xs
xsm
sm
md
lg

สลด!! 4 ปี “โลมาอิรวดี” ทะเลตราด ตายร่วม 200 ตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โลมาอิรวดี วันนี้ในทะเลตราดมีจำนวนลดลงอย่างน่าใจหาย
ศูนย์ข่าวศรีราชา

สลด...ทะเลไทยเสื่อมโทรมจัด สัตว์หายากเกยตื้นตายจำนวนมาก พะยูน วาฬ โลมาอิรวดี เต่าทะเล เหตุเพราะประมงทำลายล้าง คนมักง่ายทิ้งขยะลงทะเล มากถึงวันละ กว่า 8 ล้านตัน ทำให้ระบบนิเวศพัง รวมทั้งการทำประมงแบบไร้ควบคุม น้ำทะเลไม่ไหลเวียน น้ำเน่าโรงงาน ขยะจากชุมชน ฯลฯ

คงจะปฏิเสธกันไม่ได้อีกต่อไปแล้วว่า ปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลงเพราะน้ำมือมนุษย์ไม่ได้เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ด้วยกันเองเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อย่างน่าเป็นห่วงอีกด้วย

ล่าสุดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ออกมาเปิดเผยสถานการณ์ทะเลไทยในปัจจุบัน โดยระบุชัดเจนว่า ขณะนี้สถานการณ์ของสภาพทั่วไปของท้องทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน แม้ว่าจะยังมีความสวยงาม หากแต่ความเป็นจริงแล้ว กลับกำลังเข้าสู่สภาพวิกฤต ส่งผลต่อสัตว์ทะเลสำคัญต่างๆ ที่พบว่าลดจำนวนลงมากและอาจจะสูญพันธุ์ได้ในอนาคต

 ที่เห็นชัดเจนอยู่ในขณะนี้คือ “โลมาอิรวดี” ด้านทะเลตราด ตามจำนวนมากจนรู้สึกได้ถึงความผิดปกติ ล่าสุดเมือวันทื่ 16 กุมภาพันธ์ 2557 พบ โลมาอิรวดี ตามเป็นตัวที่ 7 ของปีนี้ ทั้งที่เพิ่งจะผ่านมาได้มาได้ใม่ถึง 2 เดือน ตัวที่ 7 แล้ว

หากจะย้อนกลับไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2553 โลมาเสียชีวิตกว่า 85 ตัว ปี 2554 โลมาเสียชีวิตกว่า 25 ตัว ปี 2555 โลมาเสียชีวิตกว่า 30 ตัว ปี 2556 (5 เดือน) โลมาเสียชีวิต 27 ตัว ปี 2557 (มกราคม - กุมภาพันธ์) โลมาเสียชีวิต 8 ตัว
เมื่อก่อนจะพบเห็นโลมาแหวว่ายในทะเลอยู่เสมอๆ
หากรวมแล้ว โลมาที่เสียชีวิตใน จ.ตราด โดยเฉพาะในพื้นที่อ่าวตราด ประมาณ 200 ตัว ตั้งแต่ ต.แหลมกลัด อ.เมือง ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ ถึง ต.ห้วงน้ำขาว ต.อ่าวใหญ่ ต.หนองคันทรง ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ทะเล รวมทั้งปลาทู ที่โลมาชอบกิน ทำให้มีโลมาอิรวดี จำนวน 200-300 ตัว ใช้เป็นแหล่งทำมาหากิน และอยู่อาศัยพร้อมผสมพันธุ์ออกลูกหลานซึ่งชาวประมงพื้นบ้านที่พบซากโลมาเสียชีวิต ยังพบว่ามีโลมาเสียชีวิตพร้อมลูกในท้องด้วย**

สะท้อนให้เห็นว่า “อ่าวตราด” เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ทำกิน และแพร่พันธุ์ของโลมาอิรวดีที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในขณะนี้ กำลังวิกฤต ย่ำแย่

ขณะที่เมื่อ 10 ปี ก่อน อ่าวตราดที่เคยถูกทำลาย ทำให้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มีการรณรงค์ในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในอ่าวตราด กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง ทำให้โลมาที่เคยหายไปก็กลับคืนมา และเริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจะพบเห็นระหว่างนำเรือโดยสารไปท่องเที่ยวตามเกาะต่างๆ เช่น เกาะกูด เกาะหมาก และจะเห็นเป็นฝูงไม่ใช่ 1-2 ตัวเท่านั้น

แต่ความสมบูรณ์ของท้องทะเลอ่าวตราด ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นตัวทำลายโลมาด้วยเช่นกัน เมื่อความอุดมสมบูรณ์ของทะเลมีมาก สัตว์ทะเลจึงอุดมสมบูรณ์ ทั้งปลานานาชนิด ปู กุ้ง หอย หรือ ปลาหมึก โดยเฉพาะปลาทู มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้ชาวประมงพื้นบ้าน ชาวประมงอวนลาก อวนรุน อวนลากคู่เติบโตขึ้นทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย โดยเฉพาะเรืออวนลาก อวนรุน เรือคราดหอยที่มีมากกว่า 1,500 ลำ

