xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพกับนโยบายดับไฟใต้ใหม่ จะได้ยิน “เราเดินมาถูกทางแล้ว” ครั้งสุดท้ายไหม?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...เมือง  ไม้ขม 
 
ในฐานะของคนที่เกิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงดีใจ และมีความหวังทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เกิดขั้นในประเทศ เช่น การมีรัฐบาลใหม่ มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ มี ผบ.ทบ.ใหม่ มี ผบ.ตร.ใหม่ รวมทั้งการมีแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่
 
เพราะการที่ได้ผู้นำคนใหม่หมายถึงการเกิดขึ้นของนโยบายใหม่ๆ ที่อาจจะดีกว่าที่คนเดิมได้ทำเอาไว้ รวมทั้งความสด ความฟิตของผู้ที่มาใหม่ย่อมมีโอกาสที่จะสร้างความก้าวหน้าให้แก่องค์กร ซึ่งหากองค์กรมีความเปลี่ยนแปลงที่ดี ย่อมส่งผลประโยชน์ถึงประเทศชาติ และประชาชนโดยตรง
 
ดังนั้น จึงมีความดีใจ และมีความหวังเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็คงจะไม่ต่างจากคนในพื้นที่เมื่อได้ยิน “คสช.” หรือ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เป็นหัวหน้าคณะ ประกาศที่ใช้นโยบายใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
อันเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาการแบ่งแยกดินแดน ปัญหาการก่อการร้ายที่เรื้อรังมายาวนานกว่า 100 ปี และเกิดวิกฤตขึ้นระลอกใหม่ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา จนถึงขณะนี้นับได้ 1 ทศวรรษแล้ว แต่ยังมองไม่เห็นท่าที่ว่าจะเกิดความสันติสุขขึ้นในแผ่นดินปลายด้ามขวานแห่งนี้เมื่อไหร่
 
สำหรับโครงสร้างใหม่ที่จะให้ “อำนาจกองทัพอย่างเบ็ดเสร็จ” ในการดับไฟใต้ครั้งใหม่ รวมถึงจะให้อำนาจแก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช.ในการกำหนดนโยบายและถ่ายเทอำนาจแก่ “แม่ทัพภาคที่ 4” ในฐานะ “ผ.อ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ในการสั่งการเพื่อปฏิบัติการในพื้นที่แต่เพียงผู้เดียว
 
ส่วน “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือ “ศอ.บต.”  ได้ถูกย่อยสลายให้เป็น “ศอ.บต.ส่วนหน้า” หรือ “ศอ.บต.ส่วนแยก” เพื่อขึ้นตรงต่อ  ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
 
สำหรับตัว “เลขาธิการ ศอ.บต.” ซึ่งเป็นข้าราชการ “ระดับ 11” เทียบเท่ากับปลัดกระทรวงนั้น ต้องรับผิดชอบแผนงานอยู่ในที่ตั้ง “ส่วนกลาง” มากกว่าที่จะต้องมานั่งปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้เหมือนอย่างในอดีต
 
มีกระแสถามมาจากคนในพื้นที่จำนวนมากว่า โครงสร้างนี้เป็นการลดบทบาท และลดหน้าที่ของ ศอ.บต.ลงหรือไม่ เป็นการบอนไซ ศอ.บต.ที่ถูกมองว่า เป็นองค์การทางการเมืองเพื่อสร้างความเข็มแข็งให้แก่พรรคการหนึ่งพรรคการใดหรือไม่
 
เช่นเดียวกับที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคที่มีส่วนสำคัญในการฟื้นคืนชีพ ศอ.บต.ให้มีอำนาจตามกฎหมาย หรือตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หรือที่มักเรียกกันจนติดปากว่า พ.ร.บ.ศอ.บต.ที่เพิ่งประกาศใช้มาได้เพียง 4 ปี ซึ่งเขาได้ส่งเสียงถามไปยัง คสช.ว่า บทบาทของ ศอ.บต.อยู่ที่ตรงไหนในโครงสร้างใหม่ เพราะมองเห็นถึงความไม่ชัดเจน
 
และเช่นเดียวกับ ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้ออกมาวิพากษ์ว่า โครงสร้างใหม่ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของกองทัพ เป็นเช่นเดียวกับโครงสร้างสมัยเมื่อครั้งการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในอดีต
 
ในขณะที่กองทัพเองได้พยายามที่จะสื่อแก่คนทั้งประเทศ และสังคมโลก เพื่อให้เข้าใจถึงการปรับโครงสร้างในการแก้ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เพราะต้องการให้เกิดเอกภาพ ต้องการให้สายการสั่งการสั้นลง และต้องการให้เกิดการบูรณาการองค์กรภาครัฐทั้ง 17 กระทรวงหลักกับอีก 66 หน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่
 
โดยข้อเท็จจริงกองทัพมีความเห็นเช่นนี้ และต้องการที่จะทำแบบนี้มาตั้งแต่วันที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ศอ.บต.แล้ว โดยต้องการให้เลขาธิการ ศอ.บต.ไปนั่งทำงานที่ส่วนกลาง และต้องการให้เกิด ศอ.บต.ส่วนหน้า หรือ ศอ.บต.ส่วนแยก ขึ้นมาในพื้นที่โดยให้ขึ้นตรงต่อ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
 
