xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมต้องขวาง “นิรโทษกรรมเรืออวนลาก” เสียงก้องจาก “นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ท่ามกลางกระแสคัดค้านกรณี “กรมประมง” ชงเรื่องให้ ครม.นิรโทษกรรม “เรืออวนลาก” ผิดกฎหมายกว่า 2,000 ลำ ซึ่งล้วนเป็นของนายทุนใหญ่ แล้วยกเอามาตรการกีดกันทางการค้าจากสหภาพยุโรปเป็นตัวประกัน โดยไม่สนใจว่า นั่นคือ “เครื่องมือทำลายล้าง” อันฉกาจฉกรรจ์ทั้งต่อท้องทะเลไทย และผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ซึ่งในสื่อสังคมออนไลน์ทั้งเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ โดยเฉพาะในกลุ่ม “รวมพลคนกินปลา” กำลังคึกคักแบบสุดๆ
 
 
เพื่อความเข้าใจในอีกวิกฤตใหญ่ของบ้านเมืองเราเวลานี้ “ASTVผู้จัดการภาคใต้” จึงได้จับเข่าสัมภาษณ์พิเศษ “บรรจง นะแส” ในฐานะ “นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย” ผู้เป็นเสมือนหัวหอกออกมาร่วมเคลื่อนไหวในครั้งนี้
 

 
“ASTVผู้จัดการภาคใต้” : อยากให้เล่าความเป็นมาของปัญหานี้ว่ามันเกิดขึ้นมาอย่างไรก่อน?
“บรรจง นะแส” : คือ อธิบดีกรมประมง คุณวิมล จันทรโรทัย ท่านได้ทำเรื่องเสนอให้ ครม.นิรโทษกรรมเรืออวนลาก 2,000 กว่าลำ ทั้งที่ปัญหาการทำลายทรัพยากรพันธุ์สัตว์น้ำก็เป็นที่ประจักษ์ว่า เรืออวนลากเป็นเครื่องมือทำลายล้างหนึ่งใน 3 เครื่องมือ ได้แก่ อวนลาก อวนรุน เรื่อปั่นไฟจับปลากะตัก ที่ทำให้พันธุ์สัตว์น้ำในทะเลไทยลดลงอย่างรวดเร็ว สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ติดชายฝั่งใน 24 จังหวัด กว่า 300,000 คน ที่ทำอาชีพประมงต้องได้รับความเดือดร้อน
 
นี่ยังไม่รวมถึงผลกระทบต่อผู้บริโภคสัตว์น้ำจำพวกกุ้ง หอย ปู ปลา อีกจำนวนมากที่ต้องซื้อสัตว์น้ำในราคาแพง ซึ่งส่วนใหญ่ ปลาที่อยู่ในตลาดภายในประเทศเราในตอนนี้ก็เป็นปลานำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งๆ ที่เรามีอ่าวไทย มีทะเลอันดามัน มีชายฝั่งยาวกว่า 2,600 กิโลเมตร แต่สัตว์น้ำเราลดลงทุกปี เพราะกรมประมงไม่มีศักยภาพที่จะดูแล
 
การทำลายที่สำคัญคือ จากเรืออวนลากนี่แหละ
 

 
: อธิบดีกรมประมงมีเหตุผลอะไรที่ต้องชงเรื่องให้ ครม.นิรโทษกรรมเรืออวนลากกว่า 2,000 ลำ?
อธิบดีกรมประมงอ้างว่า เพราะชาวประมงในจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร ร้องเรียนไปที่กรรมาธิการรัฐสภาว่า การทำประมงอวนลากจะถูกกีดกันจากมาตรการของสหภาพยุโรป ที่เรียกว่า  IUU FISHING หากไม่มีการนิรโทษกรรมให้เรืออวนลากเถื่อน เรืออวนลากที่สวมทะเบียนให้ถูกกฎหมายเสีย ก็จะทำให้สินค้าประมงของไทยจะถูกห้ามนำเข้าประเทศในสหภาพยุโรป ซึ่งปีหนึ่งๆ มีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท
 

 
: ช่วยขยายความหน่อยเกี่ยวกับมาตรการ IUU FISHING  ว่าคืออะไร?
IUU FISHING เป็นคำย่อมาจากคำว่า Illegal, Unreported and Unregulated Fishing ซึ่งเป็นมาตรการที่สหภาพยุโรปห้ามนำเข้าสินค้าประมงที่มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย (Illegal) ที่ไม่มีการรายงานแหล่งที่มาของสินค้าสัตว์น้ำ (Unreported) และไม่มีการควบคุมการได้มาซึ่งสินค้านั้นๆ (Unregulated) เรือประมงอวนลากเถื่อนเหล่านี้ไม่สามารถส่งสินค้าไปขายให้แก่สหภาพยุโรปได้อีกต่อไป 
 
ซึ่งในความเป็นจริง กรมประมงควรที่จะใช้โอกาสนี้ในการจัดการกับเครื่องมือประมงอวนลากที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และทำลายทรัพยากรทะเลมาอย่างยาวนานให้หมดไป ไม่ใช่มาปล่อยผีปล่อยให้ทำลายอยู่อีกเช่นนี้
 