จากข้อมูลของสำนักงานประมง จ.ตราด นายไชยันต์ การสมเนตร ประมง จ.ตราด เปิดข้อมูลว่าในอ่าวตราดมีเรือประมงกว่า 3,204 ลำ ที่ผิดกฎหมายมีกว่า 1,600 ลำ ประกอบด้วย อวนติดตา 623 ลำ อวนลอบปู 321 ลำ อวนเบ็ด 224 ลำ เรือประมงใหญ่ 317 ลำ อวนครอบ 39 ลำ อวนลากคู่ 26 ลำ ซึ่งเรือประมงจำนวนมากระดับนี้ทำให้สัตว์น้ำวัยก่อนไม่สามารถเติบโตได้เต็มที่ก็ถูกจับแล้ว ส่งผลทางด้านเศรษฐกิจมาก นอกจากนี้ การประกาศพื้นที่อนุรักษ์ 3,000 เมตรจากฝั่ง ส่วนใหญ่จะถูกละเมิดจากเรืออวนลาก เรืออวนรุน ที่ผิดกฎหมาย ลักลอบเข้ามาทำประมงในพื้นที่อนุรักษ์จนเกิดความขัดแย้งระหว่างชาวประมงพื้นบ้านเมื่อเครื่องมือประมงเสียหาย
วันนี้ โลมา ที่พบเห็นได้บ่อยๆ มีสภาพแบบนี้
จะเห็นได้ว่าทั้งเครื่องมือประมงที่ถูกต้อง และไม่ถูกต้องที่ทำมาหากินอยู่ในอ่าวตราดเต็มพื้นที่ 3,000 เมตร และเลย 3,000 เมตรไปทั้งหมด สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการอยู่อาศัย การทำกินของโลมาอิรวดีในอ่าวตราดมาก เพราะแทบไม่มีที่ว่างให้สัตว์ทะเลหายากเหล่านี้ดำรงชีวิตอยู่ได้ตลอดอายุขัย และสืบพันธุ์ของสัตว์ทะเลเหล่านี้

นางสาชลาธิป จันทร์ชมพู นักวิชาการประมง ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งทะเลอ่าวไทย จ.ระยอง กล่าวว่า โลมาและวาฬ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คลอดลูกหางจะออกก่อน ตั้งท้อง 10-14 เดือน มีลูกครั้งละ 1 ตัว

จากการสำรวจพบว่าโลมาจะเลี้ยงลูกปลายปี-ต้นปี โดยโลมาโตเต็มที่จะมีความยาวไม่เกิน 3 เมตร วาฬเกิน 3 เมตร และมีฟันซีรองสำหรับโลมาในอ่าวไทยจะมี 28 ชนิด (รวมทั้งวาฬและพะยูน) มีประเภท โลมาปากขวดโลมาหัวโหนก โลมาอิรวดี พบมากในอ่าวไทย มีมากที่สุดใน จ.ตราด และโลมาหัวบาตร

“จากงานวิจัยพบว่า โลมาในอ่าวตราดที่ได้วิเคราะห์จากภาพถ่ายทางอากาศ พบจำนวนโลมากว่า 100 ตัว ลูกประมาณ 500 ตัว โดยพ่อแม่พันธุ์น่าจะมีมากกว่านี้ แต่โลมาอิรวดีนิสัยจะขี้อายส่วนใหญ่จะพบหากินอยู่ใกล้เรือประมงทำให้โลมาติดเครื่องมือประมงบ่อยครั้ง”

สาเหตุของการเสียชีวิตของโลมา คือ ติดเครื่องมือประมงทุกประเภท

นายกฤตภาส ศรีแสงขจร ประธานเครือข่ายช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลโลมาที่เสียชีวิตเป็นเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมาพบว่า มีโลมาเสียชีวิตลอยมาติดชายฝั่งใน ต.แหลมกลัด อ.เมือง และ ต.ไม้รูด เลยไปถึง ต.หาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด พบว่า มีโลมาเสียชีวิตมากกว่า 180 ตัว ขณะที่ปี 2557 ยังไม่ถึง 2 เดือน เสียชีวิตไปแล้วกว่า 8 ตัว ส่วนโลมาที่เสียชีวิตและยังไม่สามารถพบซากได้มีอีกจำนวนหนึ่ง นั่นหมายความว่า 3 ปีที่ผ่านมาโลมาอิรวดีตราดเสียชีวิตมากกว่า 200 ตัว