เพียงแต่ที่ผ่านๆ มายังทำไม่สำเร็จ เนื่องจากมีการคัดค้านจากนักการเมือง และภาคประชาชนจำนวนมาก รวมทั้งภาวะที่ประเทศยังมีรัฐบาลพลเรือนนั่งบริหารงานอยู่ โครงสร้างที่จะให้ ศอ.บต. มีการตั้งหน่วยงานส่วนหน้า หรือส่วนแยกอะไรทำนองนี้จึงไม่เกิดขึ้น
 
แต่สุดท้ายกลับมีการเชื่อมโยงว่า สาเหตุที่ทำให้การดับไฟใต้ไม่ได้ผล หรือเป็นไปด้วยความล่าช้ามาจากความไม่มีเอกภาพในการปฏิบัติการ เนื่องจากมีการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงโดยกองทัพ และมีการใช้ พ.ร.บ.ศอ.บต.โดยพลเรือน
 
เหมือนมีพระเอก 2 คนทำงานทับซ้อนกันอยู่ในพื้นที่ โดยต่างฝายต่างมีหน้าที่ มีอำนาจ มีงบประมาณ และถึงแม้จะขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีคนเดียวกัน แต่การปฏิบัติงานในพื้นที่ก็ยังถูกมอง หรือถูกรายงานสู่เบื้องบนเสมอๆ ว่า มีการขบเหลี่ยมกันเกิดขึ้น จนไม่สามารถที่จะบูรณาการกันได้ และสุดท้ายคือ การไร้ซึ่งเอกภาพของการแก้ปัญหา
 
บ่อยครั้งที่มีการมองเลยเถิดถึงขั้นที่เลขาธิการ ศอ.บต.เป็นข้าราชการระดับ 11 แต่แม่ทัพเป็นเพียงข้าราชการระดับ 9 จึงทำให้การปฏิบัติงานต่างๆ ในพื้นที่มีการไว้เหลี่ยมไว้เชิงกันมาโดยตลอด ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงที่ปรากฏให้เห็นกันนั้น ทั้งแม่ทัพ ทั้งเลขาธิการ ศอ.บต.ต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยในการร่วมงานกันมาโดยตลอด
 
แต่ก็เอาเถอะ! เมื่อวันนี้เป็นวันที่แตกต่างกับวันวาน อำนาจการบริหารประเทศอยู่ในมือของ คสช.อย่างเด็ดขาด สิ่งที่กองทัพถือว่าดีคือ การทำให้สายงานการสั่งการสั้นลง และง่ายขึ้น เมื่อเห็นว่า ศอ.บต.อาจจะเป็นอุปสรรคของการดับไฟใต้ คนไทย หรือโดยเฉพาะคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จำเป็นที่จะต้องรับฟัง และต้องยอมรับนโยบายที่มาจากกองทัพในเวลานี้
 
อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้คนไทยทุกคนควรต้องเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ว่า กองทัพมีความจริงใจในการที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในวันนี้ทุกภาคส่วนต้องให้กองทัพเป็นผู้กำหนดแนวทางในการสะสางปัญหา
 
ทุกฝ่ายต้องอย่าเพิ่งติเรือทั้งโกลน ควรรอให้กองทัพทำนโยบายดับไฟใต้ให้เรียบร้อย รวมไปถึงการที่จะมีนโยบายพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างที่จะยังคงมีต่อไปอย่างไร เพื่อให้เป็นไปตามหลักการและโมเดลของกองทัพที่จะไม่ให้ประโยชน์เกิดแต่เฉพาะกับขบวนการบีอาร์เอ็นฯ หรือพูโลเท่านั้น
 
แต่ต้องให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนอย่างที่รับรู้ได้ด้วย โดยการพูดคุยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะต้องไม่มีคำว่า “แบ่งแยกดินแดน” หรือ “เขตปกครองพิเศษ” ให้แสลงใจกันอีกต่อไป
 
แม้ว่าบนความเงียบของประชาชนต่อการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการแก้ปัญหาไฟใต้ จะทำให้ดูเหมือนทุกฝ่ายเห็นด้วยต่อแนวทางที่จะนำมาใช้เพื่อดับไฟใต้ของกองทัพ แต่โดยข้อเท็จจริงบนความเงียบสงบนั้น อาจจะมีก่อตัวของคลื่นใต้น้ำแล้วด้วยก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่กองทัพน่าจะมีแผนในการรับมืออยู่แล้ว
 
โดยหลายฝ่ายเชื่อว่าในห้วงของ “เดือนรอมฎอน” ที่กำลังเริ่มต้นขึ้นเวลานี้จะเป็นคำตอบที่ชัดเจน?!
 
อย่างไรเสีย คนไทยก็อาจจะยังหวังอยู่แบบเงียบๆ ว่า นโยบายของกองทัพในครั้งนี้จะทำให้ไฟใต้ลดระดับความร้อนแรงลง และหวังที่จะได้ยินคำพูดว่า “เราเดินมาถูกทางแล้ว” เป็นครั้งสุดท้ายเสียที?!?!
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น