xs
xsm
sm
md
lg

“สัญญาทราย” อ่าวไทย-อันดามัน ผนึกกำลังปกป้องแหล่งอาหารโลกท้องทะเลภาคใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “เดินด้วยรัก พิทักษ์สองฝั่งทะเล” ปฏิบัติภารกิจเดินพิชิต 220 กม.สำเร็จ ด้วยสะพานมนุษย์เชื่อมสองฝั่งทะเลอันดามัน-อ่าวไทย ให้เป็นหนึ่งเดียว ต้านโครงการยักษ์ แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล 3 จังหวัดพื้นที่วิกฤต ร่วมทำสัญญาทราย สัญญาใจ ผนึกกำลังร่วมกันปกป้องแหล่งผลิตอาหารโลก แหล่งท่องเที่ยวที่มีค่า เดินหน้าขับเคลื่อนให้สะเทือนเป็นวาระภาคใต้

วันนี้ (29 ต.ค.) ที่บริเวณชายหาดบ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา กลุ่ม “เดินด้วยรัก พิทักษ์สองฝั่งทะเล” ล้อมวงคุยกับกลุ่มพี่น้องชาวจะนะในพื้นที่ หลังจากเดินเท้ามาจาก จ.สตูล จนถึง อ.จะนะ จ.สงขลา เมื่อวานที่ผ่านมา (28 ต.ค.) ด้วยระยะทาง 220 กม. ตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค.โดยใช้เวลา 7 วัน เพื่อแสดงสัญลักษณ์การต่อต้านโครงการเมกะโปรเจกต์ แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล และในวันนี้ นอกจากจะล้อมวงคุยกันเพื่อหารือถึงแนวทางการเคลื่อนไหวครั้งต่อไปแล้ว ยังมีอีกหนึ่งกิจกรรมที่ร่วมกันทำทั้งสองฝั่งทะเลคือ “สัญญาทราย” โดยได้มีตัวแทนจากพื้นที่ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆ ของรัฐบาล เช่น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ อ.หัวไทร อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช โครงการใหญ่ แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ที่พี่น้อง จ.สตูล และสงขลา จะได้รับผลกระทบอย่างมหาศาล

 
ดังนั้น ตัวแทนจากทั้ง 3 จังหวัด ได้นำทรายจากพื้นที่ของตนเองใส่ขวดโหล แล้วมาเทกองรวมกัน แล้วหล่อหลอมให้เป็นเนื้อเดียวกันเพื่อเป็นสัญญาใจกันระหว่างสองฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย เพื่อที่จะร่วมกันปกป้องทะเล และทรัพยากรธรรมชาติ จากนั้นก็ได้แบ่งทรายออกเป็น 3 กอง เหมือนเดิม เพื่อให้แต่ละจังหวัดนำทรายใส่ขวดโหลกลับไปยังพื้นที่ของตน โดยสัญญากันว่า หากพื้นที่ใดมีความเดือดร้อนถูกรุกล้ำท้องทะเล ก็จะออกมาช่วยกันปกป้อง สำหรับวงเสวนาได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลของตัวแทนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนจาก จ.นครศรีธรรมราช จ.สงขลา และ จ.สตูล

 
นายสุพร โต๊ะเส็น นายกสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวทาศาลา กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เท่าที่ทราบมามีถึง 22 โครงการที่จะไปลงที่นั่น แต่ในส่วนของพื้นที่ อ.ท่าศาลา เรื่องหลักๆ เลยตอนนี้ก็มีโครงการของบริษัทเชฟรอน และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน คือ ถูกกำหนดไว้ 2 โรงที่จะขึ้นพร้อมกัน คือ ตั้งที่ อ.ท่าศาลา และ อ.หัวไทร ขณะนี้ภาคประชาชนกำลังติดตาม และโต้ตอบด้านเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาทำการศึกษาโครงการเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ด้านชาวประมงเองก็พยายามที่จะเก็บข้อมูลเพื่อให้คนของรัฐได้รู้ถึงวิถีชีวิตของชาวประมง สิ่งที่คนท่าศาลาลุกขึ้นมาปกป้องตัวเอง และอยากจะประกาศให้คนนอกพื้นที่ได้รู้ว่า ทะเลอ่าวไทยที่ท่าศาลายังคงสมบูรณ์

นายสุพร กล่าวต่อว่า อีกเรื่องที่เป็นกังวลคือ บ.เชฟรอน กำลังสำรวจพื้นที่ปากพนัง หัวไทร เพื่อทำการขุดเจาะน้ำมันบนฝั่ง ตอนนี้ชาวหัวไทร และคนนครศรีธรรมราชไม่ได้กังกลแต่เพียงเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างเดียวแล้ว และขณะนี้คนของ บ.เชฟรอน ลงพื้นที่สำรวจเพื่อจะสร้างฐานอะไรสักอย่างที่ทางเราก็ยังไม่แน่ใจ เนื่องจากพบคนเหล่านี้ลงมาอยู่ในพื้นที่ประมาณ 1 เดือนแล้ว โดยที่คนในพื้นที่ไม่รู้เรื่อง