 
: ที่นี้อยากให้อธิบายเหตุผลที่เราต้องลุกขึ้นคัดค้านในเรื่องนี้บ้าง?
ก็อย่างที่บอกครับ อวนลาก เป็นเครื่องมือทำลายล้างที่ทำให้ท้องทะเลไทยแทบจะเหลือแต่น้ำเค็มๆ ขนาดงานวิจัยของกรมประมงเองก็ยังระบุว่า อวนลากมีการทำลายสูงมาก เลยให้กรมประมงหยุดออกอาชญาบัตรเรืออวนลากตั้งแต่ปี 2547 แต่เพราะไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทำให้ยังมีเรืออวนลากเถื่อน เรืออวนลากสวมทะเบียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลของกรมประมงบอกว่าสิ้นปี 2553  มีเรืออวนลากที่มีอาชญาบัตรถูกต้อง 3,619 ลำ ตอนนี้บอกว่ามีอยู่รวมๆ กันกว่า 5,000 ลำ แต่ในความเป็นจริงมีมากกว่านั้นหลายเท่า
 
หากขืนปล่อยให้มีการนิรโทษเรืออวนลากที่สวมทะเบียน และเรืออวนลากเถื่อน แล้วให้กลับมาทำการประมงได้ถูกต้องตามกฎหมาย บอกได้คำเดียวว่า ทะเลไทยก็จะย่อยยับมากกว่านี้ เราจะต้องหาทางฟื้นฟูท้องทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ และหนึ่งในวิธีการที่จำเป็นก็คือ ลดการทำประมงด้วยเครื่องมือประมงแบบทำลายล้างคือ อวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟจับปลากะตัก ไม่ใช่ไปเพิ่มจำนวนให้เพิ่มขึ้นมาอีกเป็นเท่าตัว แล้วชาวประมงชายฝั่ง คนกินปลาจะเหลืออะไร
 

 
: เรื่องการชง ครม.ให้นิรโทษกรรมเรืออวนลากนี่ แท้จริงแล้วมีเบื้องหน้า-เบื้องหลังไหม?
ผมคิดว่ามีแน่นอน เพราะถ้าเราบริหารจัดการทรัพยากรทะเลตามหลักวิชาการ อย่างที่กรมประมงเองนั่นแหละเคยทำ และเก็บข้อมูลเอาไว้ หรือที่ร่วมทำไว้กับ FAO หรืองานวิชาการต่างๆ ของนักวิชาการประมง ก็ข้อมูลพบตรงกันว่า การปล่อยให้มีเครื่องมือทำการประมงชนิดอวนลาก อวนรุน เรือปั่นไฟ ล้วนส่งผลร้ายต่อการทำลายทรัพยากรพันธุ์สัตว์น้ำอย่างรุนแรง และข้อเสนอก็คือ จะต้องหาทางลดจำนวนตัวการทำลายล้างเหล่านี้ลงเรื่อยๆ จนไม่ให้มีอีกต่อไป ซึ่งประเทศไทยเราควรทำให้เหมือนๆ กับอารยะประเทศอื่นๆ เขา
 
แต่เพราะผลิตผลจากเรืออวนลาก อวนรุน เรื่อปั่นไฟ เป็นวัตถุดิบที่สำคัญของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์คือ ปลาป่น ซึ่งเราก็รู้กันอยู่ว่า เป็นธุรกิจของพวกนายทุนใหญ่ เป็นธุรกิจของบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี บริษัทเหล่านี้มีอิทธิพลเหนือนักการเมือง เหนือข้าราชการประจำ เขาสามารถผลักดันนโยบายที่ทำให้พวกเขาร่ำรวยไม่สิ้นสุด โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น หรือไม่คำนึงถึงการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรแต่อย่างใด
 

 
: ขอทราบว่าสมาคมรักษ์ทะเลไทยและเครือข่ายมีแผนในการรณรงค์เรื่องนี้อย่างไร?
แรกสุด หลังจากที่เราได้รับทราบข่าวว่า อธิบดีกรมประมงได้นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ไปแล้ว พี่น้องประมงพื้นบ้านในหลายๆ จังหวัด ทั้งในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออก ก็ได้ทำหนังสือคัดค้านไปที่อธิบดีกรมประมง ท่านก็ตอบมาว่าไม่ถอน และพยายามบอกว่า ต่อไปจะไม่ให้มีการนิรโทษอีกแล้ว รวมทั้งบอกว่าจะมีมาตรการจัดการกับเรืออวนลากยังโน้นอย่างนี้
 
เรื่องนี้พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านไม่เชื่ออีกแล้ว เพราะปัญหาปัจจุบันอันเกิดจากเรืออวนลาก อวนรุนในพื้นที่ กรมประมงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เลย ไม่ว่าการเข้ามาทำการลาก รุน ในเขตหวงห้าม 3,000 เมตร การทำลายเครื่องมือของประมงพื้นบ้าน จนบางครอบครัวต้องติดหนี้ยืมสิน ร้ายไปกว่านั้นปล่อยให้ชาวประมงทะเลาะกันเอง ฆ่าฟันกันเองในทะเล กรมประมงแก้ไขอะไรไม่ได้เลย เพราะไม่มีศักยภาพพอ
 