สำหรับสาเหตุการเสียชีวิต จากการชันสูตรโลมาที่เสียชีวิตที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่โลมาจะเสียชีวิตจากเครื่องมือประมง 90% ซึ่งแบ่งประเภทได้ ดังนี้ คือ ประมงอวนลากคู่ อวนลอยปลาอินทรีย์ สายอวนหอยจุกพาหรมณ์ เชือกผูกธงหรือทุ่นบอกตำแหน่งเครื่องมือ และอวนลอยปู อวนลอยกุ้ง นอกจากนี้ ยังมีข่าวการล่าโลมาเพื่อนำเนื้อไปขายและบริโภค รวมทั้งนำไปขายในสวนสัตว์ที่มีการแสดงโชว์โลมา

จากสภาพปัญหาต่างๆ ที่ทำให้โลมาอิรวดีเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทำให้น่าเป็นห่วง จำนวนประชากรโลมาอิรวดีในอ่าวตราดจะลดจำนวนลงมาก และอาจจะหายไปเหมือนในอดีต ทำให้หลายฝ่ายเข้ามาหาทางปกป้องโลมาอิรวดีเหล่านี้ ทั้งจากนักวิชาการมาศึกษาและหาทางช่วยชีวิตโลมาโดยการร่วมมือกับผู้ประกอบอาชีพประมง เพื่อให้มีจิตสำนึกในการดูแลโลมาให้มีชีวิตรอดมากที่สุด รวมทั้งเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย

แต่สิ่งที่ นายกฤตภาส  ได้เสนอแนวทางไว้หลายข้อและน่าสนใจก็คือ จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาร่วมมือกันแก้ไขอย่างเป็นระบบ พร้อมสร้างเครือข่ายชาวประมงเพื่อเฝ้าระวัง แค่กลุ่มอนุรักษ์โลมาไม้รูด และแหลมกลัด 2 กลุ่มคงไม่เพียงพอ และต้องให้ความรู้และการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง ไม่ใช่พอเกิดเรื่องทีก็มาประชุม ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไร สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การประกาศเขตคุ้มครองหรือพื้นที่อนุรักษ์โลมา จ.ตราดขึ้น สุดท้ายก็คือ การบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด
หากยังไม่ช่วยกันอนุรักษ์ ปกป้องรักษา อีกไม่นาน โลมา อาจไม่มีในทะเลตราด
“เราได้มีการพูดคุยกันมานาน 2-3 เดือนแล้วผมยังไม่เห็นว่ามีการดำเนินการใด ๆ จากส่วนราชการที่จะดำเนินการป้องกันไม่ให้โลมาเสียชีวิตเพราะหลังจากมีการประชุมหารือ โลมาอิรวดีก็ยังเสียชีวิตมาอย่างต่อเนื่อง”

นับเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงสำหรับชีวิตโลมาอิรวดีฝูงสุดท้ายของอ่าวตราด และของประเทศไทย เพราะหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป เพียงปีเดียวโลมาอิรวดีจะหมดไปจากอ่าวตราด อาจจะเสียชีวิตหรืออาจจะหลบหนีไปอยู่อาศัย หากินในทะเลที่ปลอดภัยมากกว่านี้ เครื่องมือประมงพื้นบ้านที่มีอยู่เต็มพื้นที่ 1-2,000 เมตร ห่างห่างจากฝั่งเป็นตัวการสำคัญหลักสำคัญก็คือ จะแก้ไขปัญหาและป้องกันไม่ให้โลมาอิรวดีหยุดการเสียชีวิตให้ได้อย่างไร

ผมไม่ต้องการเห็นการนับศพโลมาอยู่ทุกวัน แต่ต้องการเห็นทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกันแก้ไขและหาทางป้องกันมากกว่า ส่วนราชการไม่ควรจะเกี่ยงกันหรือโยนความรับผิดชอบ ต้องหันมาช่วยกัน

ขณะนี้มีนักวิชาการด้านการอนุรักษ์โลมาจากมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เดินทางมาสำรวจและวิจัยวงจรชีวิตของโลมาในอ่าวตราด ซึ่งจะศึกษาด้านอัตราการเกิด อัตราการตาย สาเหตุการเสียชีวิต และการอยู่รอดของโลมาอิรวดี ว่าจะทำอย่างไร รวมถึงศึกษาการอยู่ร่วมกันกับประมงพื้นบ้าน ว่าจะทำได้หรือไม่
“ซึ่งเรื่องนี้ควรเป็นเรื่องของบ้านเรามากมากกว่าไม่ใช้ให้ต่างชาติมาทำการวิจัยและสนใจในการสูญเสีย แล้วภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ จ.ตราดทำอะไรอยู่”

ส่วนวันนี้การรักษาให้โลมายังอยู่คู่ทะเลตราด จะออกมาแบบไหน คงไม่น่าจะใช่เรื่องของใครคนหนึ่งคนใด หรือ กลุ่มองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่สุกคนต้องช่วยกัน ต้องตระหนักร่วมรับผิดชอบต่อเพื่อนร่วมโลกอย่างโลมา ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น