 
น.ส.วรรณิศา จันทร์หอม ตัวแทนจาก อ.จะนะ กล่าวว่า สิ่งที่น่าห่วงสำหรับที่ อ.จะนะ จ.สงขลา คือ การสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ซึ่งจะมาสร้างที่บ้านสวนกง อ.จะนะ และตอนนี้ที่จะนะ เริ่มมีการขุดลอกคลอกเพื่อรองรับอุตสาหกรรมแล้ว และโรงไฟฟ้าที่ตอนนี้มีถึง 2 โรง แล้ว ล่าสุด ตอนนี้มีการกว้านซื้อที่ดินเพื่อจะทำโรงไฟฟ้าแห่งที่ 3 เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล มีโครงการมอเตอร์เวย์ จะนะ-ด่านประกอบ และที่สิงหนครคือ พื้นที่เป้าหมายที่จะตั้งเป็นคลังน้ำมันกว่า 10,000 ไร่ ตอนนี้ทุกอย่างกำลังเคลื่อนไหว ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่กำลังเข้าพื้นที่เพื่อทำการสำรวจ จากบทเรียนการต่อสู้ที่ผ่านๆ มาทำให้รู้ว่า อ.จะนะ เราต้องมีข้อมูลพื้นที่ รวบรวมทำเป็นหนังสือ และต้องเรียนรู้จากพื้นที่อื่นๆ เพื่อที่จะสามารถนำไปบอกเล่าเรื่องราวของทะเล ทรัพยากรที่มีค่า ที่เป็นแหล่งผลิตอาหารของคนทั้งประเทศ

 
นายศักดิ์กมล แสงคารา ตัวแทนจากทะเลฝั่งอันดามัน ตรัง และกระบี่ กล่าวว่า คนกระบี่มีประสบการณ์จากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2507 ซึ่งมันเกิดขึ้นแล้ว พบว่าตอนนี้มีคนป่วยสารพัดโรค ซึ่งคงไม่ต้องบอกว่าเกิดจากอะไร ผู้ป่วยเองเป็นคนยืนยันได้ว่ามีผลมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน มาวันนี้จะมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 800 เมกะวัตต์ขึ้นอีก ซึ่งคนกระบี่เชื่อว่าหากโรงไฟฟ้าโรงนี้เกิดขึ้นได้ ก็ต้องมีโรงต่อๆ ไปเกิดขึ้นอีก และอีกหนึ่งเป้าหมายคือ จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ จ.ตรัง อีกหนึ่งโรง ที่ตั้งของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และตรัง ห่างกันเพียง 60 กม. ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงๆ ทะเลอันดามัน ตรัง-กระบี่ ต้องหายสาบสูญแน่นอน

 
ด้าน นายไกรวุฒิ ชูสกุล ตัวแทนจาก จ.สตูล จากกลุ่มเดินด้วยรัก พิทักษ์สองฝั่งทะเล กล่าวว่า สิ่งที่คนสตูล สงสัยคือ การทำ EIA ของโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา กับ ท่าเรือท่องเที่ยวปากบาราที่ผ่านมานั้น มันเสร็จไล่เลี่ยกัน จึงสงสัยว่าเป็นไปได้อาจจะมีการสวมสิทธิของทั้ง 2 โครงการ เพราะท่าเรือท่องเที่ยวปากบารา ก็ได้มีการขอเพิกถอนอุทยานไปด้วยนิดหน่อย ซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า จ.สตูล ทั้งจังหวัดเป็นพื้นที่เป้าหมายหลักในโครงการสะพานเศรษฐกิจ หากโครงการเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริงๆ จ.สตูล จะหายไปจากแผนที่ประเทศไทยแน่นอน

นายสมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล กล่าวสรุปจากวงเสวนาว่า ตอนนี้เราได้รับทราบปัญหาของแต่ละพื้นที่แล้ว อันดับแรกก็คือ ทุกคนต้องดูแลพื้นที่ของตนเองก่อนในเบื้องต้น ส่วนความเคลื่อนไหวการต่อต้านโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล เราจะกำหนดท่าทีกันอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม กิจกรรมการเดินเท้าเชื่อมสองฝั่งทะเลของพวกเราในครั้งนี้ อย่างน้อยเราก็ได้ให้ข้อมูลแก่คนในพื้นที่ตลอดเส้นทางที่จะมีการก่อสร้างโครงการต่างๆ หลังจากนี้คิดว่าเราจะทำเรื่องนี้ให้เป็นวาระของภาคใต้ เพื่อจะขับเคลื่อนครั้งใหญ่กันอีกครั้งหนึ่งแน่นอน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น