม ถ้าถูกปรับเป็นเทียร์ 3 ประเทศไทยลำบากแน่นอน เพราะการค้าขายสิ่งทอ อาหารทะเล ที่เราส่งออกเป็นจำนวนมากจะได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ เป็นสิ่งที่น่ายินดีที่รัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้อย่างเข้มงวด โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ และตำรวจ ได้ดำเนินขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทั้งหมด ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาเห็นว่าการดำเนินคดีของไทยเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ แรงงานเถื่อนเป็นไปอย่างล่าช้า เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถจับกุมและลงโทษผู้กระทำความผิดได้ สำหรับปี 2557 จากที่เราได้ปรับโครงสร้างการทำงานใหม่ โดยให้ฝ่ายตำรวจจัดขึ้นเป็นกองปราบปรามการค้ามนุษย์ เหมือนกับกองปราบปรามยาเสพติด และได้ติดต่อการทรวงยุติธรรมในการดำเนินคดี ให้แยกเป็นคดีแบบเดียวกับคดียาเสพติด เพื่อให้การดำเนินคดีในชั้นศาลเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเราได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายศาลยุติธรรมด้วย

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ฉะนั้นปี 2557 เราได้รายงานไปถึง รมว.ต่างประเทศสหรัฐอเมริกา โดยตนได้ลงนามในวันนี้ (27 มี.ค.) โดยมีหัวข้อใหญ่ 5 หัวข้อ คือ 1.การดำเนินคดีและการบังคับใช้กฎหมาย ในปี 2556 มีคดีเกี่ยวกับการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น 674 คดี ฟ้องร้องผู้กระทำความผิดได้ 483 ราย โดยเมื่อเทียบกับปี 2555 เราฟ้องร้องผู้กระทำความผิดได้ 56 ราย นอกจากนี้เราได้ลงโทษผู้กระทำความผิดไป 225 ราย เทียบกับปี 2555 ที่มีทั้งหมด 49 ราย อีกทั้งปี 2556 มีการดำเนินคดีกับบริษัทจัดหางาน 15 บริษัท ซึ่งเราได้ถอนใบอนุญาต 2 บริษัทพักใบอนุญาต 4 บริษัท และดำเนินคดีอาญา 9 บริษัท นอกจากนั้นได้มีการดำเนินคดีกับนายหน้าเถื่อน 155 คดี ซึ่งตัวเลขดังกล่าวคิดว่าทางสหรัฐจะพอใจ

2.รัฐบาลไทยได้ให้การช่วยเหลือผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์กว่า 600 คน เป็นเงินกว่า 6 ล้านบาท นอกจากนี้ในการป้องกัน เราได้ปรับปรุงและขยายการตรวจแรงงานให้ครอบคลุมพื้นที่และสาขาอุตสาหกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้น 3.สำหรับภาคการประมงซึ่งเป็นที่เพ่งเล็ง ได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานแรงงานประมงใน 7 จังหวัดเพื่อจัดระเบียบแรงงาน และตรวจแรงงานให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเข้มงวด

4.นโยบายและกลไกของรัฐบาล ได้จัดสรรงบประมาณเป็นงบพิเศษกว่า 190 ล้านบาท เพื่อดำเนินกิจกรรมเชิงรุกด้านการป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ 5.ความร่วมมือกับภาคส่วนต่างประเทศ เราได้จัดทำเอ็มโอยู กับองค์กรภาคเอกชน ประชาสังคม และประเทศเพื่อบ้าน ในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อร่วมมือป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และอยู่ในการเจรจาร่วมมือเอ็มโอยูกับอีกหลายประเทศ เช่น จีน มาเลเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทั้งนี้เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าครั้งนี้สหรัฐอเมริกาจะไม่ปรับอันดับให้ไทยลดไปอยู่ที่เทียร์ 3 เพราะจะกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงกรณีที่ลูกเรือ ส.นาฏยา 7 หรือเรือเคเอ็ม มุเทียร่า มินา-39 ก่อเหตุฆ่าทหารอินโดนีเซีย 2 นายแล้วโยนศพทิ้งบริเวณหมู่เกาะนาทูนา แถบทะเลใต้ ใกล้น่านน้ำทะเลใต้ ว่า พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้ช่วย ผบ.ตร.ได้รายงานให้ตนทราบว่า ลูกเรือทั้ง 12 คน มี 8 คน ร่วมกระทำความผิด โดยหลังจากที่จับกุมเสร็จทางการอินโดนิเซียได้ติดต่อกับตำรวจชัดเจนว่าให้ดำเนินคดีต่างๆ ในประเทศไทยจนสิ้นสุด เมื่อเสร็จสิ้นแล้วตามกฎหมายระหว่างประเทศเรามีข้อตกลงในการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย ถ้าอินโดนีเซียต้องการให้มีการโอนผู้ร้ายข้ามแดน เราก็ทำได้ตามคำขอ

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ขอเรียนผู้ประกอบการประมงว่า จากเหตุที่เกิดขึ้นทางรัฐบาลอินโดนิเซีย ไม่ได้ห้ามให้เรือประมงเข้าไปในน่านน้ำของอินโดนีเซีย เพียงแต่จะเข้มงวดกวดขันกับเรือประมงของไทย โดยในวันพรุ่งนี้ (28 มี.ค.) ตนจะหาพบปะรือกับ รมว.ต่างประเทศอินโดนีเซีย และรายงานถึงการดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิด และขอความอนุเคราะห์ในการให้ความสะดวกกับเรือประมงไทยในน่านน้ำอินโดนีเซีย โดยตนขอฝากไปถึงผู้ประกอบการธุรกิจประมงว่า การเดินทางไปน่านน้ำประเทศต่างๆ ขอให้เคารพกฎหมาย แรงงานต่างๆ ที่อยู่บนเรือควรเป็นแรงงานที่มีใบอนุญาตถูกต้อง และให้ความสะดวกในการตรวจสอบ


กำลังโหลดความคิดเห็น