ในส่วนที่สอง เราก็จัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะ เพื่อให้สังคมได้เข้าใจปัญหานี้ มีนักวิชาการทางการประมงหลายท่านช่วยกันเขียนบทความ ตีแผ่ข้อเท็จจริง ชี้เบื้องหน้า-เบื้องหลังของการนิรโทษกรรมเรืออวนลากของกรมประมงในครั้งนี้ให้คนทั่วๆ ไปได้รับรู้ ในสื่อออนไลน์ไม่ว่าจะทางทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก เราก็จัดรณรงค์ด้วย
 
โดยเฉพาะในกลุ่ม “รวมพลคนกินปลา” ซึ่งเป็นกลุ่มสื่อสารในเฟซบุ๊กที่มีสามชิกกว่า 4,000 คนแล้ว เราก็จัดให้สมาชิกร่วมลงรายชื่อคัดค้านการกระทำของกรมประมงในครั้งนี้ ซึ่งก็มีผู้มาร่วมลงชื่อคัดค้านมากมาย
 
สุดท้าย ได้มีการยื่นหนังสือเพื่อขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้ามาตรวจสอบในเรื่องนี้ เพราะถือว่า การนิรโทษกรรมเรืออวนลาก เป็นการละเมิดสิทธิของการประกอบอาชีพประมงอื่นๆ ไม่ว่าชาวประมงพื้นบ้าน หรือสิทธิของคนกินปลา เพราะอวนลากได้มีส่วนทำร้ายทำลายสิ่งที่เขาควรจะได้รับ ทำลายอาชีพ ทำลายเครื่องมือทำการประมงของพวกเขา ซึ่งมีข้อมูลมีตัวอย่างมากมายทั้งในพื้นที่ชายฝั่งในภาคใต้ และภาคตะวันออก
 

 
: สุดท้ายอยากทราบว่า สมาคมรักษ์ทะเลไทย หวังผลแค่ไหนต่อการรณรงค์คัดค้านนิรโทษกรรมเรืออวนลากในครั้งนี้?
เราเป็นสมาคมเล็กๆ ที่มีสมาชิกสองร้อยกว่าคน เป็นสมาคมที่เกิดขึ้นจากคนทำงานพัฒนาเอกชนที่ทำงานกับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านมากว่า 30 ปี เรารู้ว่าปัญหาเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และเรื้อรังมายาวนาน เราเห็นการเชื่อมโยงของนักธุรกิจประมงกับนักการเมืองในระดับต่างๆ ที่เอารัดเอาเปรียบการประกอบอาชีพของประมงรายย่อย
 
การที่กรมประมงนำเสนอนโยบายต่อรัฐบาลเพื่อสนับสนุนแต่ประมงพาณิชย์ ทำให้ผู้คนในสังคมไทยเราโดยรวมขาดโอกาสที่จะได้บริโภคอาหารทะเลสดๆ จากทะเลของเราเอง เราถูกบังคับให้กินไก่ขุน เนื้อขุน หมูขุน ทั้งๆ ที่เรามีปลาและอาหารอื่นๆ มากมายอยู่ในท้องทะเลกว้างอันใหญ่ศาลสองฟากฝั่งของประเทศเราเอง 
 
เราเห็นปัญหานี้มาตลอด เห็นความทุกข์ยากของพี่น้องผู้ประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของสังคมไทย ทำไมต้องทำให้เขาล้มละลาย อพยพย้ายถิ่นฐาน การประกอบอาชีพไม่พอเลี้ยงครอบครัว ลูกหลานขาดโอกาสทางสังคม
 
ที่เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าสังคมเราไม่มีนโยบายที่จะดูแลเขา รัฐก็ไม่ใส่ใจต่ออาชีพนี้ ทั้งๆ ที่ประเทศของเรามีฐานทรัพยากรที่เหมาะสมจำนวนมาก ไม่ว่าความสมบูรณ์แห่งท้องทะเล พื้นที่ชายฝั่งที่ยาวติดต่อกันไปในหลายๆ จังหวัด มีแหล่งท่องเที่ยวที่ตลาดอาหารทะเลไม่มีทางที่ราคาจะตกต่ำ สร้างอาชีพที่ต่อเนื่องได้อีกมากมาย แต่สังคมเรากลับปล่อยให้ปากเสียงของพี่น้องประมงพื้นบ้านแผ่วเบาเสียจนไม่มีใครได้ยิน
 
พวกเราปวารณาตัวที่จะยืนเคียงข้างพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านสู้กับปัญหานี้ สู้ได้แค่ไหนก็แค่นั้น แต่งานนี้เราสู้ไม่ถอยแน่ครับ.
 
กำลังโหลดความคิดเห